ข่าวเศรษฐกิจ

ส่งออกไทยเดือน ม.ค.67 ขยายตัว 10% โตแรงสุดในรอบ 18 เดือน

23 ก.พ. 67
ส่งออกไทยเดือน ม.ค.67 ขยายตัว 10% โตแรงสุดในรอบ 18 เดือน

ภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย ส่งสัญญาณฟื้นตัว หลังการส่งออกเดือน ม.ค.67 ขยายตัวได้  6 เดือนติดต่อกัน ลุ้นทั้งปีจะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวก 1-2% ได้หรือไม่ ท่ามกลางปัญหาความขัดแข้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 

นายกีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ 10.0 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 9.2  ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 25,407.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.6 ดุลการค้า ขาดดุล 2,757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ 

มูลค่าการค้าในรูปเงินบาทการส่งออก มีมูลค่า 784,580 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 890,687 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.8 ดุลการค้า ขาดดุล 106,107 ล้านบาท

การส่งออก ม.ค.67

การส่งออกของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ตามทิศทางการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับปัจจัยมูลค่าฐานการส่งออกต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อีกทั้งมีแรงหนุนจากการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบตามการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังคงขยายตัวสูง 

ส่งออกไทย

สินค้าส่งออกและตลาดสำคัญฟื้นตัวดี 

ทั้งนี้สินค้าส่งออก สำคัญของไทยสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวได้  9.2% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว3.8 % ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว10.3% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือนติด 

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญของไทยส่วนใหญ่ขยายตัวดี โดยตลาดหลักขยายตัว 10.5 % เช่น สหรัฐฯ 13.7%,จีน 2.1 %,ญี่ปุ่น  1.0 %,สหภาพยุโรป (27)4.5%,อาเซียน (5)18.1 %และ CLMV16.6% 

ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 8.8 % เช่นในตลาดเอเชียใต้ 0.04% ทวีปออสเตรเลีย  27.2 % ตะวันออกกลาง 2.9%และรัสเซียและกลุ่ม CIS 64.6%ขณะที่หดตัวในตลาดแอฟริกา  24.2%,ลาตินอเมริกา 4.0 % และสหราชอาณาจักร หดตัว  1.6% เป็นต้น  

ส่งออกไทย

แนวโน้มการส่งออกในปี 2567

การส่งออกไทยยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าตามภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัว การได้รับอานิสงส์จากมาตรการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายประเทศ และจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีความเข้มแข็ง 

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความไม่แน่นอนจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะเป็นอุปสรรคทางการค้าในระยะต่อไป โดยอุปสรรคการขนส่งที่เกิดจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางส่งผลในทางอ้อมทำให้อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้เศรษฐกิจคู่ค้ามีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะยังมีความผันผวน จากทิศทางการปรับเปลี่ยนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการติดตามประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการทำงานในการผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2567 ที่ร้อยละ 1 – 2 ต่อไป

ส่งออกไทย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT