ข่าวเศรษฐกิจ

Evergrande ยื่นล้มละลายแล้ว เหตุจ่ายหนี้ไม่ไหว ส่อฉุดภาคอสังหาฯ จีนล้ม

18 ส.ค. 66
Evergrande ยื่นล้มละลายแล้ว เหตุจ่ายหนี้ไม่ไหว  ส่อฉุดภาคอสังหาฯ จีนล้ม

เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของจีน ยื่นล้มละลายต่อศาลล้มละลายของรัฐนิวยอร์กแล้ว หลังประสบปัญหาผิดชำระหนี้ในปี 2021 และไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ หรือดำเนินธุรกิจมาชำระหนี้ได้ตามกำหนด ส่งสัญญาณสะเทือนทั้งวงการอสังหาฯ และเศรษฐกิจของจีนที่พึ่งพารายได้ของภาคอสังหาฯ ในระดับสูง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาริมทรัพย์เคยเป็นภาคส่วนที่สร้างความร่ำรวยและสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในระดับสูง โดยเป็นแหล่งสร้าง GDP ถึง 30% ของประเทศ แต่ในปี 2021 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อรัฐบาลจีนออกมาจำกัดการกู้ยืมเงินของภาคอสังหาฯ เพื่อลดความร้อนแรงในภาคส่วน และกดราคาบ้านที่เริ่มพุ่งสูงให้ลดลงภายใต้แนวคิด “บ้านมีไว้อยู่ ไม่ได้มีไว้เก็งกำไร”

นี่ทำให้บริษัทอสังหาฯ ในจีนจำนวนมาก รวมไปถึง ‘เอเวอร์แกรนด์’ อดีตบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ที่ใหญ่ที่สุดในจีนประสบปัญหาสภาพคล่อง จนทำให้เกิดการผิดชำระหนี้ ส่งผลกระทบไปเป็นทอดๆ ทั้งกับผู้ที่ถือหุ้นและหุ้นกู้ของบริษัท ผู้ที่ซื้อบ้านหรือที่พักของเอเวอร์แกรนด์ไว้ และผู้ที่ลงทุนกับผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามที่ผูกกับภาคอสังหาฯ

ใน 2 ปีที่ผ่านมา เอเวอร์แกรนด์ได้ที่มีความพยายามปรับโครงสร้างหนี้ และได้ประกาศแผนปรับโครงสร้างหนี้ในเดือนมีนาคม โดยเสนอจะออกหุ้นกู้ใหม่อายุ 10-12 ปีให้กับนักลงทุน หรือ ออกผลิตภัณฑ์หนี้ที่ผูกกับธุรกิจอื่นๆ ของเอเวอร์แกรนด์ เช่น ธุรกิจอีวี เพื่อระดมทุน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และยังมีปัญหาหนี้สินร้ายแรงอยู่ 
 
ซึ่งดูได้จากเอกสารแสดงสถานะทางการเงินที่เอเวอร์แกรนด์ยื่นให้กับหน่วยงานสหรัฐฯ ในปลายปี 2022 ที่ผ่านมา ที่ระบุว่า เอเวอร์แกรนด์และบริษัทที่เกี่ยวข้องมีหนี้รวมถึง 3.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 11.8 ล้านล้านบาท ทำให้เอเวอร์แกรนด์เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลก
 
โดยหลังจากยื่นล้มละลายไปแล้ว Reuters รายงานว่า ศาลจะเริ่มพิจารณาคดีในวันที่ 20 กันยายนนี้ และเจ้าหนี้ของเอเวอร์แกรนด์จะประชุมกันเพื่อหารือเรื่องแผนปรับโครงสร้างของบริษัทในปลายเดือนนี้ และคาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากศาลในฮ่องกงและหมู่เกาะบริติชเวอร์จิ้นในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน

 

การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์จะส่งผลต่อจีนและโลกอย่างไรบ้าง?

นักวิเคราะห์ มองว่า ในขั้นแรกการล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์จะส่งผลต่อสังหาริมทรัพย์ที่กำลังหดตัวอย่างแน่นอน ก่อนจะส่งผลต่อไปเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะภาคอสังหาฯ เป็นภาคส่วนที่ใหญ่มากของเศรษฐกิจจีน ซึ่งถ้าล้มไปจะส่งผลต่ออัตราการเติบโตของ GDP กระทบกับอัตราการจ้างงาน กระทบกำลังซื้อของประชาชน และลดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ต่ำอยู่แล้วให้ต่ำลงไปอีก

นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้เกิดวิกฤตในภาคการเงิน เพราะเครดิตความน่าเชื่อถือของบริษัทจีนจะลดลง ทำให้ธนาคารปล่อยกู้ให้ยากขึ้น และต้นทุนการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจในจีนขยายตัวไม่ได้เท่าที่ควร ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในทางตรง และส่งผลต่อความน่าลงทุนของสินทรัพย์จีนในทางอ้อม

ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา การลงทุนในภาคอสังหาฯ ของจีนลดลงถึง 8.5% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ในขณะที่เดือนกรกฎาคม ยอดขายบ้านใหม่ลดลงถึง 19% จากปีก่อนหน้า ราคาบ้านใหม่ลดลง 0.2%  และมีเพียง 20 เมืองจาก 70 เมืองเท่านั้นที่รายงานว่าราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้น จากในเดือนมิถุนายนที่มี 31 เมือง สะท้อนว่าอุปสงค์สำหรับที่อยู่อาศัยลดลงอย่างมากจนผู้ขายต้องลดราคาลงเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีบริษัทอสังหาฯ ของจีนอีกราย คือ Country Garden ที่กำลังมีท่าทีย่ำแย่เพราะขาดสภาพคล่องจนผิดชำระหนี้หุ้นกู้ในสกุลเงินดอลลาร์ถึง 2 รุ่น ซ้ำรอยกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเอเวอร์แกรนด์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยในปัจจุบันบริษัทนี้มีหนี้สินสูงถึง 1.4 ล้านล้านหยวน หรือราว 6.8 พันล้านบาท และมีโปรเจคก่อสร้างถึง 3,121 โปรเจคทั่วประเทศที่อาจจะต้องชะงักลงจากปัญหาในครั้งนี้

ดังนั้น ถึงแม้หลายๆ ฝ่ายจะมองเห็นลางมาได้ซักพักแล้วว่าเอเวอร์แกรนด์ไม่น่าจะรอดจากวิกฤตนี้ ยังไงกรณีเอเวอร์แกรนด์ล้มละลายก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคไม่มากก็น้อย เพราะวิกฤตความเชื่อมั่นนี้จะทำให้นักลงทุนไม่อยากลงทุนในภาคอสังหาฯ ของจีน ผู้บริโภคก็ไม่อยากซื้อเพราะเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้บ้านหากบริษัทล้มละลาย ถึงแม้ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนจะเริ่มผ่อนปรนนโยบายในภาคอสังหาฯ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย หรือลดอัตราเงินดาวน์สำหรับผู้ซื้อใหม่เพื่อกระตุ้นยอดขายมาบ้างแล้ว

โดยนอกจากวิกฤตสภาพคล่องในครั้งนี้แล้ว T Rowe Price บริษัทจัดการการลงทุนของสหรัฐฯ ยังคาดการณ์อีกว่า ภาคอสังหาฯ ของจีนจะซบเซาไปอีกนานจากปัญหาทางโครงสร้าง ทั้งอุปสงค์สำหรับที่อยู่อาศัยที่ลดลง จำนวนประชากรที่ลดลง และอัตราการเกิดเมืองที่ถดถอยลงจากสภาพเศรษฐกิจ

และปัญหาในภาคอสังหาฯ ของจีน อาจส่งผลต่อภาคอสังหาฯ ของทั่วโลกด้วย เพราะยอดขายบ้านในจีนคิดเป็นประมาณ 50% ของยอดขายบ้านทั้งโลก และมีมูลค่าตลาดถึงประมาณ 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

อ้างอิง: CNN, The Guardian, SCMP, Reuters



advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT