การตัดสินใจของสี จิ้นผิง ที่ยืนยันปฏิเสธการเจรจาโดยตรงกับสหรัฐฯ ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษี และประณามนโยบายของสหรัฐฯ ว่าเป็นการรังแกฝ่ายเดียวและบ่อนทำลายระบบการค้าเสรีโลก ส่งผลให้ผู้นำจีนและคณะเจรจาสามารถสร้างความได้เปรียบอย่างชัดเจนในการเผชิญหน้าครั้งสำคัญกับโดนัลด์ ทรัมป์
หลังการเจรจาอย่างเข้มข้นสองวันที่สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐฯ และจีนสามารถบรรลุข้อตกลงครั้งใหญ่ในการลดภาษีนำเข้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยสหรัฐฯ ตกลงลดภาษีสินค้าจีนจากระดับสูงถึง 145% เหลือเพียง 30% เป็นระยะเวลา 90 วัน ขณะที่จีนตอบสนองด้วยการลดภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่เหลือ 10% การผ่อนคลายมาตรการภาษีดังกล่าวเกินความคาดหมายของนักลงทุนทั่วโลก และส่งผลให้ราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องหลักเกือบทั้งหมดที่จีนยื่นเสนอไว้ก่อนเปิดการเจรจา ได้แก่
เทรย์ แมคอาร์เวอร์ นักวิเคราะห์จาก Trivium China ประเมินว่าข้อตกลงครั้งนี้คือ "ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่จีนสามารถคาดหวังได้" และจะยิ่งเสริมสร้างความมั่นใจให้กับจีนในการเจรจาและดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้นในเวทีการค้าระหว่างประเทศ
นับตั้งแต่เริ่มต้นความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯ สี จิ้นผิงเลือกเดินแนวทางแข็งกร้าว ปฏิเสธข้อเสนอของโดนัลด์ ทรัมป์ในการหารือทางโทรศัพท์ และปล่อยให้มาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนพุ่งสูงอย่างไม่เกรงกลัว พร้อมออกประกาศเย้ยหยันว่ามาตรการภาษีของทรัมป์เป็น "เรื่องตลก" และ "เรื่องไร้สาระ" ขณะที่ผู้นำประเทศอื่นๆ พยายามแสวงหาทางประนีประนอมกับวอชิงตัน สีกลับยืนหยัดในแนวทางเสริมความแข็งแกร่งจากภายใน แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจีนจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว
แม้เผชิญอัตราภาษีสูงที่สุดในรอบศตวรรษ จีนยังคงยืนยันความถูกต้องของหลักการค้าเสรีและปฏิเสธการยอมจำนนต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ พร้อมวิพากษ์นโยบายของวอชิงตันว่าเป็นการ "กลั่นแกล้ง" ประเทศคู่ค้า และเลือกที่จะเสริมความแข็งแกร่งและลดผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เดินหน้าเปิดฉากการทูตเชิงรุกทั่วโลกเพื่อขยายตลาดใหม่สำหรับสินค้า ส่งเสริมกระแสชาตินิยมในประเทศ และยกระดับการสนับสนุนจากประชาชนต่อท่าทีแข็งกร้าวของรัฐบาล
ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์เริ่มเผชิญแรงเสียดทานจากภายใน กลุ่มธุรกิจ นักลงทุน และนักการเมืองรีพับลิกันทยอยแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่มาตรการภาษีมีต่อตลาดการเงินและแนวโน้มเศรษฐกิจ ขณะที่การเลือกตั้งกลางเทอมที่กำลังใกล้เข้ามา ยิ่งเร่งเร้าแรงกดดันให้ฝ่ายบริหารต้องเร่งหาทางลดความตึงเครียด
ในที่สุด การเจรจาในสวิตเซอร์แลนด์จึงเกิดขึ้นในพื้นที่กลางที่จีนและสหรัฐฯ มีอำนาจการต่อรองและศักดิ์ศรีอยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน บรรยากาศการเจรจาที่เกิดขึ้นจึงแตกต่างจากกรณีของประเทศอื่นๆ ที่เลือกเดินเข้าไปเจรจากับสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเดียว
จากสถานการณ์นี้ จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ของจีนในการ "นิ่งรอ" เพื่อให้เศรษฐกิจและภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับการค้าระหว่างประเทศ และได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีของทรัมป์ เป็นฝ่ายกดดันรัฐบาลของตนเอง ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ความเคลื่อนไหวนี้ไม่เพียงเปิดทางให้จีนสามารถเข้าสู่โต๊ะเจรจากับสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีสถานะเท่าเทียมกัน แต่ยังเสริมข้อต่อรอง พร้อมหลักฐานชัดเจนว่าการเผชิญหน้ากับจีนจะสร้างความเสียหายย้อนกลับมาที่สหรัฐฯ เอง
ในการเจรจากับจีนครั้งนี้ สัญญาณการปรับท่าทีของสหรัฐฯ ปรากฏชัดในหลายมิติ ตั้งแต่การเลือกเจรจาในเจนีวา ซึ่งถือเป็นพื้นที่กลางที่ให้สถานะเท่าเทียมกัน, การจัดการข่าวสารอย่างเงียบเชียบโดยปราศจากการประกาศผ่านโซเชียลมีเดียล่วงหน้า, ไปจนถึงการยอมรับข้อเรียกร้องของจีนในการเจรจาแบบปิด
เจอราร์ด ดิพิปโป รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยจีนแห่ง RAND ชี้ว่า “บทเรียนสำคัญจากกรณีนี้คือ อำนาจทางเศรษฐกิจยังคงเป็นตัวแปรชี้ขาด” พร้อมเสริมว่า “สำหรับปักกิ่ง นี่คือบทพิสูจน์ยุทธศาสตร์ และตอกย้ำว่าแนวทางของสีในการส่งเสริมการผลิตในประเทศและลดการพึ่งพาต่างชาติกำลังกลายเป็นข้อได้เปรียบเชิงความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ยากจะโต้แย้งได้
Bloomberg Economics ประเมินว่า ข้อตกลงล่าสุดช่วยลดแรงกระแทกของภาษีเฉลี่ยต่อจีนจากกว่า 100 จุดเปอร์เซ็นต์ เหลือเพียงประมาณ 28 จุดเปอร์เซ็นต์ แม้ว่ายังสูงกว่าภาษีนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ แต่ถือเป็นการลดภาระที่มีนัยสำคัญ
ข้อตกลงล่าสุดได้เปิดหน้าต่างเวลา 90 วันสำหรับจีนและสหรัฐฯ ในการเร่งหาข้อตกลงระยะยาว โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ โดยไม่แตะต้องโครงสร้างเศรษฐกิจสำคัญของจีน เช่น ระบบรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปักกิ่งถือว่าเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจและอำนาจรัฐ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุเมื่อวันจันทร์ที่ผ่ามาว่า มีความเป็นไปได้ที่เขาจะได้สนทนากับสี จิ้นผิงภายในสิ้นสัปดาห์นี้ โดยกล่าวถึง "การรีเซ็ตความสัมพันธ์อย่างสิ้นเชิง" ระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ย้ำว่าข้อตกลงในครั้งนี้ยังไม่ครอบคลุมสินค้าหลายกลุ่ม เช่น รถยนต์ เหล็ก อะลูมิเนียม รวมถึงยาและเวชภัณฑ์
ด้านรัฐมนตรีคลังสก็อตต์ เบสเซนต์ ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ยืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่มีเป้าหมายที่จะตัดขาดจากจีนโดยสิ้นเชิง แต่เน้นการปกป้องอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เช่น เหล็กกล้า ยา และเซมิคอนดักเตอร์
“เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับจีน” ทรัมป์กล่าวระหว่างการแถลงข่าว พร้อมระบุว่า “เราไม่ได้ต้องการทำร้ายจีน แต่จีนเองก็กำลังเผชิญความเจ็บปวดอย่างหนัก ปิดโรงงานไปหลายแห่ง เกิดความไม่สงบในหลายพื้นที่ และยินดีอย่างยิ่งที่สามารถบรรลุข้อตกลงกับเราได้”
ในอีกด้านหนึ่ง ตลอดหลายปีหลังสงครามการค้ารอบแรก จีนได้เร่งลดการพึ่งพาสหรัฐฯ อย่างจริงจัง เช่น การหันไปซื้อสินค้าเกษตรจากตลาดเกิดใหม่อย่างบราซิล เพื่อกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญจาก Chinese Academy of Social Sciences (CASS) เน้นว่า แม้จีนพร้อมหารือในประเด็นอัตราภาษี สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และเงินอุดหนุนบางส่วน แต่จีนจะไม่ประนีประนอมในเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นแกนหลักของประเทศแน่นอน
ทั้งนี้ แม้ข้อตกลงครั้งนี้จะช่วยเสริมฐานเศรษฐกิจและการเมืองของสี จิ้นผิงทั้งในประเทศและบนเวทีโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่า ความเสี่ยงที่ทรัมป์จะกลับลำมีอยู่ตลอดเวลา และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยังคงซับซ้อนเกินกว่าจะคลี่คลายได้ในเวลาอันสั้น
อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องถอยจากมาตรการภาษีระดับสูง ถือเป็นชัยชนะเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับจีนในรอบล่าสุดของความขัดแย้งนี้
อ้างอิง: Bloomberg, Financial Express