ช่วงเวลาแห่งการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2567 ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว และเราคงได้เห็นแล้วว่าในปีที่ผ่านมาสถานการณ์ของบริษัทจดทะเบียนในบ้านเราส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่แย่ลง มีกำไรที่ลดลง ไม่เว้นแม้แต่บริษัทขนาดใหญ่มากอย่าง “ปตท.” ที่เผชิญกับความท้าทายหลายด้าน จนในปี 2025 นี้เป็นปีที่ ปตท.ประกาศว่า จะเป็นปีแห่งการลงทุนที่ดี และเป็นปีที่จะต้องลดความเสี่ยงควบคู่กันไปด้วย
“ตั้งแต่ปี2025 เป็นต้นไปเราจะสร้างความมั่นคงเติบโตด้วยการลงทุนที่ดี เป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงและลดความเสี่ยงนะครับ การสร้างการเติบโตที่ก้าวกระโดด มีโอกาสน้อยกว่าการลงทุนแล้วอาจมีปัญหา ฉะนั้นตอนนี้สิ่งที่สําคัญคือเราต้องสร้างเสถียรภาพและความมั่นคง” คุณคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน กล่าว
SPOTLIGHT พามาดูแผนธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ว่าจากนี้ไปอะไรคือ กลยุทธ์สำคัญที่จะนำพาบริษัทพลังงานแห่งชาติของไทยนี้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป ท่ามกลางความท้าทายของอุตสาหกรรมพลังงานโลก
กลุ่ม ปตท. ทั้ง 7 บริษัทได้รายงานผลประกอบการปี 2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯแห่งเป็นที่เรียบร้อย และพบว่ามีกำไรสุทธิรวมกันทั้งกลุ่มอยู่ที่ 155,563.98 ล้านบาท ลดลง 29.62% จากปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิรวม 221,037.69 ล้านบาท
1.PTT กำไรสุทธิ 90,072 ล้านบาท ลดลง 19.6%
2.PTTEP กำไรสุทธิ 78,824.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.76%
3.TOP กำไรสุทธิ 9,958.63 ล้านบาท ลดลง 48.78%
4.OR กำไรสุทธิ 7,650.31 ล้านบาท ลดลง 31%
5.GPSC กำไรสุทธิ 4,062.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.97%
6.IRPC ขาดทุนสุทธิ 5,193.03 ล้านบาท ลดลง 77.65%
7.PTTGC ขาดทุนสุทธิ 29,810.55 ล้านบาท พลิกจากที่เคยทำกำไร 999.13 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา
ผลประกอบการจะเห็นได้ว่า ธุรกิจของ ปตท.สผ.และ GPSC เป็นธุรกิจยังคงมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง ที่ในเวลาเดียวกันภาพรวมผลประกอบการที่ลดลงสะท้อนถึงแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของราคาพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานโดยตรง
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า การทำธุรกิจในปัจจุบันการเติบโตแบบก้าวกระโดไม่ใช่เรื่องง่าย ความท้าทายของธุรกิจพลังงานในปัจจุบันที่ปตท. ต้องเผชิญมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบจากความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่เรากำลังมุ่งสู่พลังงานสะอาด การแข่งขันทางเศรษฐกิจ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะโลกร้อน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามในตะวันออกกลางและความตึงเครียดในเอเชีย
"เราต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ โดยเน้นที่ต้นทุนที่เหมาะสม และสร้างมูลค่าเพิ่มจากพลังงานที่มีอยู่ ไปสู่การต่อยอดในธุรกิจแก๊สและปิโตรเคมี เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขันในตลาดโลก" นายคงกระพัน กล่าว ดังนั้นสิ่งที่ ปตท.ต้องปรับคือแผนธุรกิจทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ระยะสั้น (ภายใน 3 ปี) จำนวนการลงทุนไม่มาก ความเสี่ยงต่ำ
ระยะกลาง
ระยะยาว
เมื่อธุรกิจพลังงานกำลังเปลี่นผ่านไปสู่ความยั่งยืนทำให้ ปตท.ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่อยู่ตลอดเวลา นอกจากกลุ่มพลังงานฟอสซิลที่มีความแข็งแรงอยู่แล้ว และธุรกิจพลังงานใหม่ๆที่ปตท.มีเป้าหมายลงทุน คือ พลังงานไฮโดรเจน และ CCS จะเป็นธุรกิจหลักใหม่ในอนาคต เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมรวมถึงเป้าหมายของประเทศไทยด้วย
CCS คือ เทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) จากกระบวนการผลิต เพื่อป้องกันการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ โดยปตท. มีแผนลงทุนในโครงการ CCS ทั้งในอ่าวไทยและโรงงานปิโตรเคมี เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในระยะแรก ปตท.จึงจะนำเข้าไฮโดรเจนจากต่างประเทศก่อน เช่น ตะวันออกกลางและอินเดีย ในรูปแบบแอมโมเนีย เพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยง รวมถึงหาพาร์ทเนอร์เพื่อเข้าไปลงทุนด้านพลังงานไฮโดรเจนในต่างประเทศก่อน
ส่วนในเป้าหมายระยะยาว คือการผลิตไฮโดรเจนภายในประเทศ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและต้นทุนต่ำให้ได้ ซึ่งทำให้ไฮโดรเจนอาจเป็นพลังงานที่แทนพลังงานก๊าซธรรมชาติในอนาคตได้
"การใช้ไฮโดรเจนในประเทศไทยอาจเริ่มจากการผสมในเชื้อเพลิงที่มีอยู่ เช่น ก๊าซธรรมชาติ และในระยะยาวอาจมีการเปลี่ยนมาใช้ไฮโดรเจนในสัดส่วนที่สูงขึ้น" นายคงกระพัน กล่าว