Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ทรัมป์ป่วนโลก! DBS เตือนหนี้สหรัฐฯ เสี่ยงพุ่ง แนะเลี่ยงบอนด์ หันถือทอง
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ทรัมป์ป่วนโลก! DBS เตือนหนี้สหรัฐฯ เสี่ยงพุ่ง แนะเลี่ยงบอนด์ หันถือทอง

17 ก.ค. 68
16:32 น.
แชร์

ท่ามกลางความผันผวนระดับโลกจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวาระที่สอง ซึ่งส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ทั้งด้านภาษี การคลัง และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ธนาคาร DBS ได้เผยแพร่มุมมองการลงทุนครึ่งปีหลัง 2025 ในรายงาน “DBS 2H25 CIO Market Outlook” พร้อมจัดงานแถลงมุมมองตลาดในหัวข้อ “The Global Pivot” สะท้อนว่าตลาดการเงินโลกกำลังยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ต้องอาศัยกลยุทธ์เชิงรุกและยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับโครงสร้างความเสี่ยงใหม่ที่กำลังก่อตัว

นายเอ็ดวิน ตัน (Edwin Tan) Market Head DBS ประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ กล่าวภายในงาน DBS 3Q25 CIO Market Outlook ว่า “เรากำลังก้าวเข้าสู่ครึ่งปีหลังของปี 2025 โดยตลาดการเงินทั่วโลกยืนอยู่บนจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะแม้ตลาดหุ้นจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งในไตรมาสที่ 2 แต่ก็เป็นการฟื้นตัวท่ามกลางความท้าทายระดับโลกที่ซับซ้อน ทั้งจากความไม่แน่นอนทางนโยบายภาษีของสหรัฐฯ, สัญญาณเศรษฐกิจที่สับสนจากแนวทางการบริหารของรัฐบาลทรัมป์ และแรงกดดันจากปัญหาทางการคลังของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่สะสมต่อเนื่อง”

จุดอ่อนทางการคลังของสหรัฐฯ กดดัน risk premium เพิ่มขึ้น

นายเวย์ ฟุก โหว (Mr. Wey Fook Hou) Chief Investment Office, DBS Bank กล่าวว่าช่วง 100 วันแรกของรัฐบาลทรัมป์ในวาระที่สองได้นำมาซึ่งแรงสั่นสะเทือนรุนแรงในระดับโลก โดยเริ่มจากการลดงบประมาณกระทรวงพลังงาน (DOE) อย่างรุนแรง ตามมาด้วยการจุดชนวนสงครามภาษีในระดับโลก แม้แนวทางเหล่านี้จะถูกออกแบบเพื่อวางตำแหน่งใหม่ให้สหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศ แต่ความไม่แน่นอนด้านนโยบายยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดัน risk premium ของสินทรัพย์การเงินสหรัฐฯ ให้เพิ่มสูงขึ้น

การผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ล่าสุดยิ่งตอกย้ำความกังวลต่อความยั่งยืนทางการคลังอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลจากสำนักงานงบประมาณรัฐสภาสหรัฐฯ (CBO) คาดว่าขาดดุลงบประมาณในปีนี้จะพุ่งแตะ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะจะทะยานขึ้นสู่ระดับ 118% ของ GDP ภายในปี 2035

การที่ Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ ลงสู่ระดับ Aa1 ถือเป็นสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังสูญเสียสถานะ “ปลอดความเสี่ยง” (risk-free asset) โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีที่ทะลุ 5% สะท้อนแรงกังวลของนักลงทุนต่อเสถียรภาพทางการคลังอย่างชัดเจน

เวย์ ฟุก โหว ยังระบุอีกว่า “Beautiful Tariff War” ของทรัมป์มีเป้าหมายสองประการ ได้แก่ การควบคุมอิทธิพลของจีนในเชิงยุทธศาสตร์ และการจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมเพื่อลดปัญหาความเสี่ยงล้มละลายของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าแบบเหมารวมในอัตรา 20% รายได้สุทธิที่เพิ่มขึ้นหลังปรับผลกระทบทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่เพียง 1.852 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งยังไม่เพียงพอแม้แต่จะครอบคลุมดอกเบี้ยจากหนี้ภาครัฐ 

DBS มองว่าการที่ปัจจุบันสหรัฐฯ และจีนเร่งลดระดับความตึงเครียดทางการค้าอย่างกะทันหันเกิดจากเหตุผลเชิงปฏิบัติ เพราะอัตราภาษีนำเข้าในบางรายการสูงถึง 145% ซึ่งเปรียบเสมือนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ส่งผลเสียต่อทั้งสองฝ่าย อีกทั้ง สหรัฐฯ ยังเผชิญกับภาระการรีไฟแนนซ์หนี้รัฐบาลกว่า 7.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ ขณะที่ความนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์ภายในประเทศเริ่มลดลง ส่งผลให้เขาต้องหันมารับนโยบายก้าวหน้าในบางด้านเพื่อดึงคะแนนเสียงจากชนชั้นแรงงาน ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งกลางเทอมปี 2026

กลยุทธ์ไตรมาส ลงน้ำหนักหุ้นเทคฯ ทองคำ ลดพันธบัตร

ภายใต้บริบทดังกล่าว DBS ได้ปรับกลยุทธ์การลงทุน โดยระบุว่าทิศทางการลงทุนในไตรมาส 3 ปี 2025 จะถูกกำหนดด้วย 3 ธีมหลัก ได้แก่ ได้แก่ (1) การคลี่คลายความตึงเครียดทางภาษีอย่างเป็นรูปธรรม (2) ผลตอบแทนของตลาดหุ้นที่เริ่มแตกต่างกันชัดเจนระหว่างภูมิภาค และกลุ่มอุตสาหกรรม และ (3) ความเสี่ยงทางการคลังที่กดดันพันธบัตรรัฐบาลและค่าเงินดอลลาร์ แต่กลับเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของ DBS ในไตรมาส 3 ปี 2025 ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ จากแนวโน้มการเติบโตของ AI ที่ยังต่อเนื่อง และแนะนำให้น้ำหนัก “Overweight” หุ้นยุโรปและเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) จากแรงสนับสนุนของนโยบายการคลัง อัตราปันผลที่จูงใจ และมูลค่าซื้อขายที่มีส่วนลดเมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้ว

ด้านตราสารหนี้ DBS ปรับลดน้ำหนักพันธบัตรรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) ลงสู่ระดับ “Neutral” จากความกังวลด้านการคลังและเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง กลยุทธ์ “Duration Barbell” ยังคงเน้นตราสารระดับ A/BBB ในช่วงอายุ 2-3 ปี และ 7-10 ปี ขณะเดียวกันก็แนะนำให้เน้นลงทุนในตราสารหนี้ป้องกันเงินเฟ้อ (TIPS), ตราสารทุนกึ่งหนี้ และตราสารหนี้เอกชนระยะสั้นที่มีคุณภาพสูง

ด้านอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนที่จับตาความเสี่ยงด้านการคลังจะพบว่าทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาทางการคลังที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กระแสเงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์ดอลลาร์และเข้าสู่พันธบัตรท้องถิ่นในเอเชียมากขึ้น

ในมุมมองด้านสกุลเงิน DBS เห็นว่าทิศทางการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มต่อเนื่องจากความไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายที่ขัดแย้งของรัฐบาลทรัมป์ และสกุลเงินปลอดภัยอื่น ๆ จะเป็นผู้รับประโยชน์ในช่วงนี้

สุดท้ายในกลุ่มสินทรัพย์ทางเลือก DBS ยังคงให้น้ำหนัก “Overweight” ต่อทองคำ ซึ่งยังได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อของธนาคารกลางทั่วโลก พร้อมแนะนำเพิ่มน้ำหนักในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ตลาดรองของ Private Equity ตราสารหนี้นอกตลาด และโครงสร้างพื้นฐานภาคเอกชน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นในสภาพตลาดที่ไม่แน่นอน

ในธีมการลงทุนระยะยาว DBS ชี้ว่า “ระเบียบโลกใหม่” (New World Order) ที่กำลังก่อตัวขึ้นจากแนวโน้มการปรับฐานการผลิตกลับภูมิลำเนา (reshoring) และการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะ ได้แก่ ธุรกิจหุ่นยนต์มนุษย์ (humanoids), ระบบอัตโนมัติภาคอุตสาหกรรม (industrial automation) และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและอวกาศ (defence & aerospace) ซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มนำของโลกยุคถัดไปในมุมมองของ DBS

นายเวย์ ฟุก โหว สรุปว่า “แม้การคลี่คลายความตึงเครียดทางภาษีจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเชิงปฏิบัติ แต่ความไม่ชัดเจนด้านนโยบายและการใช้จ่ายภาครัฐอย่างไร้ขีดจำกัดของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มระดับความเสี่ยงต่อสินทรัพย์การเงินทั่วโลก นักลงทุนควรเตรียมพร้อมรับมือกับผลตอบแทนที่แตกต่างกันมากขึ้นระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเทคโนโลยีและบริการซึ่งมีแนวโน้มเติบโตเหนือกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในขณะที่กลยุทธ์กระจายความเสี่ยงของเรา ยังคงให้น้ำหนัก ‘Overweight’ ต่อสินทรัพย์ทางเลือก โดยเฉพาะทองคำและสินทรัพย์นอกตลาดที่สามารถสร้างรายได้ประจำ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของพอร์ตในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาสินทรัพย์การเงินของสหรัฐฯ”

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2025 DBS มีกำไรก่อนหักภาษีรวม 3.44 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ขณะที่รายได้รวมแตะระดับสูงสุดใหม่ที่ 5.91 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า โดยยังสามารถรักษาอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ 17.3% ได้ แม้จะรวมผลกระทบจากภาษีขั้นต่ำระดับโลก (Global Minimum Tax) แล้วก็ตาม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ที่มีการเติบโตโดดเด่น รายได้ค่าธรรมเนียมจากกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นถึง 39% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 724 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากความต้องการลงทุนของลูกค้าที่แข็งแกร่งในด้านผลิตภัณฑ์ลงทุนและประกันผ่านธนาคาร


แชร์
ทรัมป์ป่วนโลก! DBS เตือนหนี้สหรัฐฯ เสี่ยงพุ่ง แนะเลี่ยงบอนด์ หันถือทอง