กรุงเทพฯ ติดโผเมืองท่องเที่ยวที่มีการฉ้อโกงนักท่องเที่ยวมากที่สุดในปี 2567 พบ “แท็กซี่และรถเช่า” เป็นผู้ร้ายอันดับหนึ่ง
กรุงเทพมหานครติดโผเมืองที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรายงานว่าเผชิญกับการฉ้อโกงมากที่สุด ในรายงานล่าสุดของ Mastercard Economics Institute (MEI) ที่สะท้อนภาพรวมความเสี่ยงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงฤดูท่องเที่ยว ซึ่งพบว่ามีอัตราการฉ้อโกงพุ่งสูงถึง 28% ในปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในเมืองที่มีปริมาณธุรกรรมหนาแน่นและมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
รายงาน Travel Trends 2025: Purpose-driven Journeys ของ MEI ระบุว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกำลังกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของระบบความปลอดภัยทางการเงินระดับโลก โดยนักท่องเที่ยวมักตกเป็นเหยื่อของกลโกงที่เริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนทริป ไปจนถึงบริการระหว่างเดินทาง เช่น เว็บไซต์ทัวร์ปลอม, แพลตฟอร์มจองที่พักที่ไม่โปร่งใส, หรือแม้แต่บริการรถรับส่งที่เรียกราคาแพงเกินจริงโดยไม่มีมาตรฐานชัดเจน
ข้อมูลยังเผยว่า การฉ้อโกงในกลุ่มบริษัททัวร์และตัวแทนท่องเที่ยวมีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรมถึง 4 เท่า ขณะที่บริการแท็กซี่และรถเช่า ซึ่งได้รับการร้องเรียนมากที่สุดในกรุงเทพฯ ก็กำลังกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของเมืองท่องเที่ยวทั่วโลก ในทางกลับกัน การจองตั๋วเครื่องบิน รถไฟ และโรงแรมผ่านผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับการรับรอง กลับพบอัตราการฉ้อโกงต่ำกว่ามาก
ในรายชื่อเมืองที่มีการรายงานการฉ้อโกงสูง กรุงเทพฯ ติดอันดับร่วมกับเมืองแคนคูน (เม็กซิโก), ฮานอย (เวียดนาม) และธากา (บังกลาเทศ) ซึ่งล้วนเป็นเมืองที่มีการท่องเที่ยวหนาแน่น และมีรูปแบบการหลอกลวงที่คล้ายคลึงกัน เช่น ทัวร์ผี บริการขนส่งราคาเกินจริง หรือที่พักที่ไม่ตรงตามโฆษณา
ในทางตรงกันข้าม เมืองที่นักท่องเที่ยวรายงานว่ามีการฉ้อโกงต่ำที่สุด ได้แก่ ซานฟรานซิสโก ดับลิน โซล บูดาเปสต์ และเอดินบะระ ซึ่งล้วนมีระบบกำกับดูแลที่เข้มงวด การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่สามารถสร้างความมั่นใจให้นักเดินทางได้จริง
ข้อมูลจาก Mastercard Economics Institute (MEI) ระบุว่า บริการแท็กซี่และรถเช่าเป็นแหล่งฉ้อโกงหลักของนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 48% ของกรณีที่มีการร้องเรียน รองลงมาได้แก่ การโกงในร้านอาหาร 34% บริการจากบริษัทท่องเที่ยวและทัวร์ 9% ที่พัก 5% และการเดินทางโดยเที่ยวบินหรือรถไฟ 3% ขณะเดียวกัน จาการ์ตาของมาเลเซียยังถูกระบุว่าเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีสัดส่วนการโกงผ่านบริการแท็กซี่และรถเช่าสูงไม่แพ้กันที่ 66% ของกรณีที่ถูกรายงานทั้งหมด
ในภูเก็ต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทย MEI พบว่า รูปแบบการฉ้อโกงที่พบบ่อยที่สุดคือการหลอกลวงในบริการด้านอาหาร คิดเป็น 40% รองลงมาเป็นการโกงในที่พัก 39% บริการทัวร์นำเที่ยว 19% ขณะที่แท็กซี่และรถเช่ามีเพียง 1% ของกรณีที่ถูกรายงาน
รายงานยังชี้ให้เห็นว่า รูปแบบการฉ้อโกงในแต่ละเมืองทั่วโลกมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ฮ่องกงและแคนคูน พบว่าการฉ้อโกงผ่านบริการทัวร์นำเที่ยวเป็นสัดส่วนสูงสุดที่ 70% และ 48% ตามลำดับ ขณะที่เมืองริยาดในซาอุดีอาระเบีย และลอสแอนเจลิสในสหรัฐฯ กลับพบว่าการหลอกลวงที่เกิดขึ้นมากที่สุดอยู่ในกลุ่มร้านอาหาร โดยคิดเป็น 79% และ 75% ของกรณีที่ถูกรายงานทั้งหมด
นอกจากนี้ MEI ยังชี้ว่า นักท่องเที่ยวจำนวนมากยังเสี่ยงถูกฉ้อโกงตั้งแต่ยังไม่เก็บกระเป๋าเดินทาง จากรายงาน การฉ้อโกงในขั้นตอน “ก่อนออกเดินทาง” ในปี 2567 เพิ่มขึ้นกว่า 12% จากปีก่อนหน้า สอดคล้องกับเทรนด์ที่ผู้บริโภคพยายามหาทริปราคาประหยัดท่ามกลางค่าครองชีพที่พุ่งสูงและเงินเฟ้อที่กัดกินกำลังซื้อ
ในช่วงที่นักท่องเที่ยวกำลังดีลราคาถูก มิจฉาชีพรู้ดีว่าจะจับจังหวะอย่างไรให้ได้ผล มิจฉาชีพมักจะใช้ภาพสถานที่ท่องเที่ยวที่แต่งเกินจริง โฆษณาโปรโมชั่นราคา และลิงก์จองปลอมที่ดูน่าเชื่อถือ เพื่อจูงใจให้คนคลิกและจ่ายเงินทันที โดยไม่รู้เลยว่าจุดหมายปลายทางในฝันอาจไม่มีอยู่จริง
หนึ่งในกลโกงที่เติบโตเร็วที่สุดคือ “บัญชีปลอม” บนเว็บไซต์จองที่พักหรือแพลตฟอร์มท่องเที่ยวชื่อดัง มิจฉาชีพสร้างโพรไฟล์หลอกขึ้นมา พร้อมภาพสวยและรีวิวปลอม เมื่อมีคนจองและชำระเงินเรียบร้อย นักท่องเที่ยวจะพบความจริงเมื่อลงเครื่องแล้วว่า ห้องนั้นไม่มีอยู่ หรือสภาพจริงต่างจากในภาพอย่างสิ้นเชิง ที่ร้ายแรงคือ ช่องทางในการขอเงินคืนหรือดำเนินคดีมักเลือนลาง
ช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลท่องเที่ยวถือเป็นช่วงนาทีทองของกลุ่มมิจฉาชีพ เพราะเป็นเวลาที่ผู้บริโภคแห่หาดีลพิเศษและตัดสินใจเร็ว MEI เปิดเผยว่า อัตราการฉ้อโกงในช่วงฤดูร้อนพุ่งขึ้นมากกว่า 18% และทะยานถึงกว่า 28% ในช่วงฤดูหนาว เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่มีปริมาณธุรกรรมมหาศาล
อีกหนึ่งรูปแบบการหลอกลวงที่พบบ่อยคือ บริษัททัวร์ปลอมที่เสนอแพ็กเกจท่องเที่ยวราคาถูกเกินจริง โดยอาศัยความเชื่อถือจากเว็บไซต์ชื่อดังหรือรีวิวปลอมเพื่อหลอกให้ผู้บริโภคชำระเงินล่วงหน้า แต่เมื่อถึงวันเดินทาง ทัวร์นั้นกลับไม่มีอยู่ หรือแตกต่างจากที่โฆษณาไว้อย่างไม่น่าให้อภัย
ในโลกที่ทุกคลิกมีราคา การตรวจสอบแหล่งที่มาให้รอบคอบก่อนจองทริปจึงกลายเป็นเกราะป้องกันสำคัญ ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการท่องเที่ยวและหน่วยงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคก็ต้องเร่งปรับตัวรับมือกับภัยไซเบอร์ที่แฝงมาในรูปแบบของ “วันหยุดในฝัน” ที่กลายเป็นฝันร้ายอย่างแท้จริง
อ้างอิง: MEI