Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
นักเศรษฐศาสตร์มองดีลลดภาษี 90 วัน สหรัฐฯ-จีน โอกาสหรือภัยของไทย?
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

นักเศรษฐศาสตร์มองดีลลดภาษี 90 วัน สหรัฐฯ-จีน โอกาสหรือภัยของไทย?

13 พ.ค. 68
14:35 น.
แชร์

การบรรลุข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และจีนเมื่อวานนี้ (12 พ.ค.68) เพื่อลดภาษีซึ่งกันและกันชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน โดยทางสหรัฐฯจะเก็บภาษีจีน 30% จาก 145% มีผล 14 พ.ค.68 ส่วนทางจีน จะเก็บสหรัฐ เหลือ 10% จาก 125%  ได้สร้างแรงสะเทือนทั่วทั้งตลาดโลก ท่ามกลางบรรยากาศที่เหมือนทุกอย่างจะคลี่คลาย ดูจากบรรยากาศตลาดหุ้นปรับขึ้นทั่วโลกรับข่าวดีนี้  

แต่สำหรับประเทศไทย นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์กลับเตือนว่า นี่อาจไม่ใช่ข่าวดีเสียทั้งหมด โดยเฉพาะหากไทยยังไม่สามารถเจรจากับสหรัฐฯ ได้อย่างทันท่วงที

ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกราญ แต่ถ้าช้างสาร make love กันนั่นหมายถึงภัยพิบัติ

เริ่มจาก รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาฯเตือนว่า การที่สหรัฐฯ ยอมลดภาษีให้จีนในอัตรา 10% เป็นเวลา 90 วันนั้น อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่กระทบไทยรุนแรงในช่วงปลายปี โดยโพสข้อความใน FB ว่า

“สหรัฐยอมหมอบให้จีนไป 90 วัน... หมายความว่า จากวันนี้จนถึงกลางเดือนสิงหาคม สินค้าจีนเข้าสหรัฐจะโดนภาษีแค่ 10% ซึ่งต่ำกว่าของไทยที่โดน 36% อยู่ดี”

รศ.ดร.ปิติ  ระบุด้วยว่า จุดเป็นจุดตาย จะอยู่ที่เดือนกรกฎาคม ซึ่งการผ่อนผันรอบแรกที่ทำให้เราโดนภาษีแค่ 10% เหมือนประเทศอื่นๆ จะหมดเวลาลง และเราจะโดนภาษี 36% ทันที หากเรายังไม่สามารถเจรจาอะไรกับสหรัฐได้ ซึ่ง ณ นาทีนี้ ฝ่ายไทยก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่าจะได้เจรจากัยสหรัฐเมื่อไร

และเสริมว่า “ช่วงโกยเงินโกยทองของสินค้าออกของไทยในไตรมาส 4 จะถดถอยตกต่ำอย่างยิ่ง” หากไทยยังไม่สามารถเจรจาอะไรกับสหรัฐได้ภายในเดือนกรกฎาคม เพราะคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกในไตรมาส 4 จะต้องเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2 แล้ว

ลี กวน ยู เคยกล่าวไว้ในปี 1973 ว่า ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกราญ แต่ถ้าช้างสาร make love กันนั่นหมายถึงภัยพิบัติ

ซึ่ง รศ.ดร.ปิติ เคยเขียนไว้ตัังแต่เดือน พ.ย. ปีที่แล้วว่า จีนสหรัฐรบกันในสงครามเศรษฐกิจ ไทยจะเสียหายมาก แต่ถ้าจีนกับสหรัฐจูบปากกันได้ในท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นั่นคือ ฉากทัศน์ที่ไทยจะเสียหายยิ่งกว่า

โลกกำลังกลับสู่ภาวะปกติ แต่ไม่ใช่ ภาวะปกติแบบเดิม

ด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินา
คินภัทร สะท้อนภาพใหญ่ของระบบโลกว่า ข้อตกลงนี้อาจให้ความรู้สึกว่า “โลกกำลังกลับสู่ภาวะปกติ” แต่ไม่ใช่ “ภาวะปกติแบบเดิม”

เมื่อสหรัฐกับจีนเริ่มตกลงกันได้ในบางเงื่อนไข ภาษีการค้าที่เคยลากขึ้นไปถึงฟ้า ถูกลดระดับลงมาบ้าง ตลาดการเงินเฮรับข่าวดี ค่าเงินแข็ง หุ้นขึ้น ราคาทองปรับฐาน เหมือนทุกอย่างกำลังจะ “คลี่คลาย

“แต่… สิ่งที่หายไประหว่างทาง คือ “ความมั่นใจ” และ “ความเชื่อถือ” ที่ระบบโลกเคยมีต่อกติกาสากล เพราะสุดท้ายทุกอย่างอาจเป็นแค่ “The Art of the Deal” ไม่ใช่ “The Architecture of Stability.”

“พร้อมเตือนว่า ความไม่แน่นอนจะกลายเป็นภาวะปกติใหม่ (new baseline) และการวางแผนเศรษฐกิจต้องปรับตัวให้พร้อมรับความผันผวนที่เกิดจากทั้งภูมิรัฐศาสตร์และนโยบายมหาอำนาจ”

สิ่งที่เราได้เห็น 

 • สหรัฐ “ยอมถอย” บางส่วน ตามคาดเพราะต้นทุนเริ่มตกกับผู้บริโภคในประเทศ

 • จีน “ยอมเจรจา” เพื่อรักษาฐานเศรษฐกิจและกระแสเงินทุน

 • ตลาดการเงินตอบสนองในเชิงบวก แต่ก็ยัง “ลังเล” อยู่ลึกๆ

สิ่งที่เราสูญเสีย

 • ความเชื่อมั่นในกติกาโลก: จาก WTO, MFN, ไปจนถึง supply chain ที่เคยเชื่อถือได้

 • ความต่อเนื่องของนโยบาย: สิ่งที่ตกลงวันนี้ อาจถูก “รีเซ็ต” ได้หลังการเลือกตั้ง

 • ความสามารถในการวางแผนระยะยาวของภาคเอกชน

แล้วเราจะเดินต่ออย่างไร?

 1. Uncertainty is the new baseline – อย่าวางกลยุทธ์บนความมั่นใจ ให้ยืดหยุ่นกับความเปลี่ยนแปลง

 2. อย่าคิดว่าโลกจะกลับมาเหมือนเดิม – โลกาภิวัตน์อาจเดินต่อ แต่จะเป็น “fragmented globalization” 

 3. ยังไงก็ต้องเน้นเรื่องความสามารถในการแข่งขัน  เน้นการลงทุน นวัตกรรม และ productivity กันต่อไป

 4. จับตาความเชื่อมั่นของคน – เพราะความเชื่อมั่นที่เปราะบาง จะสะท้อนในราคาทุกอย่าง: ค่าเงิน ทอง หุ้น


90 วันให้ทุกคนหายใจ !!!

ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ มองในมุมการเมืองและการค้าโลก โดยเรียกช่วง 90 วันนี้ว่า “90 วันให้ทุกคนหายใจ!”โดยมองว่า การที่ทั้งสองฝ่ายยอมถอยคนละก้าวเป็นการรีเซ็ตความตึงเครียด 

ผลเจรจาช่วงสุดสัปดาห์ที่เจนีวาระหว่างสหรัฐและจีน ต้องบอกว่า "เกินคาด" สำหรับทุกคนAlmost Total Reset กลับไปที่วันที่ 2 เมษายน โดยทั้งสองฝ่ายยอมถอยคนละก้าว ปรับลดการตอบโต้ไปมาจากวันดังกล่าว มาเหลือ Tariffs ข้างละ 10% สำหรับสหรัฐ 10% Minimum สำหรับ Reciprocal Tariffs และบวกกับที่คิดก่อนหน้าสำหรับยาเสพติดอีก 20% เป็น 30%ส่วนจีน 10% สำหรับ Reciprocal Tariffs เช่นกัน ถือว่าไม่เสียศักดิ์ศรี 

หลังจากนี้ 90 วัน ทั้งสองฝ่ายก็จะคุยกันโดยไม่ต้องโต้ไปโต้มาโดยต้องถือว่า เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ตลาดพอใจที่ทั้งสองมีช่องพูดคุยอย่างเป็นทางการไม่ผ่านสื่อไปมาอย่างช่วงก่อนหน้าแต่จะสำเร็จแค่ไหน คงต้องไปดูกันต่อไปเพราะเป้าหมายลดการขาดดุลการค้ากับจีนและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของจีนไม่ใช่ง่าย

ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐมีความปรารถนาที่จะเปิดตลาดจีน ในด้านต่างๆ ที่เคยถูกกีดกันมานาน รวมถึง Google, Facebook, X, YouTube คงต้องวัดใจว่าจีน จะยอมให้หรือไม่ แต่อย่างน้อย จากบทเรียน 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมาสองฝ่ายคงเรียนรู้แล้วว่า“ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด”

สหรัฐต้องพึ่งพาสินค้าจีนจีนก็ต้องพึ่งพาตลาดอเมริกาเสียงโอดครวญจากโรงงานในจีนที่ต้องปิดงาน เลิกจ้าง ไม่รู้จะทำไงกับสินค้า เสียงจากผู้ประกอบการและผู้ผลิตในสหรัฐที่กังวลใจว่าจะไม่มีอะไรขาย ขาดชิ้นส่วนสำคัญ คงเป็นเครื่องช่วยให้การเจรจาเดินไปได้ตลอดจน ได้เรียนรู้ว่าการแสดงอำนาจ ศักดิ์ศรี ใส่กัน ไม่เจรจากันดีๆ นำมาซึ่งความเสียหาย บอบช้ำ ของทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ สำหรับนักธุรกิจในประเทศต่างๆคงต้องมองว่า 90 วัน คือ ช่วงให้ทุกคนหายใจผู้ประกอบการจีนจะต้องเร่งพยายามหาตลาดใหม่รองรับไว้ กรณีที่ 90 วันแล้วไม่สำเร็จส่วนผู้ประกอบการสหรัฐ ก็ต้องหา Suppliers ใหม่ เตรียมไว้เช่นกัน รวมถึงเร่งนำเข้าเพราะสุดท้ายแล้ว ไม่มีใครรู้ว่า จะจบอย่างไรซึ่ง 90 วันนี้ หากใช้ให้ดีก็จะมีค่ามาก

ส่วนไทย ก็คงได้รับอานิสงส์ เช่นกันChina Flooding จากสินค้าจีน คงจะเบาลงเป็นโอกาสให้เราได้คุยกับผู้ประกอบการสหรัฐรวมทั้ง พร้อมเตรียมรับมือเร่งหาตลาดใหม่ เร่งหาทางออกไว้เพราะเราเองก็ยังต้องลุ้นว่าเมื่อครบ 90 วันTariffs เราจะอยู่ตรงไหนเทียบกับคู่แข่งอย่าลืมใช้ช่วงเวลานี้ให้ดี

นายกรัฐมนตรีย้ำ รัฐบาลไทยได้ยื่นข้อเสนอ (Proposal) แล้ว

สำหรับความคืบหน้าของรัฐบาลไทยในการไปเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ วันนี้นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยได้ยื่นข้อเสนอ (Proposal) เพื่อเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

“ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตอบรับจากฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือในระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่แล้ว”

ทั้งนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง ระบุว่า ไทยยื่นข้อเสนอราว 5-6 ข้อไปยังสหรัฐฯ แล้ว โดยเป็นการทำงานในระดับปฏิบัติการเพื่อปูทางสู่การเจรจาระดับหลักการในลำดับต่อไป

แม้ภาพรวมจะดูคลี่คลาย แต่ 90 วันนี้จะเป็นช่วงเวลาตัดสินใจสำคัญว่า ไทยจะสามารถรักษา “พื้นที่” ทางเศรษฐกิจในสมรภูมิโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง หรือจะพลาดโอกาสสำคัญไปอีกครั้ง

แชร์
นักเศรษฐศาสตร์มองดีลลดภาษี 90 วัน สหรัฐฯ-จีน โอกาสหรือภัยของไทย?