ศูนย์วิจัย CEBR จากสหราชอาณาจักร ระบุชัดในรายงาน “World Economic League Table” ว่า ในปี 2028 เวียดนามจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย ซึ่งหากดูจากข้อมูลแล้วมีความเป็นไปได้สูง เพราะ ในปี 2024 เวียดนามมีขนาด GDP ที่ 571,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ วียดนามได้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย และ ไทย แต่ได้แซงหน้ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ไปเรียบร้อยแล้ว
IMF คาดว่า ปี 2027 ไทยจะมี GDP อยู่ที่ 692,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เวียดนาม… 690,000 ล้าน ต่างกันนิดเดียว!และในปี 2028 คาดว่า GDP เวียดนามจะแซงไทยอย่างเป็นทางการ ทำให้ไทยจะมีขนาดเศรษฐกิจหล่นไปเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน
ยิ่งเมื่อดูอัตราการเติบโตของ GDP ไตรมาส 1 ปี 2568 ก็พบว่า GDP เวียดนาม โตแรงสุดในภูมิภาค
บทความนี้ SPOTLIGHT พูดคุยกับดร.ปิยะศักดิ์ มานะสันต์ หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. InnovestX บริษัทการเงินการลงทุนในกลุ่ม SCBX จึงอยากจะสรุปปัจจัยที่ผลักดันให้เวียดนาม กลายมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจร้อนแรงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อะไรคือจุดแข็งของเวียดนาม เปรียบเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเคยโตแรงในอดีตอย่างไทย ได้เวลาต้องหันมาทบทวนตัวเอง
รัฐบาลเวียดนามวางเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 6.5% และที่ผ่านมาก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตเฉลี่ยปีละ 6-7% มาต่อเนื่องหลายปี
ในขณะที่ไทยเศรษฐกิจขยายตัวไม่ถึง 3% ต่อปี มานาน 20 ปี หรือ 2 ทศวรรษแล้ว นี่อาจไม่ใช่แค่ปัญหาตัวเลข แต่สะท้อนว่าไทยเริ่มโตไม่ทันคู่แข่งในภูมิภาค แม้ในอดีตจะเคยนำหน้ามาก่อน
นโยบาย "Doi Moi" หรือนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่เวียดนามใช้มาตั้งแต่ปี 2529 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นการปรับเปลี่ยนจากระบบวางแผนส่วนกลางมาเป็นระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมที่เน้น ระบบตลาดมากขึ้น และกระจายอำนาจให้แก่ภาคธุรกิจและท้องถิ่น
จากนั้นมาเวียดนามมีการวางเป้าหมายและเดินหน้าพัฒนาประเทศที่ชัดเจน รัฐบาลคาดหวังให้รายได้ประชากรต่อหัวแตะ 7,500 ดอลลาร์ ภายในปี 2030 และตั้งเป้าเข้าสู่ Top 20 เศรษฐกิจโลก ภายในปี 2036
ทั้งหมดจึงทำให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค การศึกษา และการสร้างคนอย่างเป็นระบบ ในขณะที่ไทยยังไม่มีเป้าหมายที่คนทั้งประเทศ "จับต้องได้" เท่าเวียดนาม เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของไทยยังเปลี่ยนแปลงตามรัฐบาลอีกด้วย
โครงสร้างประชากรของเวียดนามได้เปรียบอย่างชัดเจน มีประชากรอายุต่ำกว่า 30 ปี มากถึง 60% มีแรงงานที่อยู่ในวัยผลิตเต็มที่
ไม่ใช่เพียงแค่จำนวนแรงงานหนุ่มสาว แต่ยังมีบุคลากร IT มากถึง 500,000 คน เทียบกับไทยแค่ 170,000 คน โดยเวียดนามสามารถผลิตวิศวกรซอฟต์แวร์จบใหม่ปีละ 50,000 คน ส่วนไทยผลิตได้เพียง 5,000 คน
ยิ่งไปกว่านั้นเงินเดือนแรงงานในเวียดนามยังถูกกว่าไทยมาก นั่นหมายถึงต้นทุนยังต่ำกว่าไทย วิศวกรซอฟต์แวร์จบใหม่ในเวียดนาม เริ่มต้นที่ 22,000 บาท แต่วิศวกรในไทยเริ่มที่ประมาณ 40,000 บาท
ดังนั้นเมื่อเทียบกันแล้วเวียดนามกลายเป็น แหล่งแรงงานคุณภาพในต้นทุนต่ำจึงดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก
ตัวเลข FDI หรือการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติล่าสุดชัดเจนว่า ตอนนี้ต่างชาติแห่ลงทุนในเวียดนามมากกว่าไทย FDI ของเวียดนาม 31,150 ล้านดอลลาร์ ไทยเพียง 12,000 ล้านดอลลาร์
เพราะนักลงทุนต่างชาติมองว่าเวียดนามมีต้นทุนต่ำแรงงานพร้อม ที่สำคัญมากคือการเมืองมีเสถียรภาพระดับหนึ่งและมีการเจรจาข้อตกลงทางการค้าได้รวดเร็วทำให้ปัจจุบันเวียดนามวางตัวเองเป็น "ศูนย์กลางการผลิตแห่งใหม่ของโลก" ด้วยการเอื้อประโยชน์ทางภาษี ข้อตกลงพิเศษ และโครงสร้างภาษีที่จูงใจต่างชาติ
ในทางกลับกัน ไทยแม้จะมีโครงสร้างพื้นฐานดีกว่าเวียดนามแต่ติดปัญหาเรื่องแรงงาน แรงจูงใจด้านภาษี และการเมืองที่เปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ
FTA หรือข้อตกลงการค้าเสรี คือแต้มต่อในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งต้องยอมรับว่าเวียดนามทำการบ้านเรื่องนี้มาดีมาก
ที่สำคัญคือ FTA ระหว่างสหภาพยุโรปกับเวียดนามมีผลบังคับใช้แล้ว
ขณะที่ไทยยัง “อยู่ระหว่างเจรจา” FTA กับ EU และมีประเด็นที่คาราคาซัง เช่น เรื่องสุรา บุหรี่ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และภาคการเกษตรของไทย
ประเทศไทยรับรู้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตัวเองมาตลอด แต่ยังแก้ไม่ตก เช่นโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น ขาดแคลนแรงงานฝีมือ ขาดแคลนบุคลากรเทคโนโลยีห่วงโซ่อุตสาหกรรมไม่ครบ ขณะที่ประชาชนมีรายได้ไม่โตตามค่าใช้จ่าย แม้ประเทศไทยวางยุทธศาสตร์ แต่ไม่ตามผลลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่เชื่อมเศรษฐกิจไม่ได้จริง
ดังนั้นนี่อาจกล่าวได้ว่า เวียดนามโตเพราะ “เลือกที่จะเปลี่ยนตัวเอง” จากประเทศที่เคยรายได้น้อย ยากจนที่สุดในอาเซียน ทะยานสู่ประเทศที่มีอุตสาหกรรมส่งออกสมาร์ตโฟนรายใหญ่ของโลก และกำลังกลายเป็น Tech Talent Hub แห่งเอเชีย
ขณะที่ไทยยังติดกับดักเดิมโครงสร้างเก่า การเมืองเปราะบาง แรงงานไม่พร้อม และขาดแผนปฏิรูปจริงจัง ถ้าเรายังไม่เปลี่ยน ไม่ใช่แค่เวียดนามจะ “แซงไทย” แต่เขาอาจ “ทิ้งไทย” ไปแบบไม่หันหลังกลับมาไม่เจอกัน
อีก 3 ปี อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นของสิ่งที่น่าห่วงที่สุด แล้วเราจะรอให้เขาแซงก่อน หรือจะเริ่มเดินให้ทันตั้งแต่วันนี้ ?
ที่มาข้อมูล: สัมภาษณ์ ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ , รอยเตอร์