ข่าวเศรษฐกิจ

FED ขึ้นดอกเบี้ยแรงตามคาด 0.75% รอบที่ 4ของปี ยิ่งทิ้งห่างดอกเบี้ย

28 ก.ค. 65
FED ขึ้นดอกเบี้ยแรงตามคาด 0.75% รอบที่ 4ของปี ยิ่งทิ้งห่างดอกเบี้ย
ไฮไลท์ Highlight

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% มาอยู่ที่ 2.25-2.50% ซึ่งนี่คือระดับดอกเบี้ยที่สูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี หรือนับจากธันวาคม 2561  เป้าหมายของเฟดคือ จะพยายามทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับลงมาที่ 2% จากปัจจุบันเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ สูง 9.10% สูงสุดในรอบ 40 ปี ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน) ก็สูง 5.90% การที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยแรง ต่อเนื่อง  อยู่ที่  2.25-2.50%  ยิ่งทำให้ดอกเบี้ยเฟด สูงกว่าหลายประเทศในโลก รวมถึงไทยด้วยที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50%

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% มาอยู่ที่ 2.25-2.50% ซึ่งนี่คือระดับดอกเบี้ยที่สูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี หรือนับจากธันวาคม 2561  ถือเป็นการดำเนินการที่เข้มงวดที่สุดของเฟด นับตั้งแต่ที่เฟดกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเครื่องมือสำคัญด้านนโยบายการเงินในช่วงทศวรรษ 1990

 

เป้าหมายหลักของการขึ้นดอกเบี้ยแรงของเฟดคือ จะพยายามทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับลงมาที่ 2% จากปัจจุบันเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ สูง 9.10% สูงสุดในรอบ 40 ปี ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน) ก็สูง 5.90%  

 

เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด
ภาพ AFP หลังแถลงการประชุมเฟด
เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve’s Balance Sheet) ซึ่งมีการเผยแพร่ในเดือนพ.ค.  รวมจำนวน 4.75 หมื่นล้านดอลลารสหรัฐ/เดือน  หลังจากที่ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. และนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เฟดจะเพิ่มวงเงินในการลดขนาดงบดุลเป็น 2 เท่า สู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน  โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

 

มุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ  มีสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับการใช้จ่ายและการผลิตชะลอตัวลงเมื่อไม่นานมานี้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงภาวะไร้สมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ อันเป็นผลมาจากโรคระบาด, ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง

 

การที่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครนนั้น กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งประชาชนและเศรษฐกิจ โดยสงครามในยูเครนและเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กำลังเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งคณะกรรมการ FOMC ให้ความสนใจเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก

 

ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการจะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการจะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการจะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ

 ภาพ AFP หลังแถลงการประชุมเฟด เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด

 

สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวล ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, มิเชล เอส บาร์, มิเชล ดับเบิลยู โบว์แมน, ลาเอล เบรนาร์ด, เจมส์ บูลลาร์ด, ซูซาน เอ็ม คอลลินส์, ลิซา ดี คุก, เอสเธอร์ แอล จอร์จ, ฟิลิป เอ็น เจฟเฟอร์สัน, ลอเร็ตตา เจ เมสเตอร์ และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์

 

การที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยแรง ต่อเนื่อง  อยู่ที่  2.25-2.50%  ยิ่งทำให้ดอกเบี้ยเฟด สูงกว่าหลายประเทศในโลก รวมถึงไทยด้วยที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50%  ส่งผลให้เกิดกระแสเงินไหลออกไปสหรัฐฯที่ดอกเบี้ยสูงกว่า ต่อเนื่องทำให้เงินบาทอ่อน กระทบทำให้ไทยนำเข้าพลังงานยิ่งแพงขึ้นจากค่าเงินที่อ่อนลง ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกแต่อาจจะไม่ขึ้นแรงเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา

 

ส่วนประเทศไทย กนง.จะประชุมวันที่ 10 สิงหาคมนี้ คาดการณ์ว่า กนง.จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยราว 0.25 – 0.50% เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อไทยที่สูงขึ้น   และลดความห่างของดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯให้แคบลง

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT