เฟาจา ซิงห์ นักวิ่งมาราธอนที่อายุมากที่สุดในโลก ซึ่งยังคงแข่งขันอยู่หลังจากอายุครบ 100 ปี ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ก.ค. 68) อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้เสียชีวิตจากความชราภาพ แต่ตามรายงานของตำรวจอินเดียระบุว่า เขาจากไปด้วยอุบัติเหตุชนแล้วหนี ขณะที่มีอายุ 114 ปี
ซิงห์เกิดในชนบทของอินเดียในปีค.ศ. 1911 ก่อนที่จะย้ายไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในภายหลัง ชายนักวิ่งมาราธอนได้รับฉายาว่า "พายุทอร์นาโดผ้าโพกหัว" ซึ่งเขาเริ่มวิ่งมาราธอนเมื่ออายุ 80 ปลาย ๆ และทำสถิติวิ่งเข้าเส้นชัย 9 รายการจากระยะทาง 26.2 ไมล์ เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิ่งมาราธอนที่อายุมากที่สุดในโลก แม้ว่าจะไม่เคยได้รับการบันทึกสถิติโลกกินเนสส์เลยก็ตาม เนื่องจากเขาไม่มีสูติบัตร
นายฮาร์วินเดอร์ ซิงห์ เวียร์ก ผู้กำกับการตำรวจอาวุโสท้องถิ่น เปิดเผยว่า ในวันนั้น มีรถยนต์คันหนึ่งพุ่งชนนายซิงห์ ขณะที่เขากำลังเดินอยู่บนถนนใกล้หมู่บ้านเบียส บ้านเกิดของเขา ในรัฐปัญจาบ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย เขาถูกส่งไปที่โรงพยาบาลศรีมันน์ในเขตจาลันธาร์ ซึ่งเขาเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บที่ศีรษะและซี่โครง
ผู้กำกับการตำรวจกล่าวกับ CNN ระบุว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังดำเนินการค้นหาผู้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าว เรากำลังใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่เพื่อติดตามตัวรถคันที่ก่อเหตุ และได้ส่งทีมสืบสวนไปตรวจสอบแล้ว” พร้อมเสริมว่ามีคนเดินผ่านไปมาเห็นเหตุการณ์ด้วย
ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี เป็นผู้นำพิธีไว้อาลัยทั่วประเทศ โดยกล่าวว่า ซิงห์เป็น "นักกีฬาที่โดดเด่นและมีความมุ่งมั่นอย่างเหลือเชื่อ" ทั้งนี้ ซิงห์ เริ่มวิ่งมาราธอนเมื่ออายุ 89 ปี หลังจากที่เขาย้ายไปอังกฤษหลังจากภรรยาและลูกชายเสียชีวิต เขาเคยกล่าวกับ CNN ในการสัมภาษณ์เมื่อตอนอายุ 102 ปีว่า“การวิ่งทำให้ผมมีควาเมตตาและทำให้ผมกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการทำให้ผมลืมเรื่องราวเลวร้ายและความเศร้าโศกทั้งหมด”
เขาลงแข่งวิ่งมาราธอนเป็นครั้งแรก หลังจากฝึกซ้อมเพียงไม่กี่เดือน และหลังจากนั้น 3 ปี ก็สามารถทำสถิติส่วนตัวที่ดีที่สุดได้ในเวลา 5 ชั่วโมง 40 นาที ในงาน Toronto Waterfront Marathon ในปี 2003 ต่อมาในปี 2011 ซิงห์กลับมายังโตรอนโต ประเทศแคนาดาอีกครั้ง ซึ่งเขาได้กลายเป็นผู้ที่มีอายุครบร้อยปีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถวิ่งมาราธอนได้สำเร็จ โดยจบการแข่งขันในเวลา 8 ชั่วโมง 11 นาที 6 วินาที
เส้นทางการเป็นนักวิ่งมาราธอนของเขาในบั้นปลาย นับเป็นความแตกต่างอย่างมากจากวัยเด็กอันแสนยากลำบากของเขาในอินเดีย เพราะกว่าเขาจะเดินได้ อายุก็ 5 ขวบแล้ว ถือช้ากว่าเด็กคนอื่น ๆ เนื่องจากเป็นโรคขาอ่อนแรง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันครั้งสุดท้ายของเขาจัดขึ้นที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นเส้นทาง 10 กิโลเมตร เมื่อปี 2013 ซึ่งเป็นปีเดียวหลังจากที่เขาถือคบเพลิงโอลิมปิกที่ลอนดอนในปี 2012
แม้จะประสบความสำเร็จ แต่น่าเสียดายที่ชื่อและสถิติของเขาไม่เคยได้รับการบันทึกลงในกินเนสส์เวิลด์เรคคอร์ด เนื่องจากเขาไม่มีใบสูติบัตร อย่างไรก็ตาม เขาได้รับจดหมายชื่นชมจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธแห่งสหราชอาณาจักร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 100 พรรษา เขาเคยกล่าวเมื่ออายุ 102 ปีว่า “ผมรักรองเท้าวิ่งของผมมาก ผมชอบมันมากจริงๆ ผมใส่มันเพื่อความเพลิดเพลิน ผมนึกภาพชีวิตที่ไม่มีมันไม่ออกเลย”
เหตุการณ์ชนแล้วหนีเป็นปัญหาสำคัญและพบได้บ่อยในอินเดีย มีการวิเคราะห์สาเหตุกันว่ามาจากการบังคับใช้กฎหมายจราจรที่ยังไม่เข้มงวดนัก ทำให้ผู้ขับขี่กล้าฝ่าฝืน บางรายอาจขาดความเข้าใจถึงผลทางกฎหมายของคดีชนแล้วหนี หรือต้องการหนีออกจากที่เกิดเหตุเนื่องจากกลัวการถูกโจมตีจากฝูงชน
ปัจจุบันอินเดียได้ออกกฎหมายใหม่ภายใต้ชื่อ Bharatiya Nyay Sanhita (BNS) Act, 2023 ที่เพิ่มบทลงโทษสำหรับคดีชนแล้วหนีให้เข้มงวดขึ้น โดยมาตรา 106 (2) กำหนดโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี และปรับสำหรับผู้ที่ขับรถชนแล้วหนีโดยไม่รายงานต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้พิพากษา แต่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ทำให้เกิดการประท้วงจากผู้ขับขี่รถบรรทุกและรถบัสในหลายรัฐ เนื่องจากพวกเขากังวลเกี่ยวกับบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถิติของคดีชนแล้วหนีอาจแตกต่างกันไปในหลายรัฐฯ สำหรับเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลี ข้อมูลของตำรวจเดลีเปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2025 มีผู้เสียชีวิตจากคดีชนแล้วหนีถึง 200 ราย และตั้งแต่ปี 2023 มีผู้เสียชีวิตจากคดีชนแล้วหนีทั่วกรุงเดลีประมาณ 1,500 ราย โดยมีผู้เสียชีวิต 666 รายในปี 2023 และ 644 รายในปี 2024 ซึ่งผู้เสียชีวิตจากเหตุชนแล้วหนีส่วนใหญ่เป็นคนเดินเท้า ตามมาด้วยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์