การเงิน

นักวิเคราะห์ชี้ รัฐบาลแทรกแซงแบงก์ชาติ เสี่ยงทำต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ทุนไหลออก เงินบาทอ่อนลง

6 มิ.ย. 67
นักวิเคราะห์ชี้ รัฐบาลแทรกแซงแบงก์ชาติ เสี่ยงทำต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ทุนไหลออก เงินบาทอ่อนลง

‘บลูมเบิร์ก’ ตีข่าว นายกฯ เศรษฐา เล็งดึงผู้ใกล้ชิดอย่าง ‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง’ และ ‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ ขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระเพื่อเพิ่มอำนาจในการควบคุมแบงก์ชาติ ซึ่งเสี่ยงทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศลดลงได้

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า รัฐบาลกำลังมองหาช่องทางเพิ่มอำนาจในการควบคุมดูแลธนาคารแห่งประเทศไทย และหนึ่งในวิธีนั้น ก็คือ การแต่งตั้งคนสนิท หรือคนที่ไว้ใจเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีนาย ปรเมธี วิมลศิริ ที่กำลังจะหมดวาระในเดือนกันยายนดำรงตำแหน่งอยู่ 

โดยปัจจุบัน คณะกรรมการ ธปท. ประกอบด้วยสมาชิก 12 คน ได้แก่ ประธานกรรมการ รองประธาน(ผู้ว่าการ ธปท.) และรองผู้ว่าการสามคน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกห้าคน เป็นกรรมการ

คณะกรรมการธปท. มีความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินเพราะมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลกิจการและการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจในการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของผู้ว่าการธปท. และมีอำนาจในการคัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีหน้าที่กำหนดทิศทางของนโยบายการเงินของประเทศ เช่น การปรับดอกเบี้ยนโยบาย

ดังนั้น หากรัฐบาลผลักดันให้คนของตัวเองเข้าไปนั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการธปท. ได้ รัฐบาลก็จะมีอำนาจมากขึ้นในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงการดำเนินนโยบายทางการเงิน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลและแบงก์ชาติมีความเห็นไปในทิศทางที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ยังรายงานอีกว่า ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะผลักดันให้ใครเข้าไปนั่งตำแหน่งดังกล่าว แต่ 2 ชื่อที่ปรากฎในรายชื่อ คือ นาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษาคนปัจจุบันของนายกฯ เศรษฐา และนาย ศุภวุฒิ สายเชื้อ อดีตที่ปรึกษาของพรรคเพื่อไทย ที่ขึ้นมาเป็นตัวเต็งในการชิงเก้าอี้ที่กำลังจะว่างในเดือนกันยายนนี้

ขณะที่นาย ปรเมธี วิมลศิริ ประธานบอร์ดธปท. คนปัจจุบัน แต่งตั้งโดยคณะรัฐบาลทหารของนายประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้เป็นผู้คัดเลือก นาย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นมาดำรงตำแหน่งด้วย โดยหลังจากนาย เศรษฐพุฒิ หมดวาระการทำงานในเดือนกันยายนปี 2025 คาดว่ารัฐบาลก็จะมีการผลักดันให้คนใกล้ชิดขึ้นมาดำรงตำแหน่งเช่นกัน เพราะรัฐมนตรีกระทรวงการคลังมีอำนาจโดยตรงในการจัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

หลังจากมีข่าวการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติออกมา เงินบาทไทยอ่อนค่าลง 0.3% มาอยู่ที่ 36.715 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐในเวลา 17.49 น. ในวันที่ 5 มิถุนายน ขณะที่หุ้นปรับตัวขึ้น 0.5%

นักวิเคราะห์มองรัฐบาลไม่ควรแทรกแซง 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการตั้งรัฐบาล รัฐบาลพรรคเพื่อไทยนำโดยนายเศรษฐาก็มีความเห็นที่ขัดแย้งกับธนาคารแห่งประเทศไทยมาโดยตลอดในหลายประเด็น ทั้งประเด็นนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่แบงก์ชาติมองว่า เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ไม่คุ้มกับภาวะหนี้ และประเด็นการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะทิศทางของดอกเบี้ยนโยบาย ที่รัฐบาลต้องการให้แบงก์ชาติปรับลดลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่แบงก์ชาติมองว่า ต้องใช้นโยบายการคลังในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมากกว่า

อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลเพื่อไทย หรือรัฐบาลที่มีความเกี่ยวข้องกับครอบครัวชินวัตรมีปัญหากับแบงก์ชาติ เพราะในปี 2001 ที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยมีการปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาแล้วเพราะรัฐบาลและแบงก์ชาติมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย และในปี 2013 นายกิตติรัตน์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรมว. คลัง ยังเคยได้ออกมาออกสื่อกดดันให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ มองว่า หากรัฐบาลเพื่อไทยตัดสินใจแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติจริง นักลงทุนต่างชาติ นักธุรกิจ และผู้ร่วมตลาด (market participants) จะสูญเสียความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเงินของประเทศไทย และอาจทำให้มีการไหลออกของเงินทุนอีกได้ เพราะมองว่าแบงก์ชาติต้องมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินที่เห็นสมควรจากข้อมูล

Tamara Mast Henderson นักวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียของบลูมเบิร์ก กล่าวว่า การที่รัฐบาลผลักดันให้คนของตัวเองเข้าไปเป็นประธานบอร์ดของธปท. อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายของนักลงทุน ที่ปัจจุบันกังวลกันอยู่แล้วว่ารัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงกับการดำเนินนโยบายการเงินมากเกินไป โดยการบังคับให้แบงก์ชาติปรับเป้าเงินเฟ้อให้สูงขึ้นจาก 1-3% และปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่า 7% แล้วจากการที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และมีการไหลออกของเงินในตลาดเงินและตลาดทุน โดยตั้งแต่ต้นปี กองทุนระดับโลกได้ถอนเงินออกจากหุ้นและหุ้นกู้ของไทยรวมแล้วมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 109,608 ล้านบาท และถ้าหากรัฐบาลแทรกแซงแบงก์ชาติด้วยมาตรการใดมาตรการหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเป้าเงินเฟ้อหรือลดดอกเบี้ย เงินทุนก็น่าจะไหลออกเพิ่ม และสถานการณ์นี้ก็จะเลวร้ายลงไปอีก 










ที่มา: Bloomberg

advertisement

SPOTLIGHT