ข่าวเศรษฐกิจ

แบรนด์ไหนบ้างที่ "ไม่ทิ้งรัสเซีย"

8 มี.ค. 65
แบรนด์ไหนบ้างที่ "ไม่ทิ้งรัสเซีย"

ท่ามกลางมหากาพย์การคว่ำบาตรของรัฐบาล และการถอนการลงทุนรายวันจากภาคเอกชน แต่ก็ยังมีบางแบรนด์ที่ยังยืนหยัด "อยู่ต่อในรัสเซีย" บ้างก็ประกาศเจตนารมย์ชัดเจน บ้างก็อยู่ต่ออย่างเงียบๆ แต่โดยรวมแล้ว แบรนด์เหล่านี้ส่นใหญ่จะเป็นแบรนด์สินค้าอุปโภค-บริโภค ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนชาวรัสเซียโดยตรง และอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน

 
 
ทีมข่าว SPOTLIGHT รวบรวมข้อมูล 6 แบรนด์ระดับโลก ที่ปักหลักอยู่ทำธุรกิจต่อในแดนหมีขาว ดังนี้
 
 
 
Uniqlo
 
แบรนด์เสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดจากประเทศญี่ปุ่น เป็นรายล่าสุดที่สวนกระแสโลก โดยนาย ทาดาชิ ยาไน ซีอีโอของ Fast Retailing Co. ซึ่งเป็นบริษัทแม่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้ายูนิโคล่ (Uniqlo) ตอบคำถามเว็บไซต์นิกเกอิ ว่า บริษัทตัดสินใจจะไม่ถอนการลงทุนออกจากรัสเซียตามกระแสของเอกชนตะวันตก พร้อมยืนยันว่า จะยังคงเดินหน้าให้บริการในรัสเซียต่อไป แม้นานาชาติจะกดดันให้ถอนการลงทุนเพื่อลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียก็ตาม
 
000_1l08dn
 
“เสื้อผ้าเป็นสิ่งของจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต และชาวรัสเซียก็มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่เช่นเดียวกับพวกเรา” นายยาไน กล่าว
 
ทั้งนี้ ยูนิโคล่ซึ่งมีสาขาในรัสเซีย 50 แห่ง ยังเป็นบริษัทเสื้อผ้าเพียงไม่กี่รายที่ "ไม่คว่ำบาตร" การใช้ฝ้ายจากมณฑลซินเจียงของจีน ตามที่หลายแบรนด์ เช่น H&M และ Nike ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ตามแรงกดดันของสหรัฐและชาติตะวันตก โดยยูนิโคล่ยืนยันว่า ไม่ปรากฏหลักฐานการบังคับใช้แรงงานในซัพพลายเชนผ้าฝ้ายจากซินเจียง
 
 
 
Coca-Cola
 
000_arp3311179
อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน พร้อมภริยา ฮิลลารี คลินตัน และผู้จัดการโคคาโคล่ารัสเซีย ดื่มโค้กโชว์สื่อระหว่างเดินทางเยือนโรงงานโคคาโคล่าในกรุงมอสโก เมื่อปี 1995


โคคาโคล่า ซึ่งเป็นแบรนด์ที่บริษัทของ วอร์เรน บัฟเฟต ถือหุ้นอยู่ ไม่ได้แถลงท่าทีโดยตรง แต่มีการรายงานข่าวในเว็บไซต์ Tass ของรัสเซีย โดยอ้างโฆษกของบริษัทผู้จัดจำหน่ายโคคาโคล่าในรัสเซีย (Coca-Cola HBC) ว่า บริษัทยังดำเนินงานเป็นปกติอยู่ ทั้งในด้านการผลิตและโลจิสติกส์ โดยบริษัทตระหนักในความรับผิดชอบต่อคู่ค้า สังคม และพนักงานอีกหลายพันชีวิตในรัสเซีย ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับความมั่นคงและปลอดภัยของพนักงาน
 
อย่างไรก็ตาม บริษัทโคคาโคล่าไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธข่าวนี้ แต่มีการออกแถลงการณ์เพียงแค่ว่า บริษัทได้บริจาคเงิน 1 ล้านยูโร ให้กับกาชาดยูเครน และบริษัทจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
 
ทางด้านปฏิกิริยาในยูเครน เริ่มมีการบอยคอตเกิดขึ้นบ้างแล้ว โดยเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตในยูเครนที่ชื่อว่า Novus ได้ประกาศถอนสินค้าออกจากร้าน และระงับการค้ากับโคคาโคล่าลงด้วย
 
 
 
Pepsi
 
บริษัท PepsiCo ไม่ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงถึงเหตุผลที่ยังอยู่ต่อในรัสเซีย และโฆษกของบริษัทก็ไม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่จากข้อมูลทั่วไปของบริษัทก็คือ PepsiCo เป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในรัสเซีย โดยมีการลงทุนไปหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ กับโรงงาน 3 แห่งในประเทศ และเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ประเทศนี้ทำรายได้ให้บริษัทถึง 3,400 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 4% ของรายได้บริษัททั้งหมด 79,400 ล้านดอลลาร์
 
000_dv1133115
 
PepsiCo นับเป็นบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคจากสหรัฐ "รายแรก" ที่เข้าไปผลิตและขายในรัสเซียตั้งแต่ยังเป็นสหภาพโซเวียต ประมาณช่วงต้นทศวรรษ 1970 โดยบริษัทลูกในรัสเซียยังได้สิทธิพิเศษให้เป็นผู้ทำตลาดวอดก้า รวมถึงได้สิทธิจำหน่ายแชมเปญ ไวน์ และบรั่นดีจากโซเวียต ในตลาดสหรัฐด้วย
 
 
 
McDonald's
 
แม็คโดนัลด์ส (McDonald's) เข้าไปเปิดสาขาแรกในรัสเซีย ที่จตุรัสพุชกิน กรุงมอสโก ในปี 1990 ท่ามกลางกระแสตอบรับที่ล้นหลาม โดยมีชาวรัสเซียต่อแถวรอซื้อเบอร์เกอร์กันมหาศาลถึง 3 หมื่นคน ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับสหรัฐหลังยุคสงครามเย็น ยังทำให้ชาวรัสเซียได้เห็นประธานาธิบดี มิคาอิล กอร์บาชอฟ ในโฆษณาของแบรนด์ดังอีกรายอย่าง Pizza Hut ในเวลาต่อมาด้วย
 
000_par7954275
แม็คโดนัลด์สมีสาขาทั่วรัสเซียมากถึง 847 แห่ง โดยทำรายได้เป้นสัดส่วนถึง 9% ของรายได้รวมบริษัท และ 3% ของกำไรจากการดำเนินงาน
 
 
 
Starbucks
 
เชนร้านกาแฟใหญ่อย่าง สตาร์บัคส์ (Starbucks) เป็นอีกรายที่ยังอยู่ในรัสเซีย โดยมีสาขาราว 130 แห่งทั่วประเทศ แม้ทางบริษัทจะประณามการใช้กำลังบุกยูเครนก็ตาม
 
000_par1497095
เควิน จอห์นสัน ซีอีโอของสตาร์บัคส์ ได้ระบุในแถลงการณ์ส่งถึงพนักงานทั่วโลกว่า บริษัทขอประณามการโจมตียูเครนที่ไร้ซึ่งเหตุผล ไม่ชอบธรรม และโหดร้าย นอกจากนี้ ยังจะมอบเงินที่ได้จากค่าสิทธิ (Royalty fee) ในรัสเซีย และบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ ในยูเครนด้วย
 
 
 
Yum Brands
 
หลายคนอาจจะไม่รู้จัก Yum Brands แต่ถ้าพูดถึงแบรนด์ในเครือคงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะนี่คือบริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ดังอย่าง KFC และ Pizza Huts ซึ่งเพียงแค่ร้านไก่ทอดกับพิซซ่าก็มีสาขาในรัสเซียมากถึงกว่า 1,050 สาขาทั่วประเทศแล้ว แต่ทั้งหมดเป็นการดำเนินการผ่านบริษัทแฟรนไชส์ ทำให้ยากที่บริษัทแม่จะถอนการลงทุนหรือปิดสาขาได้ แต่ทางบริษัทก็ประกาศจะบริจาคเงินให้องค์การการกุศลต่างๆ ในยูเครนแทน และบริษัทระบุเพียงว่า จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
 
 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT