ครบ 1 ปีเต็มที่ ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ดำรงตำแหน่ง “ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” (ตลท.) ในช่วงเวลาที่ตลาดทุนไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะในช่วงเวลาที่รับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2567 ดัชนี SET อยู่แถวระดับ 1,100 จุด ท่ามกลางความผันผวน คดีใหญ่ในตลาดทุนที่ส่งผล
กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
“ภารกิจแรกของผมคือการฟื้นฟู Trust & Confidence เพราะตลาดหุ้นจะเดินหน้าได้ ต้องเชื่อมั่นและไว้ใจกันก่อน” ประธานบอร์ด ตลท.บอกกับสื่อมวลชน
นั่นจึงทำให้เกิดหลายภารกิจที่เป็นผลงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนไทยในยุคต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของทั้งโลกและพฤติกรรมนักลงทุน
1.อยากได้บริษัทจดทะเบียนใหม่ๆมาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยให้เร็วที่สุด
2.สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทำให้บริษัทที่ลิสต์อยู่ในตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน โปร่งใส น่าลงทุน
3.ทำให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า เป้าหมายใหญ่ที่ตลาดหลักทรัพย์อยากให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด คือ การเพิ่มบริษัทจดทะเบียนในไทย ด้วยการเปิดโอกาสให้ ธุรกิจต่างชาติ เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่มีศักยภาพ ในกลุ่มธุรกิจที่มีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น Deep Tech, Infrastructure หรืออาจเป็นกลุ่มบริษัทที่ต้องการอยาก Spin-off จากบริษัทยักษ์ใหญ่
การที่จะทำให้บริษัทต่างชาติสนใจเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้จริงนั้น ต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขหลายด้าน ต้องให้สิทธิประโยชน์ที่จูงใจ เช่น ลดระยะเวลาการรอให้บริษัทต้องมีกำไร 3 ปี สำหรับต่างชาติที่ต้องการลิสต์ , แก้กฎหมายและภาษีให้จูงใจมากขึ้น รวมถึงให้ BOI เข้ามาช่วยสนับสนุน
โมเดลธุรกิจครอบครัว จากต่างประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่น่าสนใจในการดึงเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย แต่ทั้งนี้ต้องออกแบบกติกาให้เจ้าของธุรกิจยังสามารถคงอำนาจการควบคุมได้ผ่านการใช้ หุ้นบุริมสิทธิ ซึ่งเกณฑ์ต่างๆอาจต้องมีการปรับเกณฑ์จากทางก.ล.ต.ด้วย - ประธานบอร์ด ตลท.กล่าว
การมีบริษัทใหม่ ธุรกิจที่มีศักยภาพเข้ามาในตลาดจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทย ขณะเดียวกัน ตลท.ก็มีแนวคิดที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาในการแยกกระดาน trade กลุ่มธุรกิจ New Economy ด้วย
นอกจากนึ้ตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างการทำโครงการ Jump+ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทจดทะเบียน และเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทยมากขึ้น คาดว่ามีบริษัทเป้าหมาย 50-100 บริษัทเข้าร่วมเป็นการนำร่อง
ประธานบอร์ด ตลท.ยังเสนอให้ลดจำนวนโบรกเกอร์หรือบริษัทหลักทรัพย์ลงด้วย จากปัจจุบันมีอยู่ 39 ราย โดยเห็นว่าจำนวน 18 ราย น่าจะมีความเพียงพอ เพราะปัจจุบันผลประกอบการของ บล.หลายแห่งขาดทุน แย่งลูกค้ากันเอง หากควบรวมกันได้น่าจะเป็นประโยชน์
ส่วนบรรยากาศการลงทุนในหุ้นไทยขณะนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงแค่ไหน ประธานบอร์ดตลท.มองว่า เป็นแค่เพียงบาง Sector เท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนการซื้อหุ้นคืน หรือ Treasury Stock ตลท.ได้ร่วมกับ ธปท. และกระทรวงการคลังดูแล การซื้อหุ้นคืน มีการคการปลดล็อก ซึ่งเริ่มเห็นผลชัดเจนในช่วง ม.ค.–เม.ย. 2568 พบว่ามี 37 บริษัท ซื้อคืนหุ้นรวมเกือบ 6,000 ล้านบาท มากกว่าทั้งปี 2567 เสียอีก รวมถึงเตรียมแก้เกณฑ์ให้บริษัทซื้อหุ้นคืนได้ทีละ 10% และขยายระยะเวลาซื้อคืนจาก 3 ปี เป็น 5 ปี ซึ่งจะช่วยให้ PE ดีขึ้น และภายในเดือน พ.ค.นี้ การปรับปรุงเกณฑ์เพื่อผ่อนปรนกฎระเบียบโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน จะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ ซึ่งจะช่วยให้ บจ. มีการซื้อหุ้นคืนเพิ่มมากขึ้น
อีกภารกิจสำคัญคือการเร่งให้เกิด TISA (Thai Individual Saving Accoun) หรือระบบการออมระยะยาวในหุ้น โดยสามารถนำวงเงินการซื้อขายหุ้น โดยมีการกำหนดเงื่อนไข ให้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น ไม่จำกัดแค่การลงทุนผ่านกองทุนลดหย่อนภาษีเท่านั้น แต่รวมถึงหุ้นรายตัวได้ด้วย ขณะเดียวกัน TISA ก็อาจมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ส่งเสริมการออมให้กับผู้ลงทุนด้วยเช่นกัน เชื่อว่า จะช่วยเพิ่มเม็ดเงินให้กลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยได้
ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ เป็นผู้เสนอให้กระทรวงการคลังเดินหน้าแก้ไขกฎหมายตลาดทุนทีเดียว 10 ฉบับ แทนที่จะทำแบบแยกส่วน เพราะมองว่าหากไม่เปลี่ยนแปลงใหญ่ การพัฒนาตลาดทุนไทยอาจไปไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ตลท. กำลังเฟ้นหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีเพื่อร่วมพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยง และตรวจจับพฤติกรรมผิดปกติ
ขณะเดียวกัน เขายังเร่งรัดความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ทั้ง DSI, ก.ล.ต., ตำรวจ และ ปปง. ในการคลี่คลายคดีทุจริตตลาดทุน โดยเฉพาะกรณีอย่าง STARK และ MORE ที่ยังอยู่ในความสนใจของทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ
“ไม่ใช่แค่ STARK หรือ MORE ที่ต้องจัดการ แต่ต้องทำให้ไว เป็นกรณีศึกษา เพราะต่างชาติกำลังจับตา”
หนึ่งในความท้าทายสำคัญคือการสร้าง “ความเท่าเทียมในการซื้อขาย” เพื่อให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาน่าสนใจ ซึ่งที่ผ่านมา ตลท.ได้ดำเนินการไปแล้วคือเข้ามาทบทวนและปรับปรุงกฎเกณฑ์หลักหลายเรื่อง ทั้งเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกรรมซื้อขาย และธุรกิจหลักทรัพย์เช่น ออกมาตรการคุม Short Sell ให้โปร่งใสขึ้น , Uptick , Dynamic Price Band, ยกเว้น-ปรับเกณฑ์ HFT
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงเกณฑ์บริษัทจดทะเบียน เช่น การจัดกลุ่มบริษัทใน SET และ mai , กำหนดให้เป็น Investment Company ,การเปิดเผยข้อมูล ที่รวดเร็ว โปร่งใส สิ่งที่ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ให้ความสำคัญ คือ การหาพันธมิตรในการนำ AI มาใช้กำกับดูแลตลาดทุนให้โปร่งใสมากขึ้น
ส่วนที่กำลังดำเนินการ เช่น ปรับปรุง Floor หุ้นเข้าใหม่ช่วงซื้อขายแรก , Capped Weight หุ้นรายตัวดัชนี เช่น SET50/100, SET50FF/SET100FF ไม่เกิน 10% กำจัดภาพ หุ้น SET100 ที่สูงจากกลุ่ม HFT เสนอให้อนุญาต short เฉพาะหุ้นในดัชนี SET100 เท่านั้น เพื่อลดผลกระทบต่อรายย่อย เป็นต้น
แม้เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้น ตลาดหุ้นจะกลับไปถึงระดับ 1,700 ได้หรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้ แต่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ก็ชี้ชัดแล้วว่า "ตลาดหุ้นไทยไม่เหมือนเดิม" - ประธานบอร์ด ตลท.กล่าว