Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เมื่อจีนขยับจากรถยนต์ไฟฟ้าสู่AI นโยบายอุตสาหกรรมยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า
โดย : ดร.ณรงค์ บริจินดากุล

เมื่อจีนขยับจากรถยนต์ไฟฟ้าสู่AI นโยบายอุตสาหกรรมยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า

4 ก.ค. 68
10:38 น.
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

  • ในวันนี้ จีนกำลังพยายามใช้สูตรความสำเร็จแบบเดิมที่เคยใช้กับ EV แต่ใช้กับอีกเทคโนโลยีที่สำคัญซึ่งก็คือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI
  • แต่ว่าการพัฒนา AI นั้นมีความแตกต่างจากสมัยที่พัฒนา EV เนื่องจาก AI ไม่ได้วัดกันที่ขนาดโรงงานหรือจำนวนสายพานการผลิตซึ่งเป็นสิ่งที่จีนถนัด

นโยบายอุตสาหกรรมถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาลในการผลักดัน หรือ “ปั้น” อุตสาหกรรมที่ต้องการส่งเสริมให้เติบโตอย่างมีทิศทาง ไม่ว่าจะผ่านการอัดฉีดงบประมาณ การกำหนดกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อภาคเอกชน หรือการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน

จีนคือหนึ่งในตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจากการใช้นโยบายอุตสาหกรรมเชิงรุก ภายในเวลาไม่ถึงสองทศวรรษ จีนพลิกบทบาทจากผู้ตามในอุตสาหกรรมยานยนต์แบบสันดาปขึ้นมาเป็นผู้นำโลกในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยการลงทุนมหาศาล การกำหนดทิศทางอย่างมียุทธศาสตร์ และการสร้างแรงจูงใจทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค

ผลลัพธ์คือ จีนกลายเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครถ EV รายใหญ่ที่สุดของโลก รถยนต์ไฟฟ้าจึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความสำเร็จเชิงนโยบายที่แสดงให้เห็นว่ารัฐสามารถ “ออกแบบอนาคต” ได้

ภาพจาก AFP: รถยนต์ Xiaomi รุ่น YU7 ถูกจัดแสดงอยู่ในโชว์รูมของโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Xiaomi EV ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดของ Xiaomi ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2025 (ภาพถ่ายโดย GREG BAKER / AFP)

ในวันนี้ จีนกำลังพยายามใช้สูตรความสำเร็จแบบเดิมที่เคยใช้กับ EV แต่ใช้กับอีกเทคโนโลยีที่สำคัญซึ่งก็คือปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI แต่ว่าการพัฒนา AI นั้นมีความแตกต่างจากสมัยที่พัฒนา EV เนื่องจาก AI ไม่ได้วัดกันที่ขนาดโรงงานหรือจำนวนสายพานการผลิตซึ่งเป็นสิ่งที่จีนถนัด

แต่การพัฒนา AI นั้นวัดกันที่จำนวนข้อมูลที่มีคุณภาพ ความเร็วของการพัฒนา ความสามารถของนักวิจัยและวิศวกร และความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างโปรดักส์ใหม่ๆ ซึ่งล้วนไม่ใช่สิ่งที่รัฐสามารถควบคุมหรือสั่งการได้จากเบื้องบนเพียงอย่างเดียว

คำถามที่สำคัญคือ สูตรการพัฒนาแบบที่เคยใช้กับ EV นี้จะยังใช้ได้ผลกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต้องมีการลองผิดลองถูกอย่าง AI หรือไม่

บทเรียนจากยุค EV สู่ AI

ยุทธศาสตร์ EV ของจีนมีจุดเริ่มต้นจากการ “ยอมรับความจริง” ว่าตัวเองสู้ไม่ได้ในเรื่องของการพัฒนารถยนต์แบบสันดาป โดยในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ผู้นำรัฐบาลจีนต่างทราบดีว่าคงไม่มีทางตาม สหรัฐฯ เยอรมนี หรือญี่ปุ่นด้ทัน จีนจึงเลือกที่จะกระโดดไปยังสมรภูมิใหม่ที่ยังไม่มีใครครอบครองซึ่งนั่นคือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 10 ในปี 2001 จีนก็วาง EV ไว้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ โดยรัฐมีการเทงบกว่า 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2009-2022 ทั้งในรูปแบบเงินอุดหนุนและการลดภาษี รัฐบาลท้องถิ่นช่วยกระตุ้นดีมานด์ด้วยการออกทะเบียนรถ EV ได้ง่ายกว่ารถทั่วไป โดยเฉพาะในเมืองที่มีปัญหาการจราจร ขณะที่ระบบขนส่งมวลชนกลายเป็นสนามทดลองการผลิตและใช้งานจริงภายในประเทศ

ผลลัพธ์คือภายในปี 2022 ยอดขายรถ EV ในจีนคิดเป็นกว่าครึ่งของทั้งโลก บริษัทสัญชาติจีนอย่าง BYD เริ่มแย่งพื้นที่ตลาดของ Tesla และในขณะเดียวกัน จีนก็สามารถยึดห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่แทบทั้งหมด ตั้งแต่แร่ลิเธียมจนถึงสายการประกอบ 

ความสำเร็จนี้ทำให้รัฐมั่นใจว่า “นโยบายอุตสาหกรรมเชิงรุก” นั้น “เวิร์ค” และใช้ได้ผล จึงมีความพยายามที่จะใช้ “ท่าเดิม” สำหรับการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรม AI โดยจีนตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าจะสร้างอุตสาหกรรม AI มูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และตั้งใจจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 แต่ว่าแนวทางของจีนนั้นแตกต่างจากโลกตะวันตกอย่างสหรัฐฯ อย่างชัดเจน 

ในขณะที่สหรัฐฯกำลังมุ่งการพัฒนา AI ไปสู่ AGI (Artificial General Intelligence) จีนกลับมองการพัฒนา AI เป็น “เครื่องมือ” ในการยกระดับเศรษฐกิจ เช่นการใช้ AI ในการปรับปรุงภาคเกษตร โลจิสติกส์ การแพทย์ ไปจนถึงหุ่นยนต์และยานยนต์ไร้คนขับ

เพื่อที่จะผลักดันเป้าหมายดังกล่าว จีนได้มีการระดมทรัพยากรตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แค่ในปี 2024 จีนได้มีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ถึง 429 กิกะวัตต์เพื่อรองรับศูนย์ข้อมูล AI ขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมหาศาล ซึ่งมากกว่าสหรัฐถึง 15 เท่า 

ในด้านเซมิคอนดักเตอร์ หลังจากที่จีนเผชิญกับปัญหามาตรการควบคุมการส่งออกจากสหรัฐฯ จีนได้ทำการอัดเงินเข้าสู่กองทุน National Integrated Circuit Fund ที่เพิ่งระดมทุนรอบล่าสุดได้ถึง 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมี Huawei และบริษัทอีกจำนวนมากเร่งพัฒนาชิปที่ใช้กับ AI เพื่อแข่งกับ NVIDIA และ AMD นอกจากนั้น จีนยังได้พัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระดับชาติ เพื่อเชื่อมต่อ GPU และเซิร์ฟเวอร์ทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าให้มีขีดความสามารถถึง 300 exaflops ภายในปี 2025

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้ว รัฐบาลจีนยังได้มีการลงทุนในงานวิจัยโดยตรง สถาบันชั้นนำอย่าง Shanghai AI Lab และ Beijing Academy of Artificial Intelligence ได้รับงบสนับสนุนตรงจากรัฐ ทั้งเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และผลิตนักวิจัยรุ่นใหม่สู่ตลาด

นอกจากนั้นจีนยังได้ตั้งกองทุนอุตสาหกรรม AI มูลค่า 8.2 พันล้านดอลลาร์ และให้ธนาคารของรัฐออกสินเชื่อพิเศษเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเชิงพาณิชย์ของ AI อีกด้วย รัฐบาลท้องถิ่นในเมืองใหญ่กว่า 20 แห่งได้มีการตั้ง “เขตนำร่อง AI” ที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านกฎหมาย เงินทุน และเงินอุดหนุนสำหรับการเข้าถึง GPU บางเมืองถึงขั้นแจก “คูปองคอมพิวเตอร์” ให้สตาร์ทอัพใช้ GPU ได้ในราคาถูก

ภาพจาก AFP

แม้จะมีระบบสนับสนุนขนาดใหญ่ แต่จีนยังติดคอขวด 3 จุดที่สำคัญ

หนึ่งคือ “ชิป” ถึงแม้จีนมีความพยายามที่จะพัฒนาและผลิตชิปเอง แต่บริษัทอย่าง Alibaba, ByteDance และ DeepSeek ที่พัฒนาโมเดลระดับแนวหน้าก็ยังต้องพึ่ง GPU ของ NVIDIA ในการเทรนโมเดลอยู่ดี หากไม่สามารถปิดช่องว่างนี้ได้ การเป็นผู้นำ AI คงเป็นเพียงความหวัง

สองคือ “คน” แม้มหาวิทยาลัยจีนจะสามารถผลิตนักวิจัย AI เก่ง ๆ จำนวนมาก แต่หลายคนก็เลือกทำงานในต่างประเทศ ขณะที่ภาคเอกชนในประเทศก็แข่งขันแย่งตัวบุคลากรอย่างดุเดือด ปัญหาคือจีนไม่สามารถสร้างบุคลากรอย่างนักวิจัยและวิศวกรได้ทันความต้องการของตลาด

และสามคือ “พลังงาน” แม้จีนจะสร้างโรงไฟฟ้าได้เร็ว แต่ความต้องการใช้ไฟของศูนย์ข้อมูล AI จะเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในปี 2030 การบริหารพลังงานให้มีประสิทธิภาพและกระจายตัวได้ดีอาจกลายเป็นความท้าทายที่ใหญ่กว่าแค่ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตออกมา

อุตสาหกรรม AI นั้นต่างจาก EV

ข้อเท็จจริงข้อหนึ่งที่สำคัญคือ AI ไม่เหมือนกับ EV หากเรามองย้อนกลับไปเราจะเห็นได้ว่าการพัฒนา EV มีกระบวนการที่คาดเดาได้ มีสูตรที่ชัดเจน เช่น วิจัยแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตในโรงงาน ลดต้นทุนด้วยการสเกลจำนวนมาก ในทางตรงกันข้าม การพัฒนา AI กลับเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน การเกิดขึ้นของโมเดลอย่าง Transformer หรือ Reasoning model เพิ่งเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่ปี​ (ไม่ถึงสิบปี) สิ่งที่ดูเหมือน “เดินถูกทาง” ในวันนี้ อาจกลายเป็นทางตันในวันพรุ่งนี้ก็ได้

ยิ่งไปกว่านั้น AI ยังอาศัยสิ่งที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็น ความคิดสร้างสรรค์และการลองผิดลองถูก ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คำสั่งจากส่วนกลางของรัฐบาลจะเข้ามากำหนดได้ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ สหรัฐฯ ยังนำหน้าจีนในเรื่องของ AI ทั้งๆที่ไม่ได้มีการสนับสนุนจากรัฐมากขนาดนั้น การพัฒนา AI ในสหรัฐฯนั้นถูกผลักดันด้วยกลไกตลาดและแรงขับจากภาคเอกชน มหาวิทยาลัยชั้นนำ ชุมชนโอเพ่นซอร์ส เงินทุน VC และสตาร์ทอัพที่ บริษัทอย่าง OpenAI, DeepMind หรือ Anthropic ต่างเติบโตจากระบบนิเวศแบบแข่งขันเสรี ไม่ใช่การกำกับจากรัฐ และแม้แต่บริษัทจีนที่ประสบความสำเร็จใน AI อย่าง DeepSeek หรือ ByteDance ก็ไม่ได้เติบโตจากนโยบายอุตสาหกรรมที่มาจากส่วนกลาง 

บทเรียนจากการพัฒนา EV สะท้อนให้เราเห็นว่านโยบายอุตสาหกรรมสามารถเปลี่ยนประเทศได้ หากมีการมุ่งเน้นที่การผลิตและมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โจทย์ยากคือการพัฒนา AI นั้นไม่ได้ติดปัญหาด้านการผลิตที่จีนค่อนข้างได้เปรียบ แต่มันคือโจทย์ด้านนวัตกรรมที่ไม่อาจกำหนดได้จากแผนแม่บทจากส่วนกลาง

Reference: https://www.rand.org/pubs/perspectives/PEA4012-1.html#fn9

ดร.ณรงค์ บริจินดากุล

ดร.ณรงค์ บริจินดากุล

AI Expert บริษัท SCB 10X จำกัด

แชร์
เมื่อจีนขยับจากรถยนต์ไฟฟ้าสู่AI นโยบายอุตสาหกรรมยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า