ข่าวเศรษฐกิจ

กนง.มติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เป็น 2.25% ต่อปี มีผลทันที

2 ส.ค. 66
กนง.มติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เป็น 2.25% ต่อปี มีผลทันที

คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.00% เป็น 2.25% ต่อปี ให้มีผลทันที เพื่อดูแลเงินเฟ้อในปีหน้าที่แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นจังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นดอกเบี้ย ผลจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

“เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้การส่งออกชะลอลงบ้าง แต่มองว่าเป็นระยะ ปี 2023 การส่งออกสินค้าจะเป็นลบ แต่ปีหน้าจะกลับมาเป็นบวก ตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจมาจากการท่องเที่ยวปีนี้ และปีหน้าคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงมองว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อในช่วงต่อไป โดยเฉพาะในปีหน้า” นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.(2 ส.ค.66)

กนง.ขึ้นดอกเบี้ย

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายการเงินควรดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน 

รวมทั้ง รักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้ 

กนง.ขึ้นดอกเบี้ย

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง จากฐานที่สูงปีที่แล้ว และการสนับสนุนค่าไฟฟ้า  โดย กนง. มองทะลุ และดูแนวโน้มเงินเฟ้อระยะข้างหน้าต่อไป อยู่ในระดับที่สูงกว่าในอดีต เป็นปัจจัยต้องติดตามต่อไป โดยเฉพาะราคาอาหารในโลก ชัดเจนว่าระดับสูง มาจากราคาพลังงานเป็นหลัก

แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มาจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวในระยะสั้น ส่วนหนึ่งตามเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวได้ช้า แต่คาดว่าจะปรับดีขึ้นในระยะข้างหน้าสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ทั้งจากภาคการส่งออกสินค้าที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมถึงสถานการณ์การเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากราคาในหมวดพลังงาน มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ และผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า แต่ประเมินว่า จะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหลัง และปัจจัยชั่วคราวทยอยหมดลง  

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงแต่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าในอดีต โดยมีความเสี่ยงด้านสูงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด ซึ่งอาจเร่งการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง

กนง.ขึ้นดอกเบี้ย

ต่อไปข้างหน้าเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนสูง

โดยประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองและแนวนโยบายเศรษฐกิจภาครัฐ ที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว

การลงทุนภาครัฐชะลอตัวลงไป น้ำหนัก คือ การลงทุนภาคเอกชนทั้งบริษัทในประเทศ และการลงทุนจากต่างประเทศ รอดูความชัดเจนต่อไป รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญอีกด้วย

ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเริ่มเป็นบวกแล้ว ก็เริ่มเข้าใกล้อยู่ระดับปกติ สะท้อนให้เห็นว่า ภาคการเงินได้เริ่มสะท้อนภาพเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้นแล้ว แต่ก็ต้องติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมในระยะต่อไป

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ การประชุมครั้งต่อไป อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้น หรือเป็นอย่างไรต่อไปก็ต้องรอดูสถานการณ์ข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงต่อไป ว่า ภาวะการเงินแบบไหนที่จะเหมาะสม แต่หลายๆ อย่างเริ่มปรับเข้าสู่ในจุดที่ลงตัว

แง่หนี้ครัวเรือนที่ระดับสูงเป็นเวลานานแล้ว สิ่งที่ กนง.ให้สอดคล้อง หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเฉพาะต้องใช้มาตรการอื่นเข้ามาช่วยเหลือที่ธปท.ออกไปแล้ว ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ และดูอย่างละเอียด

กรุงศรีชี้ดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% สูงสุดในรอบ 9 ปี ขึ้นมาแล้ว 7 ครั้ง

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี สู่ระดับ 2.25% ต่อปี สูงสุดในรอบ ปี ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565

โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาดอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านอาหาร อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงแต่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าในอดีต นอกจากนี้ กนงยังเน้นย้ำถึงแนวทาง การดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

ทั้งนี้ หลังการประกาศของ กนงค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ราว 34.33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยภาพรวมในปีนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 0.6% 

กนง. ย้ำว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวนจากแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด คาดการณ์เศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 27 กันยายน 2566 ซึ่งจากถ้อยแถลงของ กนง. ในวันนี้บ่งชี้ว่า การลำดับความเสี่ยงของแต่ละปัจจัยค่อนข้างสมดุลมากขึ้น โดยระบุถึงความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ทั้งในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ภาคการส่งออกสินค้าที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ

ดังนั้น กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยังคงคาดการณ์ว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายในวัฎจักรนี้

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT