สินทรัพย์ดิจิทัล

‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ยันไม่ลงทุนคริปโทฯ เหตุไม่มีเวลา ลุย Virtual Bank

19 มี.ค. 67
‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ยันไม่ลงทุนคริปโทฯ เหตุไม่มีเวลา ลุย Virtual Bank

‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ กรรมการ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Gulf Energy Development และคณะผู้บริหารของ GULF และ Binance เข้าร่วมสัมนา ‘Gulf Binance Digital Asset Form’ เผยภาพรวมตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลปี 2567 และทิศทางของ Gulf Binance ด้วย

โดย สารัชถ์ ยังให้สัมภาษณ์สื่อหลังจบสัมนาด้วย

ภาพรวมของ Gulf Binance และคริปโตฯ

สารัชถ์ เผยว่า การร่วมมือกับ Binance เกิดขึ้นเนื่องจาก Binance มีศักยภาพ และเป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับ 1 ของโลก นักลงทุนจึงกล้าที่จะลงทุนมากขึ้น ที่ผ่านมามีการพูดคุยกับหลายบริษัทก่อนเริ่มโครงการนี้ แต่เพราะความน่าเชื่อถือและศักยภาพของ Binance

นอกจากนี้ โลกของสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องมีความโปร่งใส ชัดเจน โครงสร้างพื้นฐานก็ต้องแข็งแรง การซื้อขายก็ต้องเป็นเรื่องง่าย ซึ่ง Binance มีตรงนั้น นอกจากนี้ Binance ไม่ใช่แค่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ยังสามารถต่อยอดบล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตได้อีกด้วย 

ส่วนประเด็นของการลงทุนในคริปโทฯ สารัชถ์เผยว่า ตนไม่ได้ลงทุน เพราะไม่มีเวลา ก่อนที่จะกลับลำว่า ตอนนี้ตนเองได้ลงทุนเฉพาะ BNB ของ Binance เนื่องจาก Gulf เป็นพันธมิตรกับ Binance และเชื่อมั่นในตัวธุรกิจมากด้วย

แผนโครงการร่วม Virtual Banking

เมื่อถามถึงโครงการร่วม Virtual Bank สารัชถ์ เผยว่า บริษัทที่ร่วมในโครงการนี้ คือ ธนาคารกรุงไทย และ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีจุดแข็งของตัวเอง มีความพร้อม ฐานลูกค้าจำนวนมาก และเข้าใจในตลาดดี  อย่างกรุงไทยมีจุดแข็งของการทำธุรกรรมการเงิน ตรวจเช็คถึงความสามารถในการปล่อยกู้ ส่วน AIS เป็นค่ายมือถือที่แข็งแกร่ง และฐานลูกค้าที่หนาแน่น

โดยเบื้องต้นสัดส่วนการถือหุ้นของ GULF อยู่ที่ 33% กรุงไทย 33% AIS 33% และอื่นๆ อีก 1% ด้วยเงินลงทุนทั้ง 3 บริษัทรวมกันที่ราว 5,000 ล้านบาทในเฟสแรก นอกจากนี้ ผู้ร่วมโครงการอีกราย คือ ปตท. หรือ OR แต่ยังไม่ได้มีการตกลง และกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาเงื่อนไขของการลงทุนด้วย 

สารัชถ์มองว่า Virtual Bank จะเป็นธุรกิจที่สามารถช่วยเหลือคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเงินทุนได้ ดอกเบี้ยไม่สูง และมีระบบที่สามรถใช้งานได้ง่าย และในอนาคต ดิจิทัลก็จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คนเราใช้ชีวิตกับดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอไอ ดาต้า คริปโตฯ ทำให้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลต้องขยายไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของผู้ใช้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎกติกาให้ระยะเวลาถึง 6 เดือน จึงยังไม่มีการยื่นขอใบอนุญาตในทันที

advertisement

SPOTLIGHT