การเงิน

จับตาปีนี้เงินบาทแตะ 32-33 บาท/ดอลลาร์ เงินไหลเข้าตลาดบอนด์ 5 หมื่นลบ.

10 ม.ค. 66
จับตาปีนี้เงินบาทแตะ 32-33 บาท/ดอลลาร์ เงินไหลเข้าตลาดบอนด์ 5 หมื่นลบ.

จับตาเงินบาทมีโอกาสแข็งแตะ 32-33 บาท/ดอลลาร์

5 วันแรกปีนี้ กระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดบอนด์ 5 หมื่นลบ.

             ความผันผวนของตลาดการเงินยังเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองโลกที่มีการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่ต้องจับตาดูและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คงหนีไม่พ้นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะค่าเงินบาทของไทย 

            ล่าสุดวันนี้ (10 ม.ค.) เมื่อเช้าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ 33.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 9 เดือน (นับตั้งแต่ 1 เม.ย. 65)

           โดยน.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ Spotlight ” ว่า ปีนี้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาแล้วกว่า 3% ซึ่งเป็นการปรับตัวแข็งค่าที่มากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค จากกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาลราว 5 หมื่นล้านบาทในช่วง 5 วันทำการแรกของปี

กรุงศรีฯ มองค่าเงินบาทปลายปีนี้ ที่ระดับ 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

           ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกปรับตัวอ่อนค่าลงจากการคาดการณ์ที่ว่า ธ.กลางสหรัฐฯ จะลดขนาดความแข็งกร้าวในการปรับขึ้นดอกเบี้ย หลังตัวเลขค่าจ้างและภาคบริการของสหรัฐฯ แผ่วลงเกินคาด ประกอบกับการยกเลิกนโยบายปลอดโควิดของจีนยังช่วยหนุนแนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยและค่าเงินบาท

          โดยปีนี้มองกรอบค่าเงินบาทไว้ที่ 32 - 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากกรอบปี 2565 ที่ 32.08 - 38.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มองปลายปีนี้ค่าเงินบาทที่ระดับ 32 - 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ        

          “ มองว่าผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศได้รับผลกระทบเชิงลบจากบาทแข็งมากกว่ากลุ่มที่มี import content สูง และมองว่ามูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยในปีนี้เติบโตเพียง 0.5% จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ยังคาดหวังไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากภาคการท่องเที่ยว ” 

currency

บล.หยวนต้า ชี้ 5 ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า 

          บล.หยวนต้า ประเมินค่าเงินบาทได้เริ่มกลับมาแข็งค่าตั้งแต่กลางเดือนพ.ย.2565 ที่ผ่านมา หลังจากที่สหรัฐได้เปิดเผยอัตราการว่างงานเดือนต.ค.65 และอัตราเงินเฟ้อของสรหัฐที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดตั้งแต่เดือนต.ค.65 ประกอบกับธนาคารกลางยุโรปส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุม 27 ต.ค.65 ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่หนุนให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น

          สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังมีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้นอยู่ในกรอบ 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรกปีนี้ จาก 5 ปัจจัย ดังนี้

  1. ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 
  2. ค่าเงินสกุลต่างๆ ในเอเซีย มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากจีนเปิดการเดินทางอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.65  และธนาคารกลางญี่ปุ่นเริ่มชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ผ่านการขยับกรอบ Yield Curve Control ให้กว้างขึ้น
  3. เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น เพื่อเก็งผลประกอบการไตรมาส 4/65 และเงินปันผล
  4. โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังเอื้อต่อการเก็งกำไรค่าเงินบาท จากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงมาอยู่ในกรอบ 3.5-4.5% ในไตรมาสแรกปีนี้ และปัจจัยบวกจากการเลือกตั้งที่ใกล้ถึงกำหนดในวันที่ 7 พ.ค.65 (กรณีไม่ยุบสภา) 
  5. ถ้าดูจากการวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ พบว่า เงินบาทมีช่องว่างให้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ถ้าอ้างอิงจากช่วงก่อนโควิด-19 ค่าเงินบาทยังอ่อนอยู่ที่ 12.9% ขณะที่ค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเฉลี่ยอ่อนค่าลงเพียง 5.3%

import

     ค่าบาทแข็งค่าใครได้ประโยชน์-ใครเสียประโยชน์?

          ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกบทความ 7 ข้อเท็จจริงเรื่องค่าเงินบาท และการปรับตัวภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ระบุว่า เมื่อค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น 1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ 

ผู้ที่ได้ประโยชน์ คือ 

  1. ผู้นำเข้าสินค้า >> ที่ต้นทุนการนำเข้าจะลดลง เพราะราคาสินค้าจากต่างประเทศถูกลง
  2. ประชาชน >> สามารถซื้อสินค้าจากต่างประเทศถูกลง
  3. นักลงทุน >> นำเข้าสินค้าทุนได้ถูกลง เข่น เครื่องจักร
  4. ผู้เป็นหนี้ต่างประเทศ >> มีภาระหนี้ลดลง เพราะใช้เงินบาทชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศลดลง

ผู้ที่เสียประโยชน์ คือ 

  1. ผู้ส่งออกสินค้า >> นำรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
  2. คนที่ทำงานต่างประเทศ >> นำรายได้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง
  3. ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ >> นำเงินมาแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง

เงินบาทแข็งค่า ดีต่อเศรษฐกิจไทย-กระตุ้นเงินทุนไหลเข้า

          บล.หยวนต้า ยังมองว่า ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นรอบนี้ อาจจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทย และช่วยหนุนบรรยากาศในการลงทุนในแง่ของการกระตุ้นเงินทุนไหลเข้าได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งช่วงนี้การนำเข้าเร่งตัวขึ้นจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในประเทศ

         ทั้งนี้ มองว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศอีก 4 หมื่นล้านบาทอย่างน้อย หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ค้าปลีก​ โรงไฟฟ้า สื่อสาร จะเป็นกลุ่มที่รองรับเม็ดเงินลงทุนต่างชาติได้ดี สำหรับหุ้นที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากบาทแข็งค่า คือ BGRIM GPSC SCGP เป็นต้น

ที่มา : Settrade ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารแห่งประเทศไทย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT