ข่าวเศรษฐกิจ

บีโอไอเคาะมาตรการยกเว้นภาษี 3 ปี อุตฯ ยานยนต์ ยื่นขอภายในปี 67

10 พ.ย. 66
บีโอไอเคาะมาตรการยกเว้นภาษี 3 ปี อุตฯ ยานยนต์ ยื่นขอภายในปี 67

บอร์ดบีโอไอไฟเขียวมาตรการยกเว้นภาษี 3 ปี ยกเว้นภาษี 50% ของเงินลงทุนระบบอัติโนมัติหรือหุ่นยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ ขานรับนโยบายรัฐบาล โดยจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567 นี้ พร้อมจัดตั้งสำนักงานต่างประเทศ 3 แห่ง ในประเทศซาอุดิอาระเบีย จีน และสิงคโปร์ เร่งดึงการลงทุนอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของไทย

อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการส่งออก การจ้างงาน และจำนวนผู้ผลิตในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีจำนวนมากกว่า 2,300 ราย โดยปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยมีการผลิตรถยนต์มากถึง 1.9 ล้านคัน เป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน และอันดับ 10 ของโลกนั้น

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน ได้มีการประชุมและได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์นำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับการผลิตรถยนต์ 

ทั้งแบบสันดาปภายใน ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ครอบคลุมทั้งกิจการเดิมและการลงทุนใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ 

โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน  50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และในกรณีที่โครงการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในวงเงิน 100% ของเงินลงทุนในระบบ โดยจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567 นี้

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า “ ขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังก้าวสู่ช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่ มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ และสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีได้อย่างมั่นคง” 

9 เดือนอุตฯ ยานยนต์ส่งออกเป็นอันดับ 1 

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – กันยายน) มีมูลค่าการส่งออกรวม 1.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วน 14% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด มีแรงงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม 8 – 9 แสนคน และมีจำนวนผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานกว่า 2,300 ราย ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม แบ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์กว่า 20 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 1 (Tier 1) 530 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 2 (Tier 2) และลำดับที่ 3 (Tier 3) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 1,750 ราย

อนุมัติตั้ง สนง.ต่างประเทศ 3 แห่ง ดึงลงทุนเชิงรุก

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอ ยังได้อนุมัติจัดตั้งสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน และสิงคโปร์

โดยทั้ง 3 ประเทศ ถือเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญในการดึงการลงทุนมายังประเทศไทย โดยซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพด้านการลงทุนสูง เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ 

ขณะที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวนของจีน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญในภาคตะวันตกของจีน โดยจีนเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย และมีการเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

พร้อมทั้ง อนุมัติการเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสำนักงานบีโอไอ 4 แห่งในจีนและไต้หวัน เพื่อเร่งชักจูงการลงทุนเชิงรุกอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ เช่น Semiconductor, Printed Circuit Board (PCB) และยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น  

ทั้งนี้ ปัจจุบันบีโอไอมีสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ จำนวน 16 แห่ง ใน 12 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ญี่ปุ่น (2 แห่ง) จีน (3 แห่ง) ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา (2 แห่ง) ยุโรป (3 แห่ง) และออสเตรเลีย

เร่งแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกการลงทุน

อย่างไรก็ตาม นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ประธานบอร์ดบีโอไอ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการลงทุน (Ease of Investment) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน  

โดยบอร์ดได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของการประกอบธุรกิจ และการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐใน 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 

  1. การปลดล็อกธุรกิจบริการของคนต่างชาติในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ 
  2. การขยายขอบเขตและอำนวยความสะดวกในการทำงานของบุคลากรต่างชาติ 
  3. การแก้ปัญหาผังเมืองในพื้นที่อุตสาหกรรม 
  4. การจัดหาพลังงานสะอาด 
  5. การลดขั้นตอนในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้บีโอไอประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติคำขอรับส่งเสริมการลงทุนของบริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 2,991 ล้านบาท ตั้งที่จังหวัดสุโขทัย และบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 4,185 ล้านบาท ตั้งที่จังหวัดสระแก้ว โดยได้รับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ)

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT