Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้ภาษีทรัมป์ทุบศก. ไทยทรุด ซึมยาว ฟื้นมาไม่เท่าเดิม
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้ภาษีทรัมป์ทุบศก. ไทยทรุด ซึมยาว ฟื้นมาไม่เท่าเดิม

9 พ.ค. 68
17:42 น.
แชร์

มาตรการภาษีนำเข้าชุดล่าสุดของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างอำนาจต่อรองบนโต๊ะเจรจาการค้า หากแต่เป็นแรงกระแทกระดับมหภาคที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับภาวะ “ความไม่แน่นอนฉับพลัน” ทั้งภาคธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบายในหลายประเทศ รวมถึงไทย ต่างชะลอการตัดสินใจเพราะไม่สามารถประเมินทิศทางข้างหน้าได้อย่างชัดเจน

แต่ในโลกของการวางแผนเศรษฐกิจ “ความคลุมเครือ” ไม่ใช่มุมมองหรือการวิเคราะห์ที่ยอมรับได้ เพราะมันไม่ช่วยให้ภาคเอกชนกล้าลงทุน ไม่ช่วยให้แรงงานเตรียมตัวรับมือ และไม่ทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถตั้งหลักรองรับแรงกระแทกได้ สิ่งที่จำเป็นคือ “ความชัดเจนในระดับที่วางแผนได้” อย่างน้อยต้องมีแนวประเมินเพื่อช่วยตอบคำถามว่า พายุนี้จะกระทบไทยเมื่อใด รุนแรงแค่ไหน นานเพียงใด ใครจะได้รับผลกระทบก่อน และเราจะฟื้นตัวอย่างไร

ในบริบทนี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปรียบบทบาทของ ธปท. ว่าเป็นเสมือน “กรมอุตุนิยมวิทยาทางเศรษฐกิจ” ที่ทำหน้าที่ติดตามทิศทางลมนโยบายจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ วิเคราะห์แนวโน้มมาตรการภาษีที่อาจขยายวงกว้าง และประเมินผลกระทบเชิงอุตสาหกรรมและภูมิภาคต่อเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นระบบ

เป้าหมายคือการให้ทุกภาคส่วนมีข้อมูลสำหรับตั้งรับอย่างมีแผน ไม่ใช่รอให้พายุพัดถึงแล้วค่อยเยียวยาความเสียหาย เพราะต้นทุนของการแก้ไขภายหลังมักสูงกว่าการป้องกันล่วงหน้า

ผู้ว่าฯ ธปท. ย้ำว่า แม้ไทยอาจหลีกเลี่ยงแรงปะทะไม่ได้ทั้งหมด แต่การเตรียมพร้อมที่ดีสามารถลดความรุนแรงของผลกระทบได้อย่างมีนัยสำคัญ และนี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ประเทศไทยควร “รอความแน่นอน” ก่อนลงมือ เพราะในโลกที่เปลี่ยนเร็วแบบนี้ ความล่าช้าอาจหมายถึงการพลาดโอกาส หรือที่แย่กว่านั้นต้องจ่ายราคาด้วยความเสียหายที่ลึกและยืดเยื้อกว่าที่คาด

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังพายุภาษีทรัมป์: ฟื้นตัวช้า และอาจไม่กลับมาเท่าเดิม

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า แม้ในขณะนี้ผลกระทบทางการค้าจากมาตรการภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะยังไม่ปรากฏเต็มที่ในตัวเลขเศรษฐกิจ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณบางประการที่สะท้อนความเปราะบาง โดยเฉพาะในภาคการลงทุน ซึ่งเข้าสู่ภาวะชะลอตัวแบบ wait and see นักลงทุนจำนวนมากชะลอการตัดสินใจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังไม่มีจุดจบชัดเจน

ในภาคการค้า ผู้ประกอบการจำนวนมากเร่งนำเข้าสินค้าล่วงหน้าก่อนมาตรการภาษีจะมีผลเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ผลกระทบต่อยอดส่งออกยังไม่สะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในตัวเลขระยะสั้น อย่างไรก็ตาม นายเศรษฐพุฒิเตือนว่า แรงปะทะจากภาษีเริ่มแทรกซึมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว และผลกระทบที่รุนแรงจริงจะเริ่มปรากฏชัดในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในไตรมาส 4 เป็นต้นไป ผ่านตัวชี้วัดสำคัญ เช่น ยอดส่งออกที่ชะลอตัว และการจ้างงานที่อาจลดลง

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมจึงอาจฟื้นตัวอย่างช้าๆ ไม่ใช่ในลักษณะ V-shape หรือ U-shape แบบที่เคยเห็นในอดีต แต่เป็นเส้นแนวโน้มคล้าย “เครื่องหมายถูก” (✓) คือร่วงลงอย่างมีนัยสำคัญ แล้วค่อยๆ ฟื้นกลับอย่างเชื่องช้า ผ่าน 4 ระยะสำคัญ ได้แก่

1. ระยะตกต่ำ: เศรษฐกิจจะชะลอลงอย่างชัดเจน แม้อาจไม่รุนแรงเท่ากับช่วงวิกฤตโควิด-19 หรือวิกฤตการเงินปี 2540 แต่ความลึกของการชะลอตัวขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการเจรจาทางการค้า ซึ่งขณะนี้ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มีแนวโน้มสูงที่จะยืดเยื้อ และยากที่จะบรรลุข้อตกลง เพราะ

  • สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องเปิดการเจรจาการค้ากับหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชียที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ ในระดับสูง ซึ่งการเจรจาเหล่านี้มีแนวโน้มใช้เวลายาวนานและซับซ้อนกว่าการเจรจากับประเทศตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักร แม้ว่าสหรัฐฯ กับอังกฤษจะสามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นได้บางส่วนแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมอย่างชัดเจน
  • ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นแกนกลางของสงครามการค้ารอบนี้ ก็ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะดำเนินนโยบายตอบโต้อย่างไรต่อไป โดยหากไม่สามารถหาข้อตกลงที่ยอมรับร่วมกันได้ ความตึงเครียดที่ยืดเยื้ออาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในระดับโลก และส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของไทยในฐานะประเทศที่พึ่งพาการค้าและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศเป็นหลัก

2. จุดต่ำสุด: เศรษฐกิจจะเข้าสู่จุดต่ำสุดของวิกฤต ซึ่งจะอยู่ในช่วงหลังไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เป็นต้นไป โดยอาจไม่ลึกเท่าวิกฤตอื่นๆ ที่ผ่านมา แต่ผลกระทบจะกระจายตัวและลึกพอที่จะกระทบการจ้างงานและความเชื่อมั่นในวงกว้าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ธุรกิจรายย่อย

3. ระยะฟื้นตัว: การฟื้นตัวจะใช้เวลานานกว่าปกติ เนื่องจากห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ต้องปรับตัวใหม่ ซึ่งใช้เวลานานหลายปี

4. เศรษฐกิจโลกหลังพายุ: นายเศรษฐพุฒิเตือนว่าเมื่อผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปแล้ว เศรษฐกิจจะเข้าสู่เฟสที่สี่ ซึ่งเป็นช่วงของการฟื้นตัวในบริบทใหม่ คำถามสำคัญคือ เศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย จะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตได้หรือไม่? ซึ่งคำตอบเบื้องต้นคือ “อาจไม่กลับไปเหมือนเดิม” หากไม่มีการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างจริงจัง 

เหตุผลสำคัญคือ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดการค้าหลักของโลก ได้ประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนทิศทางของระเบียบการค้าโลกแบบเดิม ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกทั่วโลกลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ระบบซัพพลายเชนระหว่างประเทศก็จำเป็นต้องปรับตัวตามเงื่อนไขใหม่ ผู้ผลิตจำนวนมากอาจต้องหันไปพึ่งแหล่งวัตถุดิบหรือห่วงโซ่การผลิตที่มีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดศักยภาพการเติบโตในระยะยาว

ประเทศที่พึ่งพาการส่งออก รวมถึงประเทศไทยจึงมีแนวโน้มเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน หากยังยึดแนวทางเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจหลังวิกฤตก็อาจต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤตอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม หากประเทศสามารถปรับตัวได้ทันและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ ก็มีความเป็นไปได้ที่อัตราการเติบโตหลังวิกฤตจะกลับมา "สูงกว่า" ระดับก่อนเกิดวิกฤตได้เช่นกัน โดยนายเศรษฐพุฒิ มองว่า มีสองปัจจัยที่อาจช่วยให้เกิดการฟื้นตัวอย่างมีคุณภาพ คือ

  1. ตลาดโลกที่หลากหลายมากกว่าสหรัฐฯ เพราะแม้สหรัฐฯ จะยังคงเป็นตลาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก แต่มูลค่านำเข้าของสหรัฐฯ คิดเป็นเพียงราว 15–17% ของการนำเข้าโลกเท่านั้น อีกกว่า 80% ของตลาดโลกยังเปิดกว้างและสามารถพัฒนาได้ หากประเทศต่าง ๆ หันหน้าเข้าหากันมากขึ้น ผ่อนคลายกำแพงภาษี และเพิ่มความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาคหรือระหว่างกลุ่มประเทศ ก็สามารถสร้างความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานและขยายโอกาสการค้าโดยไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางเพียงแห่งเดียว
  1. ภาคบริการไทยมีศักยภาพในการยกระดับเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ไทยมีสัดส่วนของภาคบริการในระบบเศรษฐกิจที่สูงอยู่แล้ว ซึ่งในแง่หนึ่งถือเป็นจุดแข็ง เพราะช็อกจากการค้าสินค้าอุตสาหกรรมอาจกระทบไทยน้อยกว่าประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเชิงอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม จุดท้าทายคือจะยกระดับภาคบริการให้เกิด “มูลค่าเพิ่ม” อย่างไร โดยไม่กลับไปสู่รูปแบบเดิมของการท่องเที่ยวราคาถูกหรือบริการที่ใช้แรงงานเข้มข้น ประเทศไทยควรมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของภาคบริการ เช่น การพัฒนาบริการสุขภาพระดับสากล การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ หรือการเป็นศูนย์กลางบริการด้านดิจิทัลและการเงิน ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นแหล่งการเติบโตใหม่ที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืนในโลกหลังวิกฤต

ผลกระทบเชิงโครงสร้าง: ลึก ยืดเยื้อ และกระจายไม่เท่ากัน

นายเศรษฐพุฒิเผยว่า มาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังส่งแรงกระเพื่อมเชิงโครงสร้างที่ลึกและยาวไกลต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในบางกลุ่มที่ต้องรับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ผู้ส่งออก หรือธุรกิจขนาดเล็กในห่วงโซ่อุปทาน

ในสงครามภาษี กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุดคือ “ผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ” โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมหลัก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อรถยนต์ อาหารแปรรูป และเครื่องจักรและส่วนประกอบ โดยสินค้ากลุ่มนี้อยู่ในข่ายที่ต้องเผชิญกับภาษีในอัตราที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการแข่งขันลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับแรงกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ไม่มีความสามารถในการย้ายฐานการผลิตหรือกระจายตลาดได้รวดเร็ว เมื่อคำสั่งซื้อจากผู้ส่งออกลดลง ธุรกิจเหล่านี้จะได้รับผลสะเทือนเป็นลูกโซ่

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งกำลังทะลักเข้าสู่ตลาดไทย หลังจากประเทศผู้ผลิตเหล่านั้นถูกจำกัดการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ไทยจึงกลายเป็นตลาดปลายทางสำคัญที่หลายประเทศพยายามแทรกตัวเข้ามา การแข่งขันภายในประเทศจึงทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ผลิตในประเทศยังมีจุดอ่อนด้านต้นทุน

หากเปรียบเทียบกับช่วงโควิด-19 ซึ่งภาคบริการได้รับผลกระทบหนักเป็นหลัก ครั้งนี้ถือว่าต่างออกไป เพราะพายุภาษีจะกระทบภาคการผลิตอย่างตรงจุด แม้จะไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ก็จะทิ้ง “ผลข้างเคียง” ไว้ในหลายมิติ ทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ดังนั้น แม้พายุลูกนี้จะไม่รุนแรงเท่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือโควิด-19 แต่หากไม่มีการรับมือที่เหมาะสมและทันท่วงที ก็อาจกลายเป็นแรงเสียดทานระยะยาวที่กัดเซาะศักยภาพของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

แนวนโยบายช่วยเหลือ: อย่าปูพรม รับมือแบบแม่นยำ ตรงจุด และจำเพาะกลุ่ม

ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญแรงกระแทกจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ เป้าหมายของนโยบายเศรษฐกิจในขณะนี้ ไม่ใช่การ “เร่งเครื่องกระตุ้นแบบทั่วหน้า” เหมือนในช่วงภาวะถดถอยทั่วไป แต่คือการ ลดทอนความรุนแรงของช็อกอย่างตรงจุด และเร่งการปรับตัวของภาคธุรกิจในลักษณะเฉพาะกลุ่ม โดยหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายแบบปูพรมที่ไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม

ตัวอย่างแนวทางนโยบายเชิงกลุ่ม ได้แก่:

  1. กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า: เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มราว 0.8% ของ GDP มีสัดส่วนผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 77% แต่เมื่อมาดูรายละเอียดของธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะพบว่า 50% ของผู้ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าประมาณ 200 ราย เป็นบริษัทต่างชาติ ดังนั้นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นคือการย้ายฐานการผลิต และการรักษาฐานการผลิตในประเทศไทยจึงต้องอาศัยมาตรการเชิงจูงใจ เช่น สิทธิประโยชน์จาก BOI การลดต้นทุนโลจิสติกส์ หรือการอำนวยความสะดวกด้านแรงงาน เพื่อป้องกันการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น
  2. กลุ่มอาหารแปรรูป: อุตสาหกรรมนี้มีความเชื่อมโยงภายในประเทศสูง ใช้วัตถุดิบภายในเป็นหลัก (local content สูง) มี SME มากกว่า 12,000 ราย ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตและประชาชนรากหญ้าตั้งแต่เกษตรกรต้นน้ำถึงผู้ผลิตปลายน้ำ มีการจ้างงานถึง 300,000 คน การรับมือจึงควรเน้นมาตรการที่แตกต่างไป เช่น การเสริมสภาพคล่อง สนับสนุนการเข้าถึงตลาดใหม่ และใช้กลไกภาษีเพื่อจูงใจการแปรรูปขั้นสูง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
  3. กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม: เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง มี SME กว่า 120,000 ราย และจ้างงานกว่า 400,000 คน ทั่วประเทศ การเผชิญการแข่งขันจากสินค้านำเข้าหลังประเทศคู่ค้าเร่งหาตลาดใหม่ อาจทำให้ผู้ผลิตภายในประเทศอยู่ในภาวะเสียเปรียบ จึงจำเป็นต้องพิจารณาใช้ มาตรการปกป้องการค้าชั่วคราว เช่น anti-dumping, มาตรฐานสินค้า หรือโควตาในบางกรณีควบคู่กับการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตในประเทศ

การออกแบบนโยบายภายใต้สถานการณ์นี้ จึงไม่ใช่การแจกแรงกระตุ้นแบบเท่าเทียม แต่คือการ "เลือกใช้ยาให้เหมาะกับโรค" โดยยึดหลักข้อมูลจริง ความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม และความสามารถในการฟื้นตัว เพื่อให้การใช้งบประมาณและเครื่องมือรัฐเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ธปท. กับโจทย์นโยบายการเงินในภาวะที่ "กระสุนจำกัด"

ฝั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงยึดหลักการดำเนินนโยบายที่รอบคอบและรอบด้าน โดยใช้กรอบ Integrated Policy Framework (IPF) ที่ประเมินนโยบายการเงินร่วมกับนโยบายด้านอื่นอย่างสอดคล้องกัน และมองแนวโน้มด้านเศรษฐกิจระยะยาว (outlook-driven) มากกว่าที่จะปรับตัวจากข้อมูลระยะสั้น (data-driven)

ในการประชุม กนง. รอบล่าสุด มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง โดยพิจารณาจากทิศทางเงินเฟ้อที่อยู่ในช่วงขาลงและภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การลดดอกเบี้ยจึงมีเป้าหมายเพื่อช่วยประคองการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ธปท. ก็ต้องตระหนักว่าพื้นที่นโยบายทางการเงินหรือ policy space มีจำกัด “กระสุนไม่ได้มีมาก” และยิ่งดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ประสิทธิภาพของการลดดอกเบี้ยก็จะลดลงตาม

ที่ผ่านมาเคยเห็นแล้วว่าเมื่อดอกเบี้ยลงต่ำมาก ผลลัพธ์ที่ส่งผ่านไปสู่เศรษฐกิจจริงเริ่มลดลง สิ่งเหล่านี้ทำให้ “การลดดอกเบี้ยไม่ได้ให้ผลเท่าเดิมอีกต่อไป” ดังนั้น การใช้พื้นที่ที่เหลืออยู่จึงต้อง “คุ้มค่าและแม่นยำ”

สำหรับคำถามว่าดอกเบี้ยจะลดลงได้อีกแค่ไหน? นายเศรษฐพุฒิเผยว่า ในปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ที่ 1.75% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่หากเศรษฐกิจทรุดหนักกว่าคาดการณ์ ก็มีโอกาสที่จะปรับลดลงได้อีก

นโยบายการคลัง: ต้องตรงจุด สร้างมูลค่าเพิ่มระยะยาว ภาพลักษณ์คือทุนทางเศรษฐกิจ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นถึงบทบาทของนโยบายการคลังในระยะต่อไปว่า ประเทศไทยยังมี "พื้นที่และโอกาส" ในการขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจผ่าน การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะในภาคบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นจุดแข็งดั้งเดิมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้การเติบโตดังกล่าว “ยกระดับ” ขึ้นอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่เพียงการขยายเชิงปริมาณ นายเศรษฐพุฒิระบุว่า ไทยมีศักยภาพในการพัฒนา บริการด้านสุขภาพ (Hospitality & Wellness Tourism) ที่สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจผู้สูงวัยทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ดี เนื่องจากเรามีทั้งต้นทุนค่าครองชีพที่ได้เปรียบ โครงสร้างพื้นฐานด้านบริการสุขภาพที่เข้มแข็ง และสัดส่วนประชากรสูงวัยที่มากพอจะเป็นฐานรองรับ

ในบริบทของนโยบายการคลัง การใช้จ่ายภาครัฐจำเป็นต้อง "แม่นยำและยั่งยืน" โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านทรัพยากรและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ การเลือกลงทุนในกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มในระยะยาวและสอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ

โดยเมื่อมีผู้สื่อข่าวถามถึงเกี่ยวกับโครงการ Entertainment Complex ว่าเป็นการลงทุนที่เหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์หรือไม่ นายเศรษฐพุฒิยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ "มีหลายมิติ" และยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคม

ในเชิงนโยบาย เขาย้ำว่า โจทย์หลักของประเทศไม่ใช่เพียงการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว แต่คือการสร้างมูลค่าเพิ่มจากนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง และตรงกับจุดแข็งของไทยในด้านบริการสุขภาพและการดูแลระยะยาว (Wellness & Long-Term Care)

อย่างไรก็ดี เขาเตือนว่า หากจะเดินหน้าโครงการ Entertainment Complex อย่างจริงจัง ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงด้านภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีโลก โดยเฉพาะในยุคที่ความโปร่งใส (transparency) และธรรมาภิบาล (governance) เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

กรณีที่มูดี้ส์ปรับลดมุมมองต่อความน่าเชื่อถือของไทยบางส่วน สะท้อนให้เห็นว่า ภาพรวมของกรอบนโยบายเศรษฐกิจ และธรรมาภิบาล กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ scam และธุรกิจสีเทา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบางครั้งมีการพาดพิงถึงไทย ก็ยิ่งเพิ่มความเปราะบางด้านชื่อเสียง หากภาพลักษณ์ของประเทศถูกทำให้มัวหมองจากการเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยง เช่นกาสิโน แม้จะสร้างรายได้ระยะสั้น แต่ต้นทุนด้านความน่าเชื่อถือในระยะยาว อาจสูงเกินรับได้

ดังนั้น หากพิจารณาจากต้นทุนและประโยชน์ในระยะยาว นายเศรษฐพุฒิเห็นว่า การส่งเสริมเศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) เป็นทางเลือกที่ชัดเจนกว่าในแง่ของความยั่งยืนและความเสี่ยงที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ Entertainment Complex

การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ Wellness ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศไทยในเวทีโลก เป็นการใช้จุดแข็งเดิมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อธรรมาภิบาล

ดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่คุ้มในช่วงที่สินค้าต่างประเทศทะลัก

เมื่อกล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านฝั่งการบริโภค เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่าควรเดินหน้าต่อหรือไม่? ในบริบทที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญแรงกดดันรอบด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันจุดยืนเดิมว่า มาตรการลักษณะนี้ ต้องประเมินความคุ้มค่าอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในภาวะที่บริบททางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความไม่แน่นอนยังสูง และมีปัจจัยเสี่ยงใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในปัจจัยที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังคือ สถานการณ์การไหลทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ หากภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศในช่วงเวลานี้ ผลลัพธ์ที่ได้อาจกลายเป็นการส่งต่อกำลังซื้อของประชาชนไปยังเศรษฐกิจต่างประเทศ แทนที่จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตจากภาคการผลิตและผู้ประกอบการไทย

ในแง่นี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจึงอาจ “ไม่ได้ตอบโจทย์” เศรษฐกิจไทยในช่วงจังหวะที่เปราะบาง และอาจสร้างผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์ของนโยบาย หากไม่มีมาตรการประกอบอื่นที่ช่วยดูแลการนำเข้าสินค้า หรือเสริมศักยภาพฝั่งอุปทานในประเทศควบคู่กันไป










แชร์
ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้ภาษีทรัมป์ทุบศก. ไทยทรุด ซึมยาว ฟื้นมาไม่เท่าเดิม