ปัจจุบันเรามีเครื่องมือการลงทุนให้เลือกมากมาย ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือการลงทุนยอดนิยม ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก คือ ‘กองทุนดัชนี’ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางการเงินในรูปแบบกองทุนรวม (Mutual Fund) หรือ ETF (Exchange Traded Fund) มีนโยบายบริหารกองทุนแบบ Passive ที่ให้ผลตอบแทนล้อไปกับดัชนีอ้างอิง เช่น S&P500 DJIA NASDAQ100 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือ CSI300 ของตลาดหุ้นจีน หรือ NIKKEI225 ของตลาดหุ้นญี่ปุ่น หรือ SET50 ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจในกองทุนดัชนีคือเมื่อดัชนีอ้างอิงเหล่านี้ปรับตัวขึ้น ผลตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อดัชนีปรับลดลง ผลตอบแทนก็จะลดลง เป็นเรื่องปกติของตลาดหุ้น มีทั้งขาขึ้นและขาลง
Invesco บริษัทจัดการลงทุน ทำวิจัยออกมาว่า ในช่วงพฤศจิกายน 2511 ถึงธันวาคม 2563 ช่วงดัชนี S&P500 เป็นขาขึ้นต่อเนื่องนานที่สุดอยู่ที่ 1,764 วัน หรือประมาณ 58 เดือน ขณะที่ช่วงดัชนีขาลงนานที่สุดอยู่ที่ 349 วัน หรือประมาณ 11-12 เดือน ส่วนผลตอบแทนสูงสุดช่วงขาขึ้นอยู่ที่ +180.04% ช่วงขาลงอยู่ที่ -36.34%
หากลงทุนนานถึง 30 ปี ผลตอบแทนของดัชนี S&P500 จะอยู่ที่ 10.7% ต่อปี…นี่คือ ความมหัศจรรย์ของการลงทุนแบบ Passive ในตลาดหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว
ดังนั้นถ้าคุณลงทุนในกองทุนดัชนีอย่างมีวินัย หมั่นเพิ่มทุนสม่ำเสมอในระยะยาว…จะมีผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นอย่างยั่งยืน เพราะเงินในพอร์ตทำงานได้อย่างเต็มที่ ผลตอบแทนสูงในช่วงขาขึ้น มักชดเชยการขาดทุนช่วงขาลงได้
สำหรับคนที่ไม่รู้เรื่องการเงินเชิงลึก ฟังแค่นี้ก็รู้สึกว่าน่าสนใจแล้วใช่ไหมครับ แต่ ETF ยังมีความน่าสนใจมากกว่านั้นครับ เพราะเป็นเครื่องมือการลงทุนที่เปิดทางให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงสินทรัพย์การลงทุนได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ตราสารหนี้และหุ้นในระดับประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลกนอกจากนี้ยังมี ETF หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม หุ้นธีมธุรกิจ และสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งยังขยายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคริปโทเคอร์เรนซี
เหนือไปกว่านั้นยังเป็นกองทุนที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหุ้น โดยไม่ต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หรือบริษัทจัดการลงทุน
ETF จึงเปรียบได้ว่าเป็นลูกผสมระหว่างหุ้นและกองทุนรวมเข้าด้วยกัน เพราะเป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนแบบ Passive ตามดัชนีอ้างอิง เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด เหมือนกับกองทุนรวมดัชนี แต่แทนที่จะประกาศราคาซื้อขายตอนสิ้นวันเหมือนกองทุนรวมที่กว่าจะรู้ราคาก็ต้องรอสิ้นวัน แต่ ETF จะซื้อง่ายขายคล่องบนกระดานหุ้นเช่นเดียวกับการซื้อขายหุ้นนั่นเอง
ปัจจุบัน ETF ขยายรูปแบบการลงทุนนอกเหนือจาก Passive ETF มาเป็น Active ETF รวมไปถึงหลักการลงทุนและนโยบายที่หลากหลายมากขึ้น ลองมาทำความรู้จักกับ ETF ในหลากหลายแง่มุมกันครับ
อย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว Passive ETF มีนโยบายลงทุนให้ผลตอบแทนเป็นไปตามดัชนีอ้างอิงที่ ETF กองนั้นระบุไว้ใน Fact Sheet (แผ่นข้อมูล) ปัจจุบันมีดัชนีอ้างอิงหลายร้อยหลายพัน ไม่ว่าจะเป็นดัชนีผลตอบแทนตราสารหนี้และดัชนีตลาดหุ้นในระดับประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลก นอกจากนี้หลายๆ สถาบันการเงินยังออกดัชนีหุ้นรายอุตสาหกรรม ดัชนีหุ้นธีมการลงทุน และดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์
หากคุณเลือกลงทุนใน Passive ETF คุณต้องมั่นใจว่า ตลาดการเงินการลงทุนและดัชนีอ้างอิงมีประสิทธิภาพที่จะสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว และความเสี่ยง คือ ตลาดหุ้นเป็นช่วงขาลง ผลตอบแทนจะน้อยลงตามกัน คุณทำเพียงเพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอ หรือ DCA (Dollar Cost Averaging) แล้วปล่อยให้เงินทำงาน สร้างมูลค่าให้เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ตามดัชนีอ้างอิง
Passive ETF จะมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย (Total Expense Ratio) ที่ต่ำมาก เพราะผู้จัดการกองทุนจะลงทุนตามดัชนีอ้างอิง ไม่ต้องติดตามดูกราฟราคาสินทรัพย์และปรับพอร์ตตลอดเวลา โดยคุณสามารถตรวจสอบได้ว่า Passive ETF ที่สนใจมี Total Expense Ratio เท่าไร ลงทุนอยู่ในสินทรัพย์อะไรบ้าง
ตัวอย่าง Passive ETF
ในปี 2563 มูลค่า AUM (Assets Under Management) ของ ETF ทั่วโลกอยู่ที่ 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจาก Passive ETF ระยะหลังเราได้เห็น Active ETF ออกมาเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน โดย Active ETF มีนโยบายลงทุนให้ผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง ดังนั้นผู้จัดการกองทุนจะจัดพอร์ตตามนโยบายที่ได้ระบุไว้ใน Fact Sheet
หากคุณเลือกลงทุนใน Active ETF คุณต้องมีแนวคิดที่ว่า ตลาดการเงินการลงทุนและดัชนีอ้างอิงไม่มีประสิทธิภาพ จึงต้องเลือกเครื่องมือการลงทุนที่จะทำผลตอบแทนชนะดัชนีอ้างอิง และความเสี่ยง คือ โอกาสที่ Active ETF จะมีผลตอบแทนแพ้ดัชนีอ้างอิง ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
เหมือนกับกองทุนรวมแบบ Active Fund (การบริหารจัดการเชิงรุก) ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมของ Active ETF สูงกว่าตาม Total Expense Ratio เพราะผู้จัดการกองทุนต้องติดตามสินทรัพย์ที่ลงทุนและปรับพอร์ต ETF ตลอดเวลา รวมไปถึงการซื้อขายสินทรัพย์ถี่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิง
ตัวอย่าง Active ETF
รูปแบบการลงทุนของ Passive ETF และ Active ETF จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเรื่องนโยบายการลงทุน ผลตอบแทนที่คาดหวัง การบริหารจัดการพอร์ต และค่าธรรมเนียม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจกับ Active ETF เช่นเดียวกัน ด้วยมูลค่า AUM ทั่วโลกในสัดส่วน 2.9% อยู่ที่ 303,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ้นปี 2563
ในความแตกต่างนี้ อยู่ที่ตัวคุณ ว่ามีเป้าหมายใช้เครื่องมือการลงทุนรูปแบบไหน ที่ตรงกับความต้องการและจริตการลงทุนของคุณ หากต้องการลงทุน Passive ETF เพื่อเติบโตในระยะยาวไปตามดัชนีอ้างอิงด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำ หากต้องการลงทุน Active ETF เพื่อผลตอบแทนชนะดัชนี ด้วยค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น
ปัจจุบันมี ETF อยู่เกือบ 8,000 กองทั่วโลก กลายเป็นเครื่องมือการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก มีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาลงทุนเรื่อยๆ เพราะเปรียบเสมือนหุ้นบนกระดานซื้อขาย และได้กระจายความเสี่ยงให้คุณได้ เพียงลงทุนแค่ ETF กองเดียว
อ่านมาถึงตรงนี้ ผมหวังว่าคุณพอจะแยกออกระหว่างสาย Passive ETF หรือ Active ETF ส่วนคุณจะเป็นสายไหนก็ขึ้นกับจริตของคุณเองแล้วล่ะครับ
สินทรัพย์ที่ ETF เข้าไปลงทุนมีมากมายหลายประเภท หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะสินทรัพย์การเงินที่มีความซับซ้อนและฟังดูเข้าถึงยาก ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ สกุลเงินต่างๆ แม้กระทั่งคริปโตเคอเรนซี่ก็กลายเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าถึงการลงทุนเหล่านั้นได้ ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการลงทุนให้กับนักลงทุนได้
ถ้ามีโอกาสผมจะมาลงลึกในเรื่อง ETF ที่เข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เหล่านั้น และวิธีการเลือกลงทุนใน ETF ที่จะช่วยให้คุณรู้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด