EXCLUSIVE : FETCO มองหุ้นไทยฟื้น หากการเมืองมีความชัด บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีความแข็งแกร่ง ย้งทำกำไรได้
‘ดร.กอบศักดิ์’ มองหุ้นไทยและบริษัทจดทะเบียนไทยพื้นฐานแข็งแกร่ง ความสามารถทำกำไรยังดี แม้ที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองเข้ามากดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุน มองเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นหลังเฟดลดดอกเบี้ย และไทยมีโอกาสได้ประโยชน์จากสงครามการค้าหากวางตัวเป็นกลาง
โดยในปัจจุบัน ดร. กอบศักดิ์มองว่าตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะไม่แน่นอน ดัชนีราคายังคงระดับต่ำต่อเนื่อง เนื่องจากถูกกดดันจากหลายปัจจัย ทั้งความไม่มั่นคงทางการเมือง จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลต่อในวันที่ 3 ก.ค. และนัดพิจารณากรณีสถานะของนายกฯ เศรษฐา และ ครม. ในวันที่ 10 ก.ค. และปัจจัยทางโครงสร้างเนื่องจากไทยขาดอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่ตรงกับดีมานด์ของต่างประเทศ
‘ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับ SPOTLIGHT ถึงแนวโน้มตลาดหุ้นไทยว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากเรื่องการเมือง ที่ทำให้นักลงทุนต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น หากสถานการณ์คลี่คลาย และมีความชัดเจนมากขึ้น ความเชื่อมั่นก็จะกลับมา
นอกจากนี้ ดร. กอบศักดิ์ยังมองว่า บริษัทจดทะเบียนไทยยังมีศักยภาพในการทำรายได้และกำไรได้ดี สะท้อนออกมาจากผลประกอบการ เช่น ผลประกอบการของภาคการเงินและธนาคารที่ยังสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แม้ราคาหุ้นจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในอนาคตยังมีโอกาสฟื้นตัวสูง หากปัจจัยกดดันระยะสั้น คือปัจจัยทางการเมืองคลี่คลายไปแล้ว
ดังนั้น นักลงทุนต้องแยกให้ออกระหว่างปัจจัยระยะสั้น และปัจจัยที่ส่งผลต่อศักยภาพในการทำกำไรของบริษัทไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยกำหนดราคาหุ้นในระยะยาว ซึ่งในความเห็นของดร. กอบศักดิ์ บริษัทจดทะเบียนไทยยังมีพื้นฐานที่ดีอยู่
สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ดร. กอบศักดิ์มองว่าแม้ในช่วงนี้เศรษฐกิจไทยอาจจะชะลอตัวลง แต่ในช่วงต่อไปจะเป็นช่วงของการฟื้นตัว โดยในปีหน้าจะเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฟสใหม่ของทั้งโลก เพราะธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มลดดอกเบี้ย และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีกับธุรกิจไทยด้วย
ดร. กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตไทย เพราะจะทำให้สินค้าจีนที่หลั่งไหลเข้ามาที่ไทย ถูกแบ่งไประเทศอื่นมากขึ้น ไม่เข้ามาในประเทศไทยในปริมาณมากเท่าเดืม
ดังนั้น หากปีหน้าธนาคารกลางลดดอกเบี้ย และหลายๆ ประเทศมีการกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกัน เศรษฐกิจไทยก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะจะทำให้ภาคการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น โดยปัจจัยที่อาจทำให้สภาวการณ์นี้ไม่เกิดขึ้นมีเพียงไม่กี่ปัจจัย เช่น สงครามความขัดแย้งที่เข้ามารบกวนซัพพลายเชน หรือทำให้ต้นทุนในการผลิตและขนส่งสินค้าสูงขึ้น
ด้านผลกระทบจากสงครามการค้า ดร.กอบศักดิ์ มองว่า ในอนาคตสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะทวีความรุนแรงขึ้น แต่ไทยมีโอกาสได้ประโยชน์จากความขัดแย้งนี้ หากวางตัวเป็นกลาง เพราะธุรกิจจากทั้งสองฝั่งจะมองหาประเทศที่สามารถเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้ากันได้โดยไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกัน ซึ่งในอนาคตจะมีเพียงไม่กี่ประเทศ
โดยถ้าหากดูจากสภาวะของเศรษฐกิจไทยในระหว่างที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์มาตลอด เพราะสามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ทั้งจากไทยไปสหรัฐฯ และไทยไปจีน เพราะทั้งสองประเทศต้องอาศัยไทยเป็นตัวกลาง
ดังนั้น หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนรุนแรงขึ้น ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนการขนส่งและผลืตสินค้ากจะได้ผลประโยชน์จากความขัดแย้งนี้ หากรัฐบาลวางตัวให้ประเทศไทยเป็นกลาง และไม่ติดร่างแหไปกับมาตรการกีดกันต่างๆ
สำหรับเงินบาทที่อ่อนค่าลงตามเงินสกุลอื่นๆ ในตอนนี้ ดร. กอบศักดิ์มองว่า เป็นการอ่อนลงตามกลไก เพราะปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่ลดดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อยืดเยื้อ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้ดีกว่าคาด ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ยังคงสูง
ดังนั้น หากเทียบกับเงินดอลลาร์ เงินบาทจึงอ่อนค่าลงตามกลไก สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ ในโลกที่อ่อนค่าลงเช่นกันหากเทียบกับดอลลาร์ ส่วนบางสกุลเงินนั้นอาจได้รับผลกระทบมากกว่าสกุลอื่น เช่น สกุลเงินเยน เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นต่ำมาก ห่างกับดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ มากกว่าประเทศอื่นๆ จึงทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลงมากกว่าค่าเงินอื่นๆ เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ