ข่าวเศรษฐกิจ

พายุหมุนทางเศรษฐกิจ ต้องมา ! เพราะค้าปลีกไทยยังซึม

31 ต.ค. 66
พายุหมุนทางเศรษฐกิจ ต้องมา ! เพราะค้าปลีกไทยยังซึม

ยอดขายค้าปลีกยังถูกกดดันจากกําลังซื้อที่ยัง ฟื้นตัวไม่เต็มที่ ....เวลานี้อาจต้องติดตามมาตรการกระตุ้น การใช้จ่ายของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะมีแนวทางอย่างไร

พายุหมุนทางเศรษฐกิจ ต้องมา ! เพราะค้าปลีกไทยยังซึม  

พายุหมุนทางเศรษฐกิจ

พายุหมุนทางเศรษฐกิจ ศัพท์คำนี้ทางพรรคเพื่อไทยนำมาใช้ในความหมายว่า ผลของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ดันเศรษฐกิจไทยให้โตเฉลี่ยได้ 5% ในช่วง 4ปีนี้ 

แต่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า นโยบายนี้อาจล่าช้ากว่าแผนเดิม คณะทำงานยังคงหาทางออก ปรับเงื่อนไขเพื่อเข็นให้พายุหมุนทางเศรษฐกิจนี้ ออกมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้จริง

 

คาดว่ายอดขายค้าปลีกน่าจะขยายตัวได้แค่ 4-5.0%

แม้ด้านหนึ่งนักเศรษฐศาสตร์ จะไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายเงินดิจิทัล 10 ,000 บาทแบบเดิม แต่หันกลับมาดูความเป็นจริงว่าเศรษฐกิจไทยต้องการกระตุ้นหรือไม่ ? ก็พบข้อมูลของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ที่ประเมินว่า ธุรกิจค้าปลีกไทยช่วงที่เหลือของปี 2566 ยังคงเผชิญแรงกดดันจากกำลังซื้อของประชาชนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และค่าครองชีพที่ยังสูง ท่ามกลางผลของราคาสินค้าบางรายการ เช่น หมวดอาหาร ที่ยังปรับเพิ่มขึ้น เท่าที่จะเป็นความหวังได้คือ ช่วงปลายปี อาจมีแรงหนุนจากเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็น High season ของการท่องเที่ยว  ประเมินยอดขายค้าปลีกไทยในปี 2566 จะขยายตัวราว 5.0% (YoY) โดยชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่โต 6.8% (YoY) 

 

รอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนค้าปลีก 2567 โต4-5%

พายุหมุนทางเศรษฐกิจ

สำหรับในปี 2567 ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่า ยอดขายค้าปลีกไทยในปี 2567 จะขยายตัวราว 4-5% (YoY) โดยยังคงมีแรงหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และราคาสินค้าบางรายการที่ปรับเพิ่มขึ้น ท่ามกลางรายได้ที่ยังไม่แน่นอนของผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุม

อย่างไรก็ตาม ยอดขายค้าปลีกไทยในปี 2567 อาจได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางล่างหรือกลุ่มฐานราก ซึ่งหากมาตรการดังกล่าวออกมาได้ทันเวลาและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายค้าปลีกได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 และฟุตบอลยูโร 2024 ก็เป็นโอกาสของธุรกิจค้าปลีกที่จะอาศัยจังหวะเวลาดังกล่าวทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เพื่อกระตุ้นยอดขายค้าปลีกให้เพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ค้าปลีกไทยจะยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกับสินค้าราคาย่อมเยาจากจีนที่เข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง และต้นทุนที่น่าจะสูงขึ้นหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นความท้าทายต่อความสามารถในการทํากําไรของธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะ SMEs 

 

รัฐบาลใหม่ ต้องเร่งออกนโยบาย ที่กระตุ้นการใช้จ่ายของประชน พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีก

 พายุหมุนทางเศรษฐกิจ

สำหรับโครงการต่างๆที่ รัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางล่างหรือกลุ่มฐานราก ซึ่งหากมาตรการดังกล่าวออกมาได้ทันเวลาและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายค้าปลีกได้มากขึ้น

โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะได้รับผลบวกมากกว่าพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากพบว่า ภาคอีสานมีจำนวนประชากรที่เข้าข่ายจะได้รับเงินดิจิทัล คิดเป็นสัดส่วนถึง 33% ของประชากรไทย อีกทั้งความหนาแน่นของร้านค้าต่อประชากรในพื้นที่ภาคอีสานยังน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ สะท้อนถึงการแข่งขันที่อาจรุนแรงน้อยกว่า จึงมีโอกาสที่ร้านค้าต่างๆ จะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค และสร้างยอดขายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ในกรณีที่กำหนดให้ประชาชนต้องกลับไปใช้เงินที่ภูมิลำเนา

นอกจากโครงการ กระตุ้นการใช้จ่ายของประชนแล้วรัฐบาลจะต้องออกนโยบาย ช่วยผู้ประกอบการค้าปลีกไทยด้วย เพราะเวลานี้ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าราคาย่อมเยาจากจีน และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่ง โดยเฉพาะหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นความท้าทายต่อความสามารถในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะ SME ของรัฐบาลชุดนี้

 

ผลโพลเผยประชาชนกว่า  49.53% สนับสนุนโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท

พายุหมุนทางเศรษฐกิจ

ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักโพลมหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ร่วมกับดีโหวต (D-vote) เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “คุณสนับสนุนให้มีโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทหรือไม่?” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ (49.53%) สนับสนุนโครงการนี้หากสามารถทำได้โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม แต่หากต้องกู้เงินเพิ่มก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง (33.86%) ที่ยังคงสนับสนุนโครงการนี้อยู่

และจากคำถามของ โพล ดีโหวต (D-vote)  ที่ว่า “คุณอยากใช้เงินดิจิทัล 10000 บาท ไปทำอะไรมากที่สุด”  ปรากฏผลโหวด ดังนี้

ประชาชนส่วนใหญ่ใช้เงินดิจิทัล 10000 บาท ไปทำอะไรมากที่สุด

  • 57.14% ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น กินอาหาร จ่ายค่าน้ำค่าไฟ 
  • 39.32% ไปชำระหนี้ ถัดมา 
  • 30.75% ซื้อของที่อยากได้ 
  • 24% ระบุว่าลงทุน หรือสร้างธุรกิจ
  • 18.91% นำเงินดิจิทัลไปแลกเป็นเงินสด (แม้จะต้องถูกเก็บค่าแลกก็ตาม)
  • 16.36% ซื้ออุปกรณ์ทำงาน เช่น ปุ๋ย เครื่องจักร คอมพิวเตอร์
  • 8.74% ระบุว่าท่องเที่ยว 
  • 6.50% ระบุว่ารวมเงินกับคนอื่นๆ มาพัฒนาชุมชน

ประชาชนส่วนใหญ่ มีแนวโน้มจะรวมเงินเป็นก้อนใหญ่หรือไม่

  • 40.23% ระบุว่าทำ โดยจะรวมกับครอบครัว เช่น นำไปสร้างธุรกิจ สร้างบ้าน 
  • 21.97% ระบุว่าไม่ทำ จะใช้คนเดียว 
  • 15.54% ระบุว่าทำ จะรวมกันภายในชุมชน 
  • 14.96% ระบุว่าทำ จะรวมกับเพื่อนหรือหุ้นส่วน 

ทั้งนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า ประชาชนที่มีรายได้น้อยกว่า 45,000 บาท มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนโครงการนี้มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า เนื่องจากกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่ขาด ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากขึ้น จากผลโพลนี้มีโอกาสที่โครงการเงินดิจิทัล จะเป็นอีก 1  ปัจจัยที่จะช่วย หนุนให้ค้าปลีกไทย มีโอกาสโตมากกว่า 4-5% ก็เป็นได้

***ผลการสำรวจดังกล่าวทำสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 23 ต.ค. 2566 ในกลุ่มประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยกระจายทุกช่วงอายุ ภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และระดับรายได้ทั่วประเทศ จำนวน 1,158 ตัวอย่าง

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  , สำนักโพลศรีปทุม-ดีโหวต

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT