Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ทรัมป์โว คุยจีนคืบหน้า นักวิเคราะห์ปัดอย่าเพิ่งดีใจ ดีลจริงยังอีกไกล
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ทรัมป์โว คุยจีนคืบหน้า นักวิเคราะห์ปัดอย่าเพิ่งดีใจ ดีลจริงยังอีกไกล

11 พ.ค. 68
10:28 น.
แชร์

เจ้าหน้าที่เศรษฐกิจระดับสูงจากสหรัฐอเมริกาและจีนเสร็จสิ้นการประชุมวันแรกในนครเจนีวา เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยเตรียมเดินหน้าสู่การเจรจาวันที่สองในวันอาทิตย์ การพูดคุยครั้งนี้ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเป็นจุดตัดสินชะตาเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อขึ้น

ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีการเปิดเผยสรุปผลการเจรจาอย่างเป็นทางการ ทว่าทรัมป์ได้โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียระบุว่าการเจรจาระหว่างคณะผู้แทนสหรัฐฯ และจีนที่จัดขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์เป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมย้ำว่าเป็น “การประชุมที่ดีมาก” และถือเป็นความพยายามในการลดความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ 

โดยทรัมป์ได้โพสต์ข้อความผ่าน Truth Social ระบุว่า “มีการหารือในหลายประเด็นและบรรลุข้อตกลงในหลายเรื่อง เราได้เจรจาเพื่อรีเซ็ตความสัมพันธ์ครั้งสำคัญในบรรยากาศที่เป็นมิตรแต่จริงจังและสร้างสรรค์”

ทรัมป์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ ต้องการเห็น “การเปิดกว้างของจีนต่อธุรกิจอเมริกัน เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ” โดยการเจรจาจะยังคงดำเนินต่อไปในวันอาทิตย์

การเจรจาครั้งนี้ซึ่งนำโดยนายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และนายเหอ หลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีน และจัดขึ้นที่นครเจนีวา นับเป็นการพูดคุยแบบพบหน้ากันครั้งแรกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ นับตั้งแต่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็น 145% และจีนตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษี 125% ต่อสินค้าสหรัฐฯ หลายรายการ พร้อมออกมาตรการควบคุมการส่งออกแร่หายาก

หนึ่งในวาระที่สำคัญที่สุดในการเจรจาครั้งนี้ คือ ความพยายามของสหรัฐฯ ในการกดดันจีนให้เปิดเสรีการส่งออกแร่แรร์เอิร์ธ และควบคุมการส่งออกสารตั้งต้นที่ใช้ผลิตเฟนทานิล ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดของยาเสพติดร้ายแรงในสหรัฐฯ ซึ่งจีนได้เน้นย้ำว่าตนดำเนินมาตรการปราบปรามการค้ายาเฟนทานิลอย่างจริงจัง และเรียกร้องให้สหรัฐฯ แสดง "ความขอบคุณ" ต่อความพยายามดังกล่าว

สำหรับประธานาธิบดีทรัมป์ การเปิดตลาดจีนให้ธุรกิจสหรัฐฯ เข้าถึงได้ง่ายขึ้นถือเป็นเป้าหมายหลัก เขาย้ำอย่างชัดเจนว่า "จีนมีอะไรให้ได้มากกว่าสหรัฐฯ" และยังคงใช้ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นเครื่องมือในการกดดันจีนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สหรัฐฯ ต้องการ

ความคาดหวังต่อการลดภาษียังคงต่ำ

แม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะมีเดิมพันสูง แต่ระดับความคาดหวังว่าการเจรจาจะนำไปสู่การลดภาษีอย่างมีนัยสำคัญยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการตกลงเพียงเพื่อเริ่มกระบวนการเจรจา นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า การหารือรอบนี้จะเน้นการสร้างความเข้าใจในจุดยืนของแต่ละฝ่าย และวางแนวทางสำหรับการดำเนินงานในอนาคต มากกว่าการบรรลุข้อตกลงลดภาษีในทันที

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า จีนตั้งเป้าหมายในการเจรจาครั้งนี้ไว้ในระดับต่ำ โดยมุ่งเน้นการประเมินท่าทีของสหรัฐฯ มากกว่าการเร่งผลักดันข้อตกลง ศาสตราจารย์อู๋ ซินป๋อ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสหรัฐฯ แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ระบุว่า “จีนจะจับตาดูความจริงใจของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด”

ขณะเดียวกัน ทางการจีนโดยสำนักข่าวซินหัวระบุว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็น “ก้าวสำคัญ” แต่กระบวนการต่อรองจำเป็นต้องอาศัยความอดทนและการสนับสนุนจากประชาคมโลก พร้อมยืนยันว่าจีนจะปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติและรักษาระเบียบการค้าโลกอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม การที่ทั้งสองประเทศกลับมาเจรจากันได้ก็ก่อให้เกิดความหวังว่าจะสามารถลดระดับความตึงเครียด และนำไปสู่การปรับลดภาษีได้ในที่สุด เพราะผลกระทบจากการขึ้นภาษีกำลังสะเทือนห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และต้นทุนที่สูงขึ้นกำลังส่งผ่านไปยังผู้บริโภคในหลายประเทศ

ในขณะนี้ นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนต่างจับตาการเจรจานี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกรงว่าความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะกระทบต่อการเติบโตทั่วโลกและทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

"ทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเงินร่วมกันในการลดความขัดแย้ง แต่การบรรลุข้อตกลงระยะยาวยังเป็นเรื่องยาก" เอสวาร์ ปราสาด อดีตผู้อำนวยการ IMF ฝ่ายจีน กล่าว

เขาเสริมว่า การที่ทั้งสองฝ่ายเปิดการเจรจาระดับสูงเช่นนี้ถือเป็น "ความก้าวหน้าที่สำคัญ" ซึ่งอาจช่วยลดระดับความตึงเครียดได้ในระยะหนึ่ง

สัญญาณบวกที่คลุมเครือและผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีน

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีเปิดกว้างต่อการลดภาษีนำเข้าจากจีนลงเหลือ 80% พร้อมย้ำว่า "แม้จะไม่มีข้อตกลงในทันที ก็ไม่ใช่เรื่องน่าผิดหวัง" และเน้นว่าการหยุดทำธุรกิจกับจีนโดยสมบูรณ์ก็ถือเป็น "ข้อตกลงที่ดี" สำหรับสหรัฐฯ อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการแถลง เลขาธิการสื่อมวลชนของทรัมป์ชี้แจงว่า ตัวเลข 80% ที่ทรัมป์กล่าวถึงยังไม่ได้พัฒนาเป็นข้อเสนออย่างเป็นทางการ

ในขณะเดียวกัน ฝ่ายบริหารสหรัฐฯ ยังคงโจมตีจีนอย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวหาว่าจีนอุดหนุนอุตสาหกรรมสำคัญอย่างไม่เป็นธรรม และปล่อยให้มีการส่งออกสารตั้งต้นสำหรับผลิตยาเฟนทานิล ซึ่งเป็นสาเหตุให้ชาวอเมริกันเสียชีวิตหลายหมื่นรายในแต่ละปี

ท่ามกลางสัญญาณเชิงนโยบายที่ยังไม่ชัดเจน การตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งสองประเทศอย่างเป็นรูปธรรม จีนรายงานว่ายอดส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนลดลงถึง 21% ขณะที่บริษัทอเมริกันจำนวนมากเริ่มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อตอบสนองต่อต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับนโยบาย "หยุดเงินเฟ้อ" ของทรัมป์

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด การผลิตที่ชะลอตัว และตลาดแรงงานที่เปราะบาง ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ยังมีความแข็งแกร่งโดยรวม แต่เริ่มปรากฏสัญญาณของการขาดแคลนสินค้าในบางกลุ่ม ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เตือนว่า ความไม่แน่นอนทางการค้าที่ยืดเยื้ออาจเริ่มส่งผลกระทบต่อการเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี

ทั้งนี้ Bloomberg Economics ประเมินว่า หากมาตรการภาษียังคงอยู่ในระดับปัจจุบัน การค้าทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอาจหดตัวมากถึง 90% ในระยะเวลาอันใกล้

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและทางออก

องค์การการค้าโลก (WTO) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของการค้าโลกปี 2025 ลงอีก 0.2% โดยระบุว่าสงครามการค้าอาจทำให้การเติบโตของ GDP โลกหายไปเกือบ 3 จุดเปอร์เซ็นต์ ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจโลกในทำนองเดียวกัน

นอกจากนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) เตือนว่า การแบ่งขั้วเศรษฐกิจโลกที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันอาจทำให้ GDP โลกหดตัวเกือบ 7% ในระยะยาว โดยเฉพาะประเทศที่ยากจนที่สุดจะได้รับผลกระทบหนัก

ขณะเดียวกัน สหพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐฯ รายงานว่าการขนส่งสินค้านำเข้าจะลดลงในปีนี้ และชี้ว่า "ภาษีของทรัมป์" เป็นตัวการสำคัญที่บั่นทอนห่วงโซ่อุปทาน

นักเศรษฐศาสตร์จาก Capital Economics มองว่า ความพยายามของฝ่ายบริหารสหรัฐฯ ในการเร่งทำข้อตกลงการค้าหลายฉบับเป็นสัญญาณของแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และหากลดภาษีนำเข้าจากจีนลงเหลือ 54% อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยของสหรัฐฯ จะลดลงเหลือ 15% ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระต่อเศรษฐกิจในภาพรวม


แชร์
ทรัมป์โว คุยจีนคืบหน้า นักวิเคราะห์ปัดอย่าเพิ่งดีใจ ดีลจริงยังอีกไกล