Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
GDP จีน Q2 โตเกินคาด 5.2% ผลิต-ส่งออกอาเซียนพุ่ง 13% แต่บริโภคยังแผ่ว
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

GDP จีน Q2 โตเกินคาด 5.2% ผลิต-ส่งออกอาเซียนพุ่ง 13% แต่บริโภคยังแผ่ว

15 ก.ค. 68
10:29 น.
แชร์

เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่สองของปี 2025 ขยายตัว 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะสูงกว่าค่ากลางที่นักวิเคราะห์จาก Reuters และ Bloomberg คาดการณ์ไว้ที่ 5.1% เล็กน้อย แต่ก็ยังต่ำกว่าการขยายตัว 5.4% ในไตรมาสแรก สะท้อนถึงแรงเสียดทานเชิงโครงสร้างที่ยังคงอยู่ ทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและแรงกดดันจากภายนอก

หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยพยุงการเติบโตในไตรมาสนี้คือภาคการผลิตและการส่งออก โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า ในเดือนมิถุนายน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 6.8% จากปีก่อน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 5.6% โดยเฉพาะหมวดการผลิตสินค้า (manufacturing output) ที่เติบโตถึง 7.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบสามเดือน แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการผลิตยังมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ แม้ยอดส่งออกไปสหรัฐฯ ในไตรมาสนี้จะลดลงถึง 24% อันเป็นผลจากมาตรการภาษีชุดใหม่ของรัฐบาลทรัมป์ แต่จีนสามารถชดเชยแรงกระแทกบางส่วนผ่านการขยายตลาดไปยังภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนและสหภาพยุโรป ซึ่งมียอดส่งออกเพิ่มขึ้น 13% และ 6.6% ตามลำดับ ส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 11.9% จาก 14.1% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจยังสะท้อนถึงความเปราะบางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแรง ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะซบเซา และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในช่วงครึ่งหลังของปี

อุปสงค์ภายในประเทศยังเปราะบาง

ในขณะที่ภาคการผลิตของจีนส่งสัญญาณฟื้นตัว การบริโภคภายในประเทศจีนยังคงอ่อนแรง โดยยอดค้าปลีกในเดือนมิถุนายนเติบโตเพียง 4.8% ลดลงจาก 6.4% ในเดือนพฤษภาคม และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 5.4% โดยเฉพาะหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และบริการร้านอาหาร ซึ่งถือเป็นตัวแทนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ขยายตัวเพียง 0.9% เท่านั้น ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ธันวาคม 2022 ที่จีนยังเผชิญกับข้อจำกัดจากโควิด-19

สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องสำอาง บุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยอดขายลดลงจากปีก่อนหน้า บ่งชี้ว่ากำลังซื้อของชนชั้นกลางในเมืองยังไม่ฟื้นตัวอย่างแท้จริง ขณะที่สินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์สื่อสาร ยังเติบโตได้จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ เช่น โครงการแลกเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า และการใช้เงินจากพันธบัตรพิเศษเพื่อสนับสนุนการบริโภคภาคครัวเรือน

มิเชล แลม นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Greater China ของ Societe Generale ให้ความเห็นว่า “ภาพรวมยังเป็นไปตามลักษณะเดิม ภาคการผลิตแข็งแกร่ง แต่อุปสงค์ภายในยังอ่อนแอ การส่งออกในปัจจุบันดูเหมือนไม่น่าจะยั่งยืน นี่ไม่ใช่ข้อมูลที่น่าพอใจ แม้ตัวเลข GDP จะสูงกว่าคาด”

การลงทุนและตลาดแรงงานยังฟื้นไม่เต็มที่

การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรครึ่งปีแรกของ 2025 ขยายตัวเพียง 2.8% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.6% โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวรุนแรงถึง -11.2% แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นแล้วหลายระลอกก็ตาม ภาคโครงสร้างพื้นฐานและภาคการผลิตยังเติบโตได้ แต่เริ่มแสดงสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่พึ่งพาการอัดฉีดจากรัฐบาลกลางผ่านการออกพันธบัตรพิเศษ

ในช่วงครึ่งหลังของปี จีนยังมีวงเงินกว่า 7 ล้านล้านหยวน หรือราว 976,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เตรียมใช้ผ่านการออกพันธบัตรพิเศษ เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ หวังชดเชยการชะลอตัวในภาคการลงทุน

ด้านอัตราการว่างงานในเขตเมืองอยู่ที่ร้อยละ 5 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งคงที่จากเดือนก่อนหน้า หลังจากที่เคยพุ่งขึ้นแตะร้อยละ 5.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบสองปี อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานในกลุ่มแรงงานอพยพจากชนบทและบัณฑิตจบใหม่ยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนว่าการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังไม่ทั่วถึง

เศรษฐกิจจีนยังเปราะบาง ต้องปฏิรูปเชิงโครงสร้าง

แม้ตัวเลข GDP ยังอยู่ในระดับที่ “สูงกว่าคาด” แต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ยังเตือนถึงภาวะเปราะบางของเศรษฐกิจจีน ทั้งจากภาวะเงินฝืดที่ยังไม่คลี่คลาย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ยังอยู่ใกล้ระดับ 50 การชะลอตัวของการปล่อยสินเชื่อ และความไม่แน่นอนในตลาดแรงงาน

หวง อี้ผิง ที่ปรึกษาธนาคารกลางจีน ระบุว่าจีนควรใช้นโยบายการคลังเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านหยวน เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายใน พร้อมแนะนำให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อเสริมแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังเปราะบางจากความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนด้านนโยบายของมหาอำนาจ

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากยังเน้นย้ำว่าความยั่งยืนของเศรษฐกิจจีนในระยะยาวจะต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ทั้งในด้านระบบภาษี กลไกการคลัง ระบบสวัสดิการสังคม และการปฏิรูปตลาดการเงิน เพื่อลดความเปราะบางเชิงระบบและเสริมเสถียรภาพในระยะยาว

ในปัจจุบัน ธนาคารกลางจีนยังคงเลือกใช้แนวทางการผ่อนคลายทางการเงินแบบมีเป้าหมาย (targeted easing) โดยไม่ใช้มาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่แบบครอบคลุม เช่น การลดดอกเบี้ยเชิงรุกหรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ในวงกว้าง แต่เลือกใช้เครื่องมือเชิงโครงสร้าง เช่น การปล่อยสินเชื่อเฉพาะกลุ่มสำหรับภาคเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสภาพคล่องล้นระบบ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังระดมทุนผ่านการขายพันธบัตรอายุยาวพิเศษ (ultra-long special sovereign bonds) เพื่อนำมาสนับสนุนโครงการกระตุ้นการบริโภคในครัวเรือน การเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า และการลงทุนของภาคธุรกิจในเครื่องจักรใหม่ ๆ ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญของจีนในปีนี้


แชร์
GDP จีน Q2 โตเกินคาด 5.2% ผลิต-ส่งออกอาเซียนพุ่ง 13% แต่บริโภคยังแผ่ว