Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
'พิชัย' คุยสหรัฐฯรอบ 2 หวังดีลภาษี 18% กูรูชี้ชนะเวียดนามยาก
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

'พิชัย' คุยสหรัฐฯรอบ 2 หวังดีลภาษี 18% กูรูชี้ชนะเวียดนามยาก

17 ก.ค. 68
12:25 น.
แชร์

กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 ว่า นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เมื่อคืนวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อยื่นข้อเสนอใหม่ของไทยในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบายการค้าที่เข้มงวดของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ข้อเสนอของไทยรวมถึงการลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ลงเหลือ 0% หลายหมื่นรายการ โดยตั้งเป้าหมายปิดดีลที่อัตราภาษีเฉลี่ย 18% เพื่อไม่ให้เสียเปรียบประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งได้ข้อสรุปการเจรจาที่อัตรา 20% และ 19% ตามลำดับ

ท่าทีเชิงรุกของรัฐบาลไทยครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่การค้าโลกกำลังเผชิญความไม่แน่นอนสูง และระบบพหุภาคีที่เคยเป็นรากฐานของระเบียบโลกเสรีนิยมกำลังถูกท้าทายโดยอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ บทบาทของสหรัฐฯ ในการกำหนดนโยบายการค้าระดับโลกได้เปลี่ยนจากการส่งเสริมเสรีภาพทางการค้าไปสู่การเจรจาแบบรายประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของตนเองเป็นหลัก

ท่ามกลางเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปนี้ งานสัมมนา “Navigating New Frontiers: Business in a Changing World” ซึ่งจัดโดย Baker McKenzie Thailand เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างไรในยุคทรัมป์ ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ได้ถูกกำหนดด้วยหลักการ แต่ด้วยยุทธศาสตร์ เพราะหากไทยไม่ปรับตัวให้เร็วพอ ไม่เพียงแต่จะตกขบวนการค้าโลก แต่ยังเสี่ยงที่จะถูกบีบให้เล่นในเกมที่ตนเองไม่ได้เป็นคนตั้งกติกา

ทรัมป์กับกลยุทธ์ Chicken Game และการตั้ง Anchor

ในมุมมองของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ และ ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นวิทยากร บรรยายในงานสัมมนาดังกล่าว ปัจจุบัน นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากระบบเสรีนิยมสากลแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยใช้กลยุทธ์ที่เน้นการต่อรองแบบแข็งกร้าวและข่มขู่ผ่านเทคนิค “เกมไก่” (Chicken Game) ที่บีบให้ประเทศคู่ค้าเป็นฝ่ายถอยก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการเผชิญหน้าตรงๆ

อีกหนึ่งในกลวิธีที่ทรัมป์นำมาใช้อย่างเข้มข้นคือการตั้ง “Anchor” ในการเจรจา กล่าวคือเริ่มต้นด้วยข้อเสนอที่สูงเกินจริงหรือรุนแรง เพื่อขยับกรอบการเจรจาไปในจุดที่สหรัฐฯ ได้เปรียบ เมื่อสหรัฐฯ ยอมถอยลงมาที่ระดับข้อเสนอที่ต้องการจริง กลับสามารถอ้างได้ว่าเป็นการประนีประนอม ทั้งที่ในความเป็นจริงได้บรรลุเป้าหมายแล้ว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีการขู่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% เพื่อกดดันให้จีนเปิดตลาดบริการหรือยกเลิกข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี

ภายใต้ยุทธศาสตร์ของทรัมป์ โครงสร้างภาษีใหม่ของสหรัฐฯ แบ่งออกเป็นสี่ระดับสำคัญ ได้แก่ ภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) ที่กำหนดอัตราภาษี 10% กับทุกประเทศโดยไม่มีข้อยกเว้น ภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ที่เรียกเก็บเฉพาะประเทศที่ตอบโต้สหรัฐฯ กลับ เช่น จีน สหภาพยุโรป และแคนาดา ขณะที่ประเทศที่ไม่ตอบโต้ เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย ได้รับข้อยกเว้น

นอกจากนี้ยังมีภาษีเฉพาะกรณี (Special Tariff) ซึ่งใช้กับประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเฉพาะ เช่น เม็กซิโก จีน และแคนาดา ในประเด็นเรื่องเฟนทานิลและผู้อพยพผิดกฎหมาย และภาษีเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม (Sectoral Tariff) ที่กำหนดขึ้นสำหรับสินค้าเป้าหมาย เช่น เหล็ก ยา ทองแดง และรถยนต์

สถานะของไทยในเวทีใหม่: ไม่ใช่พันธมิตรยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ

ภายใต้กรอบดังกล่าว สถานะของไทยในเวทีการค้าระหว่างประเทศเริ่มเผชิญแรงกดดันมากขึ้นกว่าที่เคย โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแนวโน้มใช้กลยุทธ์เจรจาแบบรายประเทศ หรือรูปแบบ “Hub and Spoke” เพื่อขยายอิทธิพลและควบคุมทิศทางการเปิดตลาดของประเทศคู่ค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบพหุภาคีในอดีต ภายใต้แนวคิด “เกมไก่” ที่บีบบังคับให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายยอมถอยก่อน ไทยจึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องเจรจาท่ามกลางแรงกดดันที่รุนแรงขึ้น

ในแง่การเปิดตลาด ไทยถูกคาดหมายว่าจะถูกผลักดันให้เปิดเสรีทางการค้ากับสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและบริการ แม้ไทยจะยืนยันไม่เปิดตลาดสินค้าเกษตรแบบเต็มรูปแบบ แต่ก็มีแนวโน้มจะใช้ระบบโควตาในลักษณะที่สหภาพยุโรปใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงแรงเสียดทานในภาคเกษตรภายในประเทศ สำหรับประเด็นความมั่นคงและความสัมพันธ์กับจีน ไทยมีแนวโน้มรักษาจุดยืนเดิมไว้ ไม่ยอมอ่อนข้อให้สหรัฐฯ อย่างชัดเจน ทั้งนี้เพราะไทยยังต้องพึ่งพาความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจกับจีนอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะเดียวกัน ไทยอาจต้องยินยอมให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดขึ้นในประเด็นการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า (Transshipment) เพื่อป้องกันข้อกล่าวหาว่าไทยเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าจากจีนเข้าสหรัฐฯ โดยผิดกฎทางการค้า นอกจากนี้ ไทยอาจเลือกยอมลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ในกลุ่มสินค้าที่ไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ หรือเป็นสินค้าที่ไม่มีการผลิตอยู่แล้วในประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการคงสิทธิประโยชน์ทางการค้าในภาพรวม

ในบริบทนี้ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ประเมินว่า ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ที่ระดับ 20-30% ปัจจัยสำคัญคือ เวียดนามถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม ประเทศที่สหรัฐฯ ต้องการใช้เป็นฐานการผลิต (Friend-shoring) อีกทั้ง Trump Tower ยังตั้งอยู่ในโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองและธุรกิจที่แนบแน่น ขณะที่ไทยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ friend-shoring และมีความสัมพันธ์กับจีนที่แน่นแฟ้นกว่า

ประชาธิปไตยเสรีนิยมลสหรัฐฯ เสื่อมถอย

นอกเหนือจากประเด็นทางการค้าแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในสหรัฐฯ ยังเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบโลกเสรีนิยม แนวคิดประชาธิปไตยเสรีนิยม (Democratic Liberalism) ที่เคยเป็นรากฐานของระเบียบโลกกำลังถูกสั่นคลอนภายในประเทศต้นแบบอย่างสหรัฐฯ เอง ภายใต้ยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ การตีความกฎหมายใหม่ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมผู้อพยพ และเริ่มมีการโจมตีสถาบันการศึกษาที่เน้นเสรีภาพทางความคิด เช่น มหาวิทยาลัย ระบบถ่วงดุลอำนาจ (check and balance) ที่เคยแข็งแกร่งเริ่มถูกลดทอน เมื่อฝ่ายบริหารใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อเร่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมตามแนวทางของตน

การร่วมมือระหว่างประเทศก็ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศถูกลดบทบาท ตัวอย่างชัดเจนคือการลดความสำคัญของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ในเวทีนานาชาติ ขณะเดียวกัน กระแสต่อต้านแนวคิด “Woke” และการแบ่งขั้วทางอุดมการณ์ก็ยิ่งทำให้โลกเข้าสู่ภาวะแตกแยกรุนแรงมากขึ้น เครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) กำลังถูกปรับให้สั้นลง เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศและตอบสนองต่อสภาวะภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไป

ในบริบทนี้ ภาคธุรกิจทั่วโลกต้องปรับตัวรับมือกับกระแส Reshoring และรูปแบบข้อตกลงการค้าใหม่ในลักษณะ Free Trade Agreement (FTA) ที่แตกต่างไปจากเดิม แม้บทบาทของสหรัฐฯ ในเวทีโลกจะลดลง แต่ในเชิงเศรษฐกิจและการเงิน สหรัฐฯ ยังคงครองสถานะผู้นำ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ยังเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกในสัดส่วนประมาณ 40-50%

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในอนาคตมีแนวโน้มจะอยู่ในรูปแบบการปะทะขนาดย่อย (skirmish) มากกว่าสงครามใหญ่ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น ช่องแคบไต้หวัน หรือทะเลจีนใต้ สะท้อนถึงรูปแบบของโลกที่มีเสถียรภาพน้อยลง และซับซ้อนยิ่งขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐกิจ

ไทยต้องปรับตัวเชิงโครงสร้างก่อนสายเกินไป

จากบทวิเคราะห์ทั้งหมด ประเทศไทยไม่สามารถตั้งรับด้วยวิธีเดิมได้อีกต่อไป รัฐบาลต้องเร่งวางรากฐานทางเศรษฐกิจให้พร้อมรับมือกับโลกที่แข่งขันรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ การปฏิรูประบบการศึกษาให้ปลูกฝังวัฒนธรรมรักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดชีวิต รวมถึงสร้างระบบที่สนับสนุนการยกระดับทักษะแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่

ภาคธุรกิจเองต้องเร่งกระจายความเสี่ยงทั้งในด้านตลาดและห่วงโซ่อุปทาน ไม่ควรผูกติดกับประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป อีกทั้งต้องลงทุนในความสามารถเชิงกลยุทธ์ที่ยากต่อการเลียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรม การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก หรือการใช้จุดแข็งของตนเองให้เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันอย่างแท้จริง ตัวอย่างของแบรนด์ไทยที่สามารถปรับตัวได้ดี เช่น iBerry หรือซาลาเปาวราภรณ์ แสดงให้เห็นว่าการสร้างมาตรฐานสากลและความคิดสร้างสรรค์สามารถสร้างคุณค่าในตลาดที่แข่งขันสูงได้อย่างแท้จริง

โลกในยุคหลังทรัมป์ไม่ใช่โลกที่ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์เสรีนิยมอีกต่อไป แต่เป็นโลกที่การค้าและภูมิรัฐศาสตร์กลายเป็นเกมเชิงยุทธศาสตร์ที่ไม่รอใคร ความได้เปรียบตกเป็นของผู้ที่อ่านเกมได้ไว และลงมือวางหมากก่อนใครเท่านั้น ประเทศไทยจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเร่งปรับตัวทั้งในระดับนโยบายและภาคปฏิบัติ มิฉะนั้นความเสี่ยงในการสูญเสียอำนาจต่อรองในเวทีโลกจะทวีคูณขึ้นในทุกย่างก้าวที่ช้าไป


แชร์
'พิชัย' คุยสหรัฐฯรอบ 2 หวังดีลภาษี 18% กูรูชี้ชนะเวียดนามยาก