การเงิน

ธปท.คาด Virtual Bank เริ่มเปิดดำเนินการภายในปี 2568

12 ม.ค. 66
ธปท.คาด Virtual Bank เริ่มเปิดดำเนินการภายในปี 2568

ธปท.คาด Virtual Bank เริ่มเปิดดำเนินการภายในปี 2568

ตั้งเป้าให้ใบอนุญาตเพียง 3 ราย จากผู้สนใจ 10 ราย

         ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) โดยให้ Virtual Bank สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ แต่จะต้องไม่มีสาขา/ATM/CDM ของตนเอง 

        โดยธปท.มีเป้าหมายให้ Virtual Bank ในไทย มีบริการทางการเงินที่ครบวงจรเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเดียงพอและ เหมาะสม และผู้ใช้บริการจะได้รับความสะวด รวดเร็ว ใช้ง่าย ปลอดภัย และตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไปได้ และสถาบันการเงินมีการแข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงิน

        อย่างไรก็ตาม​ ธปท.ไม่อยากเห็น Virtual Bank ในไทย ประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน จนสร้างความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจและผู้ฝากเงิน การกระตุ้นการแข่งขันที่ไม่เหมาะสม จนกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น ใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อแย่งลูกค้า หรือปล่อยสินเชื่อที่กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัว และการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือการใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เหมาะสม เช่น กำหนดเงื่อนไขผูกมัดคู่ค้าทางธุรกิจให้ใช้บริการของ Virtual Bank ที่เกี่ยวข้อง

artboard1copy2

สรุปหลักเกณฑ์การจัดตั้งและกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)

  1. มีโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ Green Line อย่างยั่งยืน ขยายฐานลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ และบริหารรายได้และต้นทุนได้อย่างยั่งยืน
  2. ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก (ไม่มีสาขา/ATM/CDM ของตนเอง) แต่ให้บริการรับฝาก/ ถอนเงินสด ผ่านตัวแทนทางการเงินหรือ ATM ของผู้ให้บริการอื่นได้
  3. ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็นอย่างน้อย 10,000 ล้านบาท ภายใน 3 - 5 ปีก่อนที่จะออกจากช่วงดำเนินการภายใต้เงื่อนไข (phasing : 3 - 5 ปี)
  4. ให้บริการทางการเงินได้เต็มรูปแบบ เน้นรายย่อยและ SMEs
  5. ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนและมีสำนักงานใหญ่ในไทย
  6. มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่สามารถสนับสนุนให้ Virtual Bank ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
  7. ความต่อเนื่องของการให้บริการ หากระบบขัดข้องไม่เกิน 8 ชม./ปี
  8. แก้ไขระบบขัดข้อง ภายใน 2 ชม./ครั้ง
  9. เป็นสถาบันการเงิน non-bank หรือกิจการร่วมค้า โดยธปท.อาจผ่อนผันสัดส่วนการถือหุ้นเป็นรายกรณี หากผู้ถือหุ้นมีคุณสมบัติเหมาะสมและสามารถสนับสนุนธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดยต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 25%  และสามารถผ่อนผันได้ไม่เกิน 49%

        อย่างไรก็ตาม ผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank จะต้องใช้กรอบการกำกับดูแลเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ตามระดับความเสี่ยงและให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล วัฒนธรรมด้านความเสี่ยง (risk culture) และความต่อเนื่องในการให้บริการของระบบ IT ประสิทธิภาพในการดูแลลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล และความเหมาะสมของการใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอก ให้การดำเนินกิจการในช่วงแรกเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด (phasing) เพื่อให้การดำเนินกิจการเป็นไปอย่างมั่นคงและไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน

        พร้อมกับต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก(DPA) เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองเงินฝากเหมือนกัน และจัดทำแผนรองรับกรณีเลิกกิจการ (exit plan) ที่ธปท.เห็นชอบ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่น และไม่กระทบต่อลูกค้าและผู้ฝากเงิน

        รวมถึง มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล สามารถออกแบบการให้บริการที่สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ลดต้นทุนการดำเนินงาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างรวดเร็ว

 banking

ใบอนุญาต Virtual Bank 3 ราย จากผู้สนใจ 10 ราย

         นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า “ การกำกับดูแลใช้กรอบเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ จะดูแลให้ความสำคัญเป็นพิเศษกว่าธนาคารพาณิชย์ คือ ความมั่นคงและเสถียรในระบบงานไอที ธปท.มีความคาดหวังระยะเวลาที่ระบบขัดข้องไม่ควรเกิน 8 ชม.ต่อปี และระยะเวลาการแก้ไขระบบต่อครั้ง สามารถทำได้ภายใน 2 ชม.การดูแลผู้บริโภค ทั้งการให้ข้อมูลครบถ้วน ช่องทางออนไลน์ เปิดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน เมื่อระบบสะดุดต้องมีแผนระบบกระตุกชะงัก ผู้บริการต้องใช้ช่องทางอื่นได้สะดวก”

        ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวอีกว่า “ ขณะเท่าที่ทราบมีผู้แสคงความสนใจประมาณ 10 ราย ระยะเริ่มต้นแบงก์ชาติจะเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณาให้ใบอนุญาตต่อรมว.คลัง ไม่เกิน 3 ราย เพราะต้องการให้เกิดการแข่งขัน” 

 

คาดให้บริการ Virtual Bank ภายในปี 2568

       นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. เปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank ตั้งแต่ 12 ม.ค.- 12 ก.พ.2566 และคาดว่าจะสามารถประกาศหลักเกณฑ์ได้ภายในปลายไตรมาส 1/2566 และเปิดรับคำขอจัดตั้ง Virtual Bank เป็นระยะเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นจะใช้เวลาในการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม เป็นระยะเวลา 9 เดือน โดยผ่านการพิจารณาจากธปท.ระยะเวลา 6 เดือน และกระทรวงการคลังอีก 3 เดือน 

      ทั้งนี้ คาดว่า จะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้จัดตั้ง Virtual Bank ประมาณไตรมาส 2/2566 หลังจากนั้นผู้ที่ได้รับความเห็นชอบมีระยะเวลาเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการ ระยะเวลา 1 ปี ทำให้คาดว่า Virtual Bank จะสามารถพร้อมให้บริการได้ประมาณไตรมาส 2/2568

       ต่อจากนี้ คงต้องมาจับตากันว่า 10 รายที่สนใจ เป็นผู้ประกอบการรายใดกันบ้าง หรือจะมีเพิ่มเข้ามามากกว่า 10 ราย และใครจะจับมือกับใครอีกบ้าง เพื่อรุกตลาด Virtual Bank ที่ถือเป็นธนาคารแห่งอนาคตยุคดิจิทัลกันเลยทีเดียว

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT