สินทรัพย์ดิจิทัล

สรุปทุกประเด็น BlockFi 'ยื่นล้มละลาย' ตามรอย FTX

29 พ.ย. 65
สรุปทุกประเด็น BlockFi  'ยื่นล้มละลาย' ตามรอย FTX

แพลตฟอร์มกู้ยืมคริปโทฯ BlockFi 'ล้มละลาย'ตามคาด เจ็บหนักเพราะมี FTX เป็นลูกหนี้รายใหญ่ พบบริษัทมีเจ้าหนี้กว่า 1 แสนราย!

กลายเป็นโดมิโนตัวที่ 2 ตามความคาดหมายจริงๆ สำหรับ "BlockFi" แพลตฟอร์มกู้ยืมคริปโทเคอร์เรนซีที่ "ยื่นล้มละลาย" ต่อจาก FTX และเป็นแพลตฟอร์ใหญ่ที่แม้แต่บริษัทในไทยอย่าง "SCB 10X" (กลุ่มไทยพาณิชย์) ก็เข้าไปร่วมลงทุนด้วย!

ประเด็นก็คือ ตลาดคริปโทเคอร์เรนซีนั้นยัง "ใหม่" และ "เล็ก" กว่ามาก เมื่อเทียบตลาดการเงิน ตลาดหุ้น และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งหมายความว่า เงินส่วนใหญ่ในตลาดคริปโทฯ จะหมุนเวียนเป็นวงกลมกันอยู่ในระบบกับรายใหญ่ๆ ซึ่งเมื่อเกิดการล้มละลายของรายใหญ่ขึ้นมา เช่น FTX (อดีตแพลตฟอร์มเทรดเบอร์ 2) มันจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า "Death Spiral" หรือ เกลียวมรณะ ซึ่งกระทบบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในวงกลมเดียวกันให้บาดเจ็บหรือล้มหายตายจากไปด้วยกัน "เพราะเงินมันเชื่อมถึงกันหมด"

ทีมข่าว Spotlight ได้สรุปประเด็นสำคัญจากการยื่นล้มละลายของ BlockFi มาให้ดังนี้  

 

BlockFi คืออะไร?

คือแพลตฟอร์มให้กู้ยืมคริปโทเคอร์เรนซี (Crypto lending) ซึ่งถือเป็นธุรกิจหลัก (แต่ก็มีกระดานเทรดเองด้วย) ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดย Zac Prince และ Flori Marquez ให้บริการด้านการเงินแก่ทั้งรายย่อย ธุรกิจ และสถาบันการเงินทั่วโลก ช่วงท็อปฟอร์มในปี 2564 มีสินทรัพย์หมุนเวียนในการดูแลมากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ 

ในเดือน มี.ค. 2564 บริษัทระดมทุนได้ถึง Series D ได้เงินลงทุนไป 350 ล้านดอลลาร์ ทำให้บริษัทมีมูลค่าทะยานไปแตะ 3,000 ล้านดอลลาร์ ในบรรดาคนที่เข้ามาลงทุนกับ BlockFi มีกองทุนรายใหญ่ เช่น Bain Capital Venture, Tiger Global และมีรายงานว่ากองทุนเว็นเจอร์แคปิตอล Valar Ventures ของมหาเศรษฐี ปีเตอร์ ธีล ผู้ร่วมก่อตั้งเพย์พาล ยังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของบริษัทด้วย โดยมีหุ้นอยู่ใน BlockFi 19%

และแม้แต่กองทุนเทคโนโลยีในประเทศไทยอย่าง "SCB 10X" จากกลุ่มไทยพาณิชย์ ก็เข้ามาลงทุนด้วย (รอบ Series C) แต่ SCB 10X ระบุว่า มีการลงทุนอยู่ไม่ถึง 1% ของพอร์ต

blockfi-scb10x-cover

เกิดอะไรขึ้นกับ BlockFi?

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 65  BlockFi ได้ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายต่อศาลแขวงในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐ เพื่อขอรับการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย (Chapter 11) 

ในเอกสาร 41 หน้าที่ยื่นต่อศาล มีรายละเอียดระบุว่า บริษัทมีเจ้าหนี้มากกว่า 100,000 ราย มีหนี้สินและทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 - 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35,500 - 355,000 ล้านบาท) 

 

ทำไม BlockFi ถึงเจ๊งจนต้องยื่นล้มละลาย?

มาร์ก เรนซี กรรมการผู้จัดการบริษัท เบิร์กลีย์ รีเสิร์ช กรุ๊ป ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ BlockFi ให้ 3 เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้บริษัทต้องยื่นล้มละลาย คือ 

  1. ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากเคสของเฮดจ์ฟันด์ 2 ราย ที่เจ๊งมาจากกรณี Terra นำโดยบริษัท Three Arrows Capital (3AC) ซึ่งเป็น 1 ในลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดของ BlockFi ด้วย
  2. FTX คือเจ้าหนี้รายใหญ่ที่มาช่วย BlockFi ตอนที่เกิดปัญหาสภาพคล่องในปีนี้ โดยให้เครดิตไลน์ 400 ล้านดอลลาร์ แต่เมื่อ FTX ยื่นล้มละลาย BlockFi จึงถูกกระทบไปด้วย
  3. สภาพตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผันผวนอย่างหนัก

istock-1355262092


ใครเป็น 'เจ้าหนี้' และ 'ลูกหนี้' ของ BlockFi บ้าง?

ในเอกสารที่ยื่นต่อศาล บริษัทมีเจ้าหนี้อยู่กว่า 1 แสนราย และในบรรดาเจ้าหนี้รายใหญ่ 50 อันดับแรก มีมูลหนี้รวมประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.6 หมื่นล้านบาท)  

เจ้าหนี้เบอร์ 1 คือ กองทุนในสหรัฐที่ชื่อว่า Ankura Trust ซึ่งมีมูลหนี้ 729 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยอันดับ 2 "FTX" อดีตแพลตฟอร์มเทรดคริปโทฯ เบอร์ 2 ของโลกที่เพิ่งยื่นล้มละลายไปก่อนหน้านี้ โดยมีมูลหนี้ 275 ล้านดอลลาร์  

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) หรือ ก.ล.ต.สหรัฐ ก็ยังเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ด้วย เพราะ BlockFi ยังติดค้างค่าปรับอยู่ 30 ล้านดอลลาร์  จากทั้งหมด 100 ล้านดอลลาร์ี่ถูกตัดสินลงโทษไปเมื่อต้นปี 2022 นี้ 

ส่วนทางด้าน "ลูกหนี้" นั้น แม้รายงานข่าวจะไม่ได้เปิดเผยชื่อบริษัทที่เป็นลูกหนี้กู้ยืมมาจาก BlockFi อย่างชัดเจน แต่ก็มีการเปิดเผยว่า 1 ในนั้นคือ Alameda Research ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ FTX ที่ติดหนี้อยู่ 680 ล้านดอลลาร์ ในรูปแบบของตราสารอนุพันธ์ CLO



ตลาดคริปโทฯ มีปฏิกิริยารับข่าวนี้อย่างไร?

หลังรับรู้ข่าวเมื่อคืนที่ผ่านมา บรรดาคริปโทเคอร์เรนซีก็พากันร่วงยกแผง นำโดย Bitcoin ซึ่งดิ่งลงประมาณ 2.8% สู่ระดับ 16,088.79 ดอลลาร์ เมื่อเวลา 23.11 น. วานนี้ในการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม Coinbase

quote_spotlight2022(1)

นายมาร์ค โมเบียส ผู้ก่อตั้งบริษัทโมเบียส แคปิตัล พาร์ทเนอร์ส ซึ่งคร่ำหวอดการลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (EM) และตลาด Frontier markets กล่าวว่า บิตคอยน์ยังคงมีแนวโน้มดิ่งลงต่อไป โดยอาจลงไปแตะระดับ 10,000 ดอลลาร์ ซึ่งตัวเขาเองจะไม่นำเงินของตนเอง หรือเงินของลูกค้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากมีความเสี่ยงมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม ราคาบิตคอยน์ก็ไม่หลุดระดับ 16,000 ดอลลาร์ และทยอยปรับตัวกลับมาบวกขึ้นช่วงเช้าวันนี้ (29 พ.ย.)

 

ใครเสี่ยง 'ล้มละลาย' เป็นรายต่อไป?
 
Bloomberg และหนังสือพิมพ์ WSJ เพิ่งรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องเมื่อไม่นานนี้ว่า แพลตฟอร์มกู้ยืมคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่อย่าง "Genesis" กำลังดิ้นรนหาเงินทุนจากหลายแหล่ง โดยกำลังเจรจากับทั้ง Binance ที่เป็นแพลตฟอร์มเทรดคริปโทใหญ่สุดเบอร์ 1 ของโลก ไปจนถึงบริษัทจัดการการลงทุนยักษ์ใหญ่อย่าง Apollo Global Management เพื่อหาทุนให้ได้อย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.6 หมื่นล้านบาท) มาพยุงสภาพคล่อง
 
อย่างไรก็ดี ทาง Binance ที่นำโดยซีอีโอ ฉางเผิง จ้าว (CZ) ได้ปฏิเสธที่จะร่วมลงทุนแล้ว โดยอ้างเหตุผลเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
 
Genesis นับเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบตามมาจากการยื่นล้มละลายของ FTX เพราะผลกระทบด้านความเชื่อมั่นในตลาดคริปโทส่งผลให้มีการแห่ถอนเงินจาก Genesis มากอย่างผิดปกติ จนทางบริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงิน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีกระแสข่าวลือเกิดขึ้นสะพัดว่า Genesis อาจเป็นโดมิโนตัวต่อไปที่ต้องล้มละลายตาม FTX

 

advertisement

SPOTLIGHT