ข่าวเศรษฐกิจ

มือถือคนไทยรั่ว 13.5ล้านเบอร์ Whoscall ชี้สายมิจฉาชีพพุ่ง 17ล้านครั้ง

3 เม.ย. 66
มือถือคนไทยรั่ว 13.5ล้านเบอร์ Whoscall ชี้สายมิจฉาชีพพุ่ง 17ล้านครั้ง
ไฮไลท์ Highlight
  • เบอร์มือถือรั่วในไทยกว่า 45% หรือ 13.5 ล้านเบอร์ 
  • ยอดสายมิจฉาชีพพุ่ง 165% หรือ 17 ล้านครั้ง 
  • 7 ใน 10 ครั้งของ SMS เป็นข้อความหลอกลวง 
  • มิจฉาชีพใช้ SMS ติดต่อครั้งแรก

จากกรณีผู้ใช้งานบัญชี “9near” ได้โพสต์ขายข้อมูลที่อ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนตัวของคนไทยกว่า 55 ล้านรายการ บนเว็บไซต์ Bleach Forums โดยอ้างว่าได้มาจากหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งในไทย (Somewhere in government) และโพสต์ ตัวอย่างไฟล์ ซึ่งมี ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ วันเกิด เบอร์โทรศัพท์ และเลขประจําตัวประชาชน รวมทั้งมีการโพสต์ ลักษณะข่มขู่หน่วยงานและประชาชนในวงกว้างนั้น

เบอร์มือถือรั่ว

ล่าสุด Whoscall ผู้นำด้านแอปพลิเคชันระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก และป้องกันสแปม สำหรับสมาร์ทโฟน ได้ออกมาเปิดเผยสถิติสำคัญครั้งแรก ว่า จำนวนการรั่วไหลของเบอร์โทรศัพท์ในประเทศไทยกว่า 45% หรือ 13.5 ล้านเบอร์  การรั่วไหลของเบอร์โทรศัพท์เป็น ปัญหาสำคัญทั่วโลก รวมถึงการหลอกลวงทางข้อความ SMS ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง      

ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนตัวที่รั่วไหลมักเป็นด่านแรกที่มิจฉาชีพใช้เข้าถึงรายละเอียดการติดต่อเพื่อหลอกลวงเหยื่อ  ซึ่งรหัสผ่าน เบอร์โทรศัพท์ และชื่อ เป็นข้อมูลส่วนตัว ที่มีการรั่วไหลมากที่สุด ตามด้วยสัญชาติ อีเมล ที่อยู่ และวันเกิด

สำหรับประเด็นการรั่วไหลอาจเกิดขึ้นจาก ฐานข้อมูลขององค์กรหรือรัฐบาลถูกโจมตีทางไซเบอร์ หรือเมื่อผู้ใช้กรอกแบบสำรวจ แบบทดสอบทางจิตวิทยา หรือแบบฟอร์มในเว็บไซต์ฟิชชิ่ง 

ข้อมูลรั่ว

โดยข้อมูลที่รั่วไหลแต่ละประเภทอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น บัญชีธนาคารออนไลน์หรือบัญชีโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาจถูกขโมยได้หากรหัสผ่านรั่วไหล หรือในกรณีที่มิจฉาชีพได้ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ แม้แต่บันทึกการชำระเงินและการซื้อของ ก็จะสามารถใช้หลอกลวงทางโทรศัพท์และข้อความ SMS ได้อย่างง่ายดาย เพื่อป้องกันภัยจากมิจฉาชีพเราจึงควร ใช้การยืนยันตัวตนแบบสองขั้น (Two-Factors Authentication) เมื่อใช้บริการออนไลน์ เปลี่ยนรหัสผ่านที่รัดกุมเป็นประจำ 

มิจฉาชีพ

Whoscall ได้ออกรายงานประจำปี 2565 เผยยอดสายมิจฉาชีพพุ่ง 165% หรือ 17 ล้านครั้ง 

ประเทศไทยการหลอกลวงยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง คนไทยยังต้องรับสายจากมิจฉาชีพเพิ่มขึ้น 165% หรือ 17 ล้านครั้ง

ขณะที่ทั่วโลกมีการหลอกลวงทั้งจากสายโทรเข้าและข้อความ SMS รวม 405.4 ล้านครั้ง 

เบอร์มือถือรั่ว

“ ภัยคุกคามจากการหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อต้านการทุจริต (Anti-Fraud Prevention) จากข้อมูลของ Fortune Business Insight อุตสาหกรรมนี้คาดว่า จะมีมูลค่าถึง 129.2 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2572 ด้วยอัตราการเติบโตต่อปีที่ 22.8% จากการเพิ่มขึ้นของเอไอแบบรู้สร้าง (Generative AI) และช่องโหว่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลขององค์กร คาดว่าจะมีการใช้เทคโนโลยี เพื่อหลอกลวง และเกิดผลเสียทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต” แมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Gogolook กล่าว

แมนวู จู กล่าวอีกว่า “เพื่อต่อสู้กับการหลอกลวงที่เพิ่มขึ้น Gogolook กำลังร่วมมือ กับพันธมิตรหลายแห่งในประเทศไทยและทั่วโลก พัฒนาโซลูชันส์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้ โดยมี เป้าหมายเพื่อป้องกันการหลอกลวงอย่างครอบคลุมและมอบความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ Whoscall”  

7 ใน 10 ครั้งของ SMS เป็นข้อความหลอกลวง

ข้อมูลรั่ว

ด้านฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Gogolook กล่าวว่า “ สถิติที่น่าตกใจว่า 7 ใน 10 ครั้งของข้อความ SMS ที่คนไทยได้รับเป็นข้อความสแปมและข้อความหลอกลวง หรือคิดเป็น 73% ของข้อความที่ได้รับทั้งหมด”

สำหรับยอดสายโทรศัพท์หลอกลวงพุ่งขึ้น 165% จาก 6.4 ล้านครั้งในปี 2564 เป็น 17 ล้านครั้งในปี 2565  ภัยเหล่านี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง Whoscall จึงมุ่งมั่นสร้างความตระหนักรู้ให้คนไทย เห็นความสำคัญของการป้องกันการถูกหลอกลวง การรู้ทันทั้งกลอุบายของมิจฉาชีพและรู้ทันว่าใครโทรมาจะสามารถช่วยให้ คนไทยป้องกันตนเองจากการหลอกลวงได้

มิจฉาชีพใช้ SMS ติดต่อครั้งแรก

Whoscall

โดยมิจฉาชีพนิยมส่งข้อความหลอกลวงเนื่องจากสามารถเข้าถึงเหยื่อจำนวนมากด้วยต้นทุนต่ำ ข้อความ SMS ถูกใช้เป็น เครื่องมือเพื่อ "ติดต่อครั้งแรก" โดยหลอกให้เหยื่อกดลิงก์ฟิชชิ่งเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว เพิ่มบัญชีไลน์เพื่อหลอกให้ส่งข้อมูลหรือ โอนเงินให้ กลอุบายที่พบบ่อย ได้แก่ 

  • การเสนอเงินกู้โดยมักอ้างรัฐบาลหรือธนาคาร  
  • การให้สิทธิ์เข้าตรงเว็บพนันออนไลน์ ที่ผิดกฎหมาย  

สำหรับคีย์เวิร์ดของข้อความหลอกลวงที่ถูกรายงานที่พบบ่อยที่สุด เช่น 

  • “รับสิทธิ์ยื่นกู้” 
  • “เครดิตฟรี” 
  • “เว็บตรง” 
  • “คุณได้รับสิทธิ์” 
  • “คุณได้รับทุนสำรองโครงการประชารัฐ” 
  • “คุณได้รับสิทธิ์สินเชื่อ” 
  •  “คุณคือผู้โชคดี”   

 รูปแบบและประเด็นหลอกเปลี่ยนไปตามสถานการณ์แต่ละประเทศ

รูปแบบและประเด็นการหลอกลวงถูกปรับเปลี่ยนไปตาม บริบทของแต่ละประเทศ จากการค้นหาและระบุการหลอกลวง (รวมการโทรและข้อความ) ต่อผู้ใช้ Whoscall 1 คน ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ที่มีข้อความและสายโทรเข้าหลอกลวง เฉลี่ย 33.2 ครั้งต่อปี (เพิ่มขึ้น 7%) ขณะที่ไต้หวันมี 17.5 ครั้ง (ลดลง 20%) และมาเลเซีย 16.5 ครั้ง  (เพิ่มขึ้น 15%) ตัวเลข ดังกล่าวตอกย้ำว่าการหลอกลวงนั้นยังคงแพร่หลายไปยังหลายประเทศ

กลหลอกลวงใหม่ๆ ในประเทศไทยมักเกิดขึ้นตามความสนใจและเทรนด์ต่างๆ ขณะนี้ข้อความ SMS และสายหลอกลวง ที่เกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ หลอกส่งพัสดุเพื่อเก็บเงินปลายทาง  หลอกเป็นกรมทางหลวง หลอกให้คลิกไปเล่นพนันออนไลน์  หลอกว่ามีงาน part time  หลอกว่าได้รางวัลจาก TikTok และแพลตฟอร์มต่างๆ  มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ บริการออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การหลอกลวงจึงเพิ่มขึ้น โดยไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง Whoscall ขอแนะนำให้คนไทยปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้เพื่อป้องกันตนเองจากเหล่ามิจฉาชีพ :

  • อย่าคลิก : หากคุณได้รับลิงก์ใน SMS อย่าคลิกลิงก์นั้น โดยเฉพาะข้อความที่มาจากธนาคารหรือหมายเลขที่ไม่รู้จัก เนื่องจาก ปัจจุบัน มีข้อห้ามไม่ให้ธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศไทยส่งลิงก์ทาง SMS ให้กับลูกค้าโดยตรง
  • อย่ากรอก : หากได้รับ SMS เพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือขออัปเดตชื่อผู้ใช้/รหัสผ่าน หรือข้อมูลทางการเงินที่มีลิงก์ไปยัง เว็บไซต์ ที่น่าสงสัย อย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคลใดๆเด็ดขาด
  • อย่าเพิกเฉย : ผู้ใช้สามารถช่วยกันต่อต้านกลโกงและหลอกลวงทางโทรศัพท์ โดยการรายงานเบอร์โทรศัพท์ที่น่าสงสัย หรือหลอกลวง ทางแอปพลิเคชัน Whoscall เพื่อป้องกันและช่วยส่งคำเตือนไปยังกลุ่มผู้ใช้รายอื่น

เกี่ยวกับ Gogolook

Gogolook เป็นบริษัทผู้ให้บริการทางด้านเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 โดยมีพันธกิจหลักคือสร้างความเชื่อมั่น “Build for Trust” ให้บริการทางด้านการสื่อสารในหลายรูปแบบเพื่อมุ่งเน้นการต่อต้าน การฉ้อโกง รวมถึงบริการการจัดการความเสี่ยง (Risk Management as a Service) บริการด้านFin-Tech บริการ Software-as-a-Service (SaaS) และ Web3 โดยบริษัท Gogolook ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data-driven)  ในการสร้างระบบเครือข่ายการต่อต้านการฉ้อโกงและการบริหารจัดการในด้านความเสี่ยง เพื่อการสื่อสารที่เราทุกคน สามารถเชื่อมั่นและไว้วางใจได้ทั่วโลก

นอกจากนี้ Gogolook ยังได้ร่วมมือกับสถาบันต่างๆ มากมาย เช่น สำนักงานสืบสวนคดีอาญาของสำนักงานตำรวจ แห่งชาติไต้หวัน สำนักงานกำกับดูแลทางการเงินเกาหลีใต้ หน่วยเฉพาะกิจตำรวจไซเบอร์ประเทศไทย รัฐบาลเมืองฟุกุโอกะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซียและรัฐบาลแห่งรัฐสลังงอร์ เพื่อต่อสู้กับการฉ้อโกง และท้ายที่สุดคือการสร้างเครือข่าย การสื่อสารที่น่าเชื่อถือ ซึ่งมีฐานข้อมูลจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เกี่ยวกับ Whoscall

Whoscall มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 100 ล้านครั้งและฐานข้อมูลมากกว่า 1.6 พันล้านหมายเลขโทรศัพท์ ทีมงาน Whoscall ทุ่มเทให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันการหลอกลวงด้วยเทคโนโลยี AI และการวิเคราะห์ข้อมูล Whoscall จึงสามารถ ระบุเบอร์โทรและแจ้งเตือนสายโทรเข้าที่น่าสงสัย เช่น การหลอกลวงและสายก่อกวน ขณะเดียวกัน Whoscall ยังสามารถ เตือนผู้ใช้ไม่ให้พลาดสายสำคัญ และยังช่วยสแกนลิงก์จากข้อความ SMS ที่อาจเป็นอันตราย สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Whoscall ได้ฟรีจาก App Store และ Google Play Store ที่ลิ้งค์ https://whoscallthailand.onelink.me/1Ffj/downloadnow

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT