การเงิน

เช็คสถานะสินทรัพย์ลงทุน ตั้งแต่ต้นปี ขึ้น หรือ ลง แค่ไหน?

22 มิ.ย. 65
เช็คสถานะสินทรัพย์ลงทุน ตั้งแต่ต้นปี  ขึ้น หรือ ลง แค่ไหน?

 

 

หลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% เมื่อการประชุมครั้งล่าสุดวันที่ 15 มิ.ย. 2565 เป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาดไว้ โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้ เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา

 

นอกจากนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่ของเฟดยังคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นต่อจะแตะ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปี 2565 นอกจากนี้ ยังคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2023

 

โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งนี้ มีขึ้นหลังจาก ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ ในเดือน พ.ค. ปีนี้ ออกมาเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี โดยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขดัชนี CPI ที่เป็นตัววัดเงินเฟ้อพุ่งขึ้น 8.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3% และถือว่าเพิ่มขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2524 เป็นต้นมา



891271

 

ก่อนหน้านี้นักลงทุนมีความคาดหวังว่าหลังมีความชัดเจนเรื่องดอกเบี้ยของเฟดแล้วราคาสินทรัพย์เสี่ยงน่าจะรับรู้ข่าวนี้ไปแล้วมีโอกาสจะะฟื้นตัวขึ้นได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดกลับตรงกันข้าม เพราะเมื่อเปรียบเทียบผลตอบสินทรัพย์เสี่ยงของโลกส่วนใหญ่ตั้งแต่ต้นปีนี้ถีงตอนนี้กลับไหลลงต่อเนื่องจนมีผลตอบแทนที่ติดลบเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเริ่มมีความกังวลว่าโลกเข้าใกล้สู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้นเรื่อย

 

โดยธนาคารโลก(World Bank) เคยให้ความเห็นว่า สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน มีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับราคาอาหารและพลังงาน รวมถึงการขาดแคลนปุ๋ยนั้น อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกได้ โดยเมื่อเดือน เม.ย. ปีนี้ World Bank ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ ลงเกือบ 1% เหลือ 3.2% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 4.1% เนื่องมาจากผลกระทบของสงครามรัสเซียกับยูเครน

 

ขณะที่ล่าสุด 'เจเน็ต เยลเลน' รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ออกมาระบุ่ว่า มีความเป็นไปได้ที่การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะติดลบเป็นเวลา 2 ไตรมาสติดต่อ ซึ่งเป็นเกณฑ์บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะชะลอตัวลง ขณะที่ยังคงมีการจ้างงานเต็มศักยภาพ

 

ทีม SPOTLIGHT จะพาไปสำรวจสินทรัพย์ลงทุนแต่ละตัว ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ขึ้น หรือ ลง แค่ไหน?

 

767477

 

 

 

'บิตคอยน์' เสี่ยงร่วงต่อแตะ 7,500 ดอลลาร์

446427

 

ในวันที่ 18 มิ.ย. 2565 ราคา บิตคอยน์ร่วงต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2020 และถือว่าลดลงมากว่า 70% จากจุดสูงสุด 69,000 ดอลลาร์/BTC เมื่อเดือน พ.ย. ปี 2021 โดยนักวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ราคาบิตคอยน์ร่วงลงอย่างรุนแรงนั้น มาจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

 

ถัดมาอีก 1 วัน 'Peter Schiff' นักเศรษฐศาสตร์และซีโอของ Euro Pacific Capital Inc. ได้ให้ข้อมูลของกราฟราคาบิตคอยน์(BTC) ผ่านบัญชีทสวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามอยู่เกือบ 1 ล้านคน โดยคาดการณ์ว่าราคาบิตคอยน์มีความเสี่ยงจะดิ่งลงถึงระดับ 7,500 ดอลลาร์ ซึ่งหากวิเคราะห์จากกราฟราคาเมื่อตีเส้นแนวรับจากจุดต่ำสุดเมื่อปี 2017-2020 ซึ่งจะพบว่าปัจจุบันจากกราฟราคาบิตคอยน์จะลงมาอยู่ที่ราว 7,500 ดอลลาร์

นอกจากนี้ยังระบุว่า คงจะแปลกมาก หากกราฟราคาบิตคอยน์ไม่ลงไปแตะแนวรับที่ประเมินไว้ในครั้งนี้ แต่ทั้งนี้เชื่อว่าก่อนจะไปถึงจุดนั้นก็คงจะมีการกลับตัวหลอกขึ้นมาก่อน และจากนั้นกราฟราคาก็จะดิ่งลงไปสู่แนวรับที่วางไว้ และอาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้ซื้อ 'บิตคอยน์' ในราคามากกว่า 10,000 ดอลลาร์

  

โดยการออกมาวิเคราะห์กราฟราคาบิตคอยน์ของ ‘Peter Schiff’ ในครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก และก็ไม่ใช่ครั้งสองครั้งที่เขาออกมาวิเคราะห์ โดยก่อนหน้านี้เราก็จะเห็น ‘Peter Schiff’ ออกมาวิเคราะห์กราฟ Bitcoin อยู่เสมอ และก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนใหญ่จะเป็นการวิเคราะห์ไปในทิศทางลบ

  

อย่างในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา เขาก็เคยได้ออกมาวิเคราะห์กราฟราคา Bitcoin ในลักษณะเดียวกันกับในครั้งนี้แทบจะทุกประการ แตกต่างกันเพียงแค่ในครั้งนั้นเขาตีเส้นแนวรับจากราคาต่ำสุด โดยเริ่มต้นจากปี 2019 เป็นต้นไป ทำให้ในครั้งนั้นเขาออกมาทำนานว่าราคา Bitcoin อาจดิ่งแตะ 5,000 ดอลลาร์ได้


หุ้นโลกเข้าสู่ภาวะ “ตลาดหมี” แล้ว

264892

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) มีมุมมองว่า ดัชนีตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ต้นปีนี้ที่ผ่านมาตกกันระเนระนาดอานิสงส์ เนื่องจากผลกระทบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซียยูเครน และสาเหตุอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่ประดังกันเข้ามาพร้อมกันจนบางคนบอกว่าเป็นเหตุการณ์ “Perfect Storm” หรือเรื่องร้ายที่เกิดขึ้นประเภท “หนึ่งในร้อยปี”


ขณะที่การตกลงมาของตลาดหุ้นอเมริกาในรอบมีมุมองว่าว่าเข้าข่ายเป็น “ตลาดหมี” แล้ว โดยเฉพาะในตลาดหุ้นแนสแด็กที่เป็นตัวแทนของหุ้นไฮเท็คและเป็นหุ้น “เก็งกำไร” ในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่อย่างดาวโจนส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ของประเทศและของโลกนั้น ไม่ช้าก็เร็วก็คงจะเป็น “ตลาดของหมี” ในที่สุด


ส่วนตลาดหุ้นไทยนั้นถ้าดูจากดัชนีตลาดดูเหมือนว่าจะไม่ได้เป็นตลาดหมีเลย โดยดัชนีตั้งแต่ต้นปีลดลงแค่ประมาณ 2.1% อย่างไรก็ตามถ้ามองภาพเล็กลงมา โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ที่เน้นเล่นเหรียญดิจิทัล และหุ้นที่เก็งกำไรรุนแรง ก็จะพบว่าจำนวนมากขาดทุนหนัก โดยเฉพาะเหรียญดิจิทัลที่บางตัวนั้น “ล่มสลาย” ขาดทุนเกิน 90% และจำนวนมากขาดทุนหลาย 10% ในเวลาอันสั้น

นอกจากนั้น นักลงทุนที่กระจายการลงทุนไปลงในหุ้นต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่ก็คืออเมริกา จีนและเวียดนาม ต่างก็ “เจ็บหนัก” ไปตามกัน ดังนั้นการที่หุ้นไทยแทบไม่ได้ตกลงมาเลยในช่วงนี้นั้น แต่ถ้ามองย้อนหลังในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยแทบจะไม่ไปไหนเลย ดังนั้นเมื่อ “ไม่เคยเป็นกระทิง” ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา “หมี” ก็มักจะไม่มาเยือน

 


YLG คาดราคาทองวิ่งกรอบ 1,750-1,900 ดอลลาร์ รอดอกเบี้ยหยุดขึ้น

903389

 

บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) ประเมินราคาทองคำแนวรับแรกไว้ที่ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากหลุดแนวรับแรกจะร่วงลงไปถึง 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ข้อดีของทองคำในช่วงนี้ด้วยความที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เมื่อย่อลงไปถึงจุดหนึ่งจะมีแรงกลับเข้าซื้อ โดยคาดราคาจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,750-1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนกว่าเฟดจะส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย และด้วยความที่ทั้งราคาน้ำมันที่สูงขึ้นบวกกับสภาวะเงินเฟ้อ เชื่อว่าทองคำจะย่อลงไม่นานและฟื้นกลับขึ้นมาได้

 

ส่วนราคาทองคำในประเทศ หากราคาทองคำโลก (spot) ย่อลงไปถึง 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ก็ยังน่าเป็นห่วง ก็มีโอกาสที่ราคาทองคำจะหลุดจาก 30,000 บาท ลงไปที่บริเวณบาทละ 29,000 บาทได้ แต่ก็จะค่อย ๆ ทยอยลดลง

 

ศูนย์วิจัยทองคำ (Gold Research Center) ระบุว่า กรณีที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.75% จะเป็นปัจจัยกดดันต่อภาพรวมการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก รวมถึงกระทบกดดัน "ราคาทองคำ" ให้มีความเสี่ยงจะปรับลดลงไปที่ระดับ 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือลดลงไปที่ 29,500 บาทต่อบาททองคำ โดยจะเป็นระดับราคาที่ทำจุดต่ำสุดในรอบประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ เนื่องจากจะมีแรงขายทองคำของนักลงทุนลงออกมา เพื่อย้ายเงินลงทุนออกไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์ ซึ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่สูง

 

น้ำมันยัง 'แพง' ต่อ หลังดีมานด์เพิ่ม-คว่ำบาตรรัสเซีย ทำอุปทานลด

437636

 

ขณะที่ในวันที่ 6 มิ.ย. ปีนี้ ราคาน้ำมันดิบสหรัฐแตะ 130 ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 แนวโน้มราคายังพุ่งขึ้นได้อีก หลังจากสหรัฐ-ยุโรป จ่อแบนนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย หวังตอบโต้กรณีบุกยูเครน โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) สหรัฐ พุ่งขึ้นไปทะลุ 130.50 ดอลลาร์/บาร์เรล ถือเป็นราคาสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันโลกปี 2008

 

เนื่องจากความล่าช้าในกระบวนการเจรจดึง "อิหร่าน" เข้ามาช่วยเสริมซัพพลายน้ำมันแทนที่รัสเซีย อีกทั้งสหรัฐและยุโรปยังมีแผน "ห้ามนำเข้าน้ำมัน" จากรัสเซีย ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้อีกด้วย

 

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ. ไทยออยล์(TOP) วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ปรับเพิ่ม เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์สต๊อกนน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 มิ.ย. ปีนี้ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง 1.4 ล้านบาร์เรลและ 0.6 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ

 

ปัจจัยที่มีผลกระทบ

  • ปริมาณการส่งออกแก๊สของรัสเซียผ่านทาง Nord Steam 1ไปยังยุโรปปรับลดลงมากกว่า 50% ส่งผลให้ราคาแก๊สในยุโรปปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% หลังจากที่รัสเซียประกาศลดการส่งออก ขณะที่ยุโรปประกาศเตรียมแผนลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย โดยราคาแก๊สธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปทานที่ตึงตัวในฝั่งยุโรป ส่งผลให้เกิดการใช้น้ำมันแทนแก๊สธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น
  • สหรัฐฯ และกลุ่มพันธมิตรหารือกันเพื่อเตรียมออกมาตรการตรึงราคาน้ำมัน (price cap) ของรัสเซีย เพื่อกดดันราคาน้ำมันและจำกัดรายได้จากส่งออกน้ำมันของรัสเซีย ขณะที่ยังคงอนุญาตให้น้ำมันของรัสเซียออกสู่ตลาดได้เพื่อบรรเทาภาวะ
    อุปทานน้ำมันดิบตึงตัว

advertisement

SPOTLIGHT