Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
คนไทยรักปลาแซลมอน  นอร์เวย์ส่งอาหารทะเล มาไทยเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

คนไทยรักปลาแซลมอน นอร์เวย์ส่งอาหารทะเล มาไทยเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน

27 พ.ค. 68
17:00 น.
แชร์

ปี 2025 นอร์เวย์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดในโลก ส่งออกอาหารทะเลพรีเมียมกว่า 2.8 ล้านตันไปยังตลาดกว่า 150 ประเทศทั่วโลก หากเทียบเป็นมื้ออาหารแล้ว ก็ตกวันละ 38 ล้านมื้อเลยทีเดียว และคิดเป็นมูลค่ากว่า 560,000 ล้านบาท (175,000 ล้านโครนนอร์เวย์) ซึ่งเป็นตัวเลขสถิติใหม่

ไทย ตลาดอันดับ1 ในSEA

ประเทศไทยเป็นตลาดอันดับหนึ่งของอาหารทะเลจากนอร์เวย์ในภูมิภาคนี้ โดยในปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 13% แตะที่หนึ่งหมื่นล้านบาท (3,060 ล้านโครนนอร์เวย์) และปริมาณเพิ่มขึ้น 8% คิดเป็น 42,500 ตัน โดยในจำนวนนี้ 91% เป็นปลาในตระกูลแซลมอนสด (ทั้งแซลมอนและฟยอร์ดเทราต์รวมกัน) ซึ่งอาหารทะเลมีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมดจากนอร์เวย์มายังประเทศไทย

ภายในงาน THAIFEX – Anuga Asia 2025 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 31 พฤษภาคม ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ผู้ส่งออกอาหารทะเลจากนอร์เวย์จำนวน 21 ราย ได้ร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารทะเลระดับพรีเมียมหลากหลายชนิด ณ Seafood from Norway Pavilion

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การค้าระหว่างไทยและนอร์เวย์ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่เพิ่งลงนามร่วมกันภายใต้กรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) โดยความตกลงนี้ช่วยลดอุปสรรคทางการค้า กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้า และลดภาษีนำเข้าอาหารทะเลจากนอร์เวย์ในช่วงหลายปีข้างหน้า ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าตลาดประเทศไทยจะเติบโตขึ้นถึง 16% ภายในปี 2573

นางสาวโอซฮิลด์ นัคเค่น ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) กล่าวถึงความนิยมบริโภคอาหารทะเลจากนอร์เวย์ในประเทศไทย

ว่า “ตลาดประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องสำหรับอาหารทะเลจากนอร์เวย์ แซลมอนครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 70% และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย ขณะที่ฟยอร์ดเทราต์ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน และนอร์วีเจียนซาบะก็เป็นเมนูที่พบได้บ่อยในร้านอาหารญี่ปุ่น ในประเทศไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นกว่า 5,700 แห่ง และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการบริโภคอาหารทะเลจากนอร์เวย์”

นัคเค่นกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ไทยนำเข้าปลาแซลมอนจากนอร์เวย์กว่า 19,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6,000 ล้านบาท ฟยอร์ดเทราต์จำนวน 8,000 ตัน มูลค่า 2,310 ล้านบาท (722 ล้านโครนนอร์เวย์) และนอร์วีเจียนซาบะจำนวน 11,500 ตัน มูลค่า 940 ล้านบาท (293 ล้านโครนนอร์เวย์)

การประมงยั่งยืนแบบนอรเวย์

นายคริสเตียน เครเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ชี้ว่า แม้จะมีความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ และความท้าทายในการผลิตแซลมอน แต่นอร์เวย์ก็ยังประสบความสำเร็จในการส่งออกอาหารทะเล

“ปี 2567 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการผลิตแซลมอนเป็นอย่างมาก รวมถึงความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม นอร์เวย์ยังสามารถส่งออกอาหารทะเลกว่า 60 สายพันธุ์ไปยังมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลของนอร์เวย์ก็เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในช่วงปี 2563 ถึง 2567 เพียงระยะเวลาห้าปี มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นราว 225,000 ล้านบาท (70,000 ล้านโครนนอร์เวย์) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของอาหารทะเลจากนอร์เวย์ในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี”

อีกหนึ่งความโดดเด่นของประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลอันดับหนึ่งแห่งนี้คือ การประมงยั่งยืน โอซฮิลด์ นัคเค่น อธิบายถึงแนวทางการทำประมงสไตล์นอร์เวย์ที่มีแบบแผนชัดเจน

"นอร์เวย์มีการจัดการการประมงที่เข้มงวด มีโควต้าที่ออกแบบมาตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ที่วิจัยจากกำหนดโควตาตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่นักวิจัย นักชีววิทยาทางทะเล ประเมินปริมาณปลา ให้คำแนะนำ จากนั้นรัฐบาลและนักการเมืองจึงตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้ทำการประมงได้มากเพียงใด"

นัคเค่นกล่าวว่า การให้ความสำคัญกับการประมงยั่งยืนนี้เองเป็นปัจจัยหนึ่งที่นอร์เวย์ไม่เข้าร่วมกับสหภาพยุโรป เนื่องจากนอร์เวย์อยากรักษาปริมาณปลาในประเทศให้ยั่งยืน และสหภาพยุโรปในความเห็ฯของนัคเค่น ดูเหมือนจะทำการประมงมากเกินไป

และแม้โชคดีที่นอร์เวย์จะมีธรรมชาติเอื้ออำนวย มีแนวชายฝั่งยาว มีฟยอร์ดยาวลึกหลายแห่ง มีการไหลเวียนของน้ำที่ดี มีน้ำสะอาดปราศจากมลพิษ แต่การทำการประมงและการเพราะเลี้ยงสัตว์น้ำก็ต้องได้รับการดูแลอย่างดี

"ถ้าคุณเลี้ยงปลาแซลมอนในฟาร์มและให้อาหารแบบเม็ด คุณต้องมั่นใจว่าปลากินอาหาร เพราะอาหารมีราคาสูง คุณไม่อยากให้มันสูญเปล่า แต่ถ้าอาหารตกลงไปที่ก้นบ่อ ก็ต้องตรวจสอบและดูแลให้แน่ใจว่าพื้นที่ใต้ฟาร์มยังคงอยู่ในสภาพดี

และเมื่อจบการผลิตในรอบหนึ่งแล้ว คุณต้องรออีกหลายเดือนเพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังว่าทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพปกติก่อนจะเริ่มรอบการผลิตใหม่ได้ ในแต่ละรอบมีขั้นตอนมากมายที่ต้องทำ แซลมอนต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปีในการเติบโต เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการผลิตอาหารที่ใช้เวลานานมาก"

นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ยังกล่าวถึงกิจกรรมที่เตรียมจัดขึ้นในอนาคต เพื่อเฉลิมฉลอง 120 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและนอร์เวย์ อาทิ แคมเปญ ‘Salmon Saturday เสาร์สุดฟิน ชวนกินแซลมอน’ ที่เชิญชวนให้ผู้บริโภคเลือกกินหรือทำเมนูแซลมอนในวันเสาร์ จัดร่วมกับร้านค้าและพาร์ทเนอร์ทั่วไทย, แคมเปญ ‘From Sea to Sky: 120 Years of Friendship จากท้องทะเลสู่น่านฟ้า 120 ปีแห่งมิตรภาพไทย–นอร์เวย์’ ร่วมกับการบินไทย และเทศกาล Seafood from Norway ซึ่งมุ่งสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารทะเลจากนอร์เวย์ในวงกว้าง ตลอดจนกิจกรรมอีกมากมายตลอดทั้งปี

แชร์
คนไทยรักปลาแซลมอน  นอร์เวย์ส่งอาหารทะเล มาไทยเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน