ข่าวเศรษฐกิจ

5 โจทย์ท้าทายของรัฐบาลใหม่ ต่อเศรษฐกิจไทย หวั่นภาวะการคลังเพิ่ม

17 พ.ค. 66
5 โจทย์ท้าทายของรัฐบาลใหม่ ต่อเศรษฐกิจไทย หวั่นภาวะการคลังเพิ่ม

โจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ นับจากนี้เรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มีความท้าทายใน 5 ประเด็น ทั้งระยะสั้นและระยะกลาง ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปข้างหน้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย  นำเสนอประเด็นเตรียมความพร้อมสำหรับรัฐบาลใหม่ ดังนี้

โจทย์ที่ 1  : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมีโจทย์เรื่อง “ภาระการคลังเพิ่ม” ท่ามกลางนโยบายทางเศรษฐกิจที่ใช้หาเสียง จะเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือด้านรายได้ให้กลุ่มเปราะบาง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การบรรเทาภาระการครองชีพจากราคาพลังงานที่สูง ซึ่งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และหากสามารถดำเนินการได้ก็จะส่งผลบวกต่อ GDP ในระยะสั้น

แต่ประเด็นภาระการคลังที่เพิ่มขึ้นก็จะเป็นโจทย์ที่ตามมา เนื่องจากหากแหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ มาจากการจัดสรรงบประมาณใหม่ คงสามารถทำได้เพียงระดับหนึ่ง และคาดว่าไม่น่าจะเพียงพอ หรือใช้รายได้รัฐบาลจากการเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น อาจต้องรอระยะเวลาให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่ม คาดว่าคงไม่ทันเวลาที่จะต้องมีรายจ่าย ดังนั้น รัฐบาลใหม่คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญการกับการขาดทุนงบประมาณที่เพิ่มขึ้น

โจทย์ที่ 2  : โจทย์การคลังในภาวะต้นทุนดอกเบี้ยสูง และหากรัฐบาลยังขาดดุลเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นการแย่งทรัพยากรเงินทุนกับภาคเอกชนในช่วงจังหวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว โดยหากรัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณสูงกว่าเดิม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น อาจทำให้ต้นทุนการก่อหนี้เพิ่มขึ้น รัฐบาลก็จะมีภาระเพิ่มขึ้นด้วยในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คาดว่าจะอยู่ที่ราว 2.0% ต่อปี ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องพิจารณากระจายการก่อหนี้ให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ภาคเอกชนในจังหวะเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว

โจทย์ที่ 3  :  โจทย์เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ที่เริ่มเห็นการแบ่งโลกออกเป็นสองขั้วชัดเจนขึ้น การเลือกย้ายฐานการลงทุนจะเห็นการแบ่งแยกขั้วมากขึ้น เห็นได้จากห่วงโซ่อุปทานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แล้ว และในอนาคตจะเห็นการแบ่งขั้วที่ชัดเจนขึ้นและขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ และอาจมีผลกระทบมายังการส่งออกของไทย และการเดินหน้าจับคู่ลงทุนและการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ สำหรับไทยยังเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่

โจทย์ที่ 4  : โจทย์ใหญ่เชิงโครงสร้างประชากร ที่มีสังคมผู้สูงอายุและจำนวนประชากรที่ลดลง จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ในฐานะแหล่งลงทุนจนถึงการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล การรับมือกับโจทย์สังคมผู้สูงอายุ นอกจากมีความเกี่ยวพันกับปัญหาแรงงาน ทั้งในเรื่องของความเพียงพอของจำนวนแรงงาน และสอดคล้องกับทักษะแรงงานและความต้องการของตลาด รวมถึงการบริหารแรงงานต่างด้าวด้วย

นอกจากนี้ ยังมีโจทย์การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านการสร้างรายได้ การปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มที่มีหนี้อยู่แล้ว การสร้างวินัยการออมที่ต้องผลักดันโจทย์การออมให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 

โจทย์ที่ 5  : โจทย์ด้านนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ โดยมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมกำลังกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) รูปแบบหนึ่งที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในเวทีการค้าโลก 

รวมถึง ในอนาคตจะมีผลต่อการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (อียู) หรือ CBAM ที่จะเริ่มให้ผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมที่กำหนดรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะนำเข้าไปในอียูในเดือนตุลาคม 2566 นี้ และจะเริ่มเก็บจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป 

โดยปัจจุบันผู้ประกอบการที่เริ่มเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการเหล่านี้ จำกัดอยู่ที่ธุรกิจรายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างความตื่นตัวสำหรับกิจการขนาดเล็กลงไป หรือกิจการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานภายในประเทศให้ชัดเจน สอดคล้องกับการดำเนินการสากลเพื่อให้ง่ายและเอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจซึ่งอาจเป็นมาตรการทางภาษี แต่ก็ย่อมซ้ำเติมปัญหาสถานะทางการคลังในอนาคต

โจทย์เหล่านี้ คงต้องเป็นประเด็นด้านการแบกรับต้นทุนส่วนเพิ่มของผู้ประกอบการ และแรงกดดันต่อรัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้นกว่ามาตรการภาคสมัครใจอย่างยากจะหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นำเสนอมาเป็นการรวบรวมประเด็นด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ คงต้องรอความชัดเจนในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีใหม่ต่อไป

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT