Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เก็บ VAT ธุรกิจรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี สะกัดSME รายเล็กไม่ให้โต?
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เก็บ VAT ธุรกิจรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี สะกัดSME รายเล็กไม่ให้โต?

6 พ.ค. 68
14:44 น.
แชร์

เศรษฐกิจอยู่ในช่วงภาวะเปราะบาง การฟื้นตัวหลังโควิด-19ยังกลับมาแบบไม่เต็มร้อย แถมกำลังเจอความเสี่ยงจากสถานการณ์สงครามการค้า ที่คาดว่า จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
อย่างหนักโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 

การบริหารจัดการของรัฐบาล กำลังถูกจับตามองอย่างมาก เพราะมีความสำคัญต่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นความเสี่ยงหากเศรษฐกิจไทยทรุดตัว มีผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ เพราะปลายเดือนเมษายน 2568 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Ratings ได้ประกาศปรับลด แนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทย จาก “Stable” เป็น “Negative” โดยให้เหตุผล ถึงความเสี่ยงของฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง และความไม่ชัดเจนของวินัยการคลัง แผนบริหารหนี้สาธารณะ และประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐ โดยเฉพาะในบริบทที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญแรงกดดันจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งซ้ำเติมการส่งออกของไทยอีกขั้น 

เก็บ VAT รายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทปี ยังต้องทบทวนทั้งระบบ 

ล่าสุดแนวคิด การขยายฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้ครอบคลุมถึงธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์เดิม 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องเสีย VAT ของ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบที่อาจะเกิดขึ้นกับธุรกิจรายเล็ก ทำให้คุณพิชัย ระบุล่าสุดว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่าง "ทบทวนทั้งระบบ" การจัดเก็บ VAT โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการเลี่ยงภาษี และขยายฐานรายได้ของรัฐ 

แม้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่นายพิชัยเคยระบุว่า กลุ่มเป้าหมายของแนวคิดนี้คือธุรกิจที่มีรายได้อยู่ระหว่าง 1.5–1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปัจจุบันไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสีย VAT หากมีการปรับระบบใหม่ ธุรกิจกลุ่มนี้อาจต้องเสีย ภาษีแวตรูปแบบใหม่ในอัตรา 1% ของรายได้ โดยไม่สามารถเครดิตภาษีซื้อได้เหมือน VAT ปกติ แนวทางนี้คล้ายกับที่หลายประเทศในยุโรปใช้เรียกว่า "simplified VAT"

และหากนำระบบนี้มาใช้ อาจช่วยเพิ่มรายได้รัฐได้ถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี และทำให้ งบขาดดุลลดลงจาก 4.4% เหลือ 3.5% ของ GDP

นักเศรษฐศาสตร์ มองผลกระทบต่อธุรกิจรายเล็ก

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ นักเศรษฐศาสตร์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นผ่าน FB ส่วนตัว เกี่ยวกับกับแนวคิดการเก็บ VAT ในธุรกิจรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี ว่าโดยเสนอ 3 ประเด็นที่รัฐควรพิจารณาก่อนขยายฐาน VAT

1.ธุรกิจรายเล็ก "ไม่กล้าโต" เพราะกลัว VAT

งานวิจัยพบ ‘พฤติกรรมกองตัว’ (bunching) ของผู้ประกอบการ SME ที่จงใจจำกัดรายได้ให้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท งานวิจัยพบว่าธุรกิจจำนวนมากจงใจ "หยุดการเติบโต" เมื่อรายได้เข้าใกล้ 1.8 ล้านบาท และพยายามรักษารายได้ให้อยู่ในระดับเดิมหลายปีติดต่อกันเพื่อเลี่ยง VAT ผลที่ตามมาคือ ระบบภาษีกลายเป็นเพดานจำกัดการเติบโต แทนที่จะเป็นแรงสนับสนุน

2.ต้นทุนการเข้าระบบ VAT สูงเกินรับไหว

การเสีย VAT ไม่ใช่แค่จ่ายภาษี แต่ต้องมีการจัดทำระบบบัญชี ใบกำกับภาษี การยื่นแบบรายเดือน ฯลฯ ซึ่งเป็น ภาระเกินตัว สำหรับธุรกิจที่ไม่มีแผนกบัญชีเป็นทางการ โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่งจำนวนมากอยู่นอกระบบ VAT  การเสียภาษีกลายเป็นต้นทุนที่ทำให้แข่งขันไม่ได้ เพราะแข่งขันยากเมื่อต้องเก็บ VAT จากลูกค้า

3.ระบบ One Size Fits All ไม่เหมาะกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

ปัจจุบัน ทุกธุรกิจที่เข้าเกณฑ์ VAT ต้องปฏิบัติตามกฎเดียวกัน ไม่ว่าจะมีรายได้ 2 ล้านหรือ 200 ล้าน ซึ่งข้อดีคือ เราได้ระบบภาษีที่เรียบง่ายและชัดเจน แต่ “ความเท่าเทียม” แบบนี้อาจไม่เป็นธรรมกับธุรกิจเล็กที่ไม่มีทรัพยากรหรือบุคลากรเพียงพอในการจัดการภาระทางภาษีที่ซับซ้อน เปรียบเสมือนให้เด็กและผู้ใหญ่แบกกระเป๋าหนักเท่ากัน

หลายประเทศที่ต้องการขยายฐานภาษีไปที่ธุรกิจขนาดเล็ก มีการสร้างระบบ simplified VAT โดยเฉพาะ เช่น

• ลดความถี่การยื่นแบบเป็นรายไตรมาสหรือรายปี (แทนรายเดือนแบบปัจจุบันของไทย)

• ทำระบบเครดิตภาษีซื้อให้ง่ายขึ้น หรือใช้อัตราเหมา (Flat rate)

• ลดความซับซ้อนของเอกสารที่ต้องจัดทำ

ทั้งหมดนี้ช่วยให้การเข้าระบบ “ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว” สำหรับรายย่อย ช่วยลดแรงกดดันและจูงใจให้เข้าระบบ

รายได้จาก VAT คือรายได้หลักของรัฐบาล 

กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT รวบรวมข้อมูลของกระทรวงการคลังพบว่า ครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2568
(ต.ค. 67 – มี.ค. 68) การจัดเก็บรายได้ยังตามเป้าหมาย

  • รัฐจัดเก็บรายได้สุทธิรวมได้ 1.19 ล้านล้านบาท สูงกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย ทั้งปีตั้งเป้าเก็บรายได้ 2.8 ล้านล้านบาท
  • กรมสรรพากร ซึ่งเก็บ VAT เป็นหลัก ทำรายได้มากที่สุดถึง 966,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 75% ของรายได้รวมจากภาษี
  • โดย VAT เป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็น เกือบ 30% ของรายได้จากภาษีทั้งหมด

ทั้งนี้หาแยกย่อยดูรายได้ของกรมสรรพากรในปี 2568 ข้อมูลณวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2568 พบว่า
1.ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT เป็นรายได้ที่สูงที่สุดของกรมสรรพากร 408,322.34 ล้านบาท

2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล 178,400.18 ล้านบาท
3.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 169,715.64 ล้านบาท
4.ภาษีธุรกิจเฉพาะ 29,354.82 ล้านบาท 

ดังนั้น VAT คือหัวใจสำคัญของการคลังของประเทศเลยก็ว่าได้ การขยายฐาน VAT จึงเป็นแนวทางที่มีเหตุผลทางการคลัง แต่คำถามที่ต้องตอบให้ชัดคือ เราจะทำอย่างไรให้ "การเสียภาษี VAT " ไม่กลายเป็นกับดักขัดขวางความฝันของผู้ประกอบการรายย่อย?เพราะระบบภาษีอาจไม่เพียง "สะกัดการเติบโต" แต่ยัง “ผลัก” ธุรกิจจำนวนมากให้ อยู่นอกระบบ ต่อไป การปฏิรูปภาษีจึงไม่ควรหยุดแค่ “ขยายฐาน” แต่ต้องคิดให้ลึกถึง “พฤติกรรม” และ “แรงจูงใจ” ของผู้เสียภาษีด้วยเช่นกัน

แชร์
เก็บ VAT ธุรกิจรายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี สะกัดSME รายเล็กไม่ให้โต?