ในระเบียบโลกใหม่ที่อำนาจตะวันตกกำลังถูกท้าทายโดยขั้วอำนาจใหม่เช่นจีนและกลุ่ม BRICS ประเทศไทยไม่ควรเลือกข้างมหาอำนาจ แต่ควรดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สมดุล เป็นมิตรกับทุกฝ่าย และแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการใช้ประวัติศาสตร์และ Soft Power เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติในเวทีโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
SPOTLIGHT พาคุณผู้อ่านไปหาคำตอบผ่านมุมมองของ ศ (พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้ที่ได้เสนอแนวคิด "ระเบียบโลกหลังตะวันตก" Post-Western World Order มานานกว่าสองทศวรรษ และบทวิเคราะห์ถึงแก่นแท้ของความเปลี่ยนแปลง ในระเบียบโลกใหม่
ระเบียบโลก (World Order) ที่ถูกครอบงำด้วยมุมมองแบบตะวันตกไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มีมานานแล้ว โดยตลอดสามศตวรรษที่ผ่านมา อำนาจและทิศทางของโลกถูกกำหนดโดยตะวันตกอย่างเบ็ดเสร็จ
"ผมคิดว่าโลกจะไม่ถูกควบคุมดูแลชี้นำโดยตะวันตกเท่านั้นแล้ว มันเกิดกระบวนการที่ผมเรียกว่า 'บูรพาภิวัตน์' นี่คือการที่ซีกโลก ซึ่งไม่ใช่ตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นจีน กลุ่ม BRICS อินเดีย รวมถึงเหล่าเสือเศรษฐกิจในเอเชีย ละตินอเมริกา และแอฟริกา กำลังผงาดขึ้นมาทวงคืนบทบาทและอำนาจในเวทีโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน” ศ.เอนก กล่าว
ภาพอันน่าทึ่งจนต้องขยี้ตาคือการที่อดีตเมืองขึ้นกลับมาผงาดทางเศรษฐกิจแซงหน้าอดีตเจ้าอาณานิคมอย่างไม่น่าเชื่อ! ลองดูตัวเลข ณ ไตรมาส 1 ปี 2568:
ข้อสังเกตทั้ง 3 ประเทศที่เคยเป็นอานานิคมของสหราชอาณาจักร (British Empire) มีการเติบโตของ GDP สูง อย่างมีนัยยะสำคัญ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ของสหราชอาณาจักร มูลค่า 3.839 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียง 0.5% เท่านั้น
นี่คือหลักฐานที่ชี้ชัดว่า อำนาจไม่ได้จำกัดอยู่ที่ คนขาว หรือ ฝรั่ง ที่ เก่ง ร่ำรวย อีกต่อไปแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องถอดแว่นตาตะวันตกออก แล้วมองโลกด้วยมุมที่กว้างขึ้น
ปี 2568 คือ ปีชี้ชะตาของการต่างประเทศไทย เพราะสถานการณ์รอบด้าน ทั้งนโยบายที่คาดเดาไม่ได้ของทรัมป์และการผงาดขึ้นของจีน กำลังบีบคั้นให้ไทยต้องเลือกข้าง ท่ามกลางกระแสกดดันจากมหาอำนาจ แต่ท่านได้ให้แนวทางอันเฉียบคมว่าไทยไม่ควรตกอยู่ในกับดักของการเลือกข้างนั้น
"โลกในยุคระเบียบโลกใหม่ของผมเนี่ย ต้องเป็นโลกที่ไม่ทะเลาะกับใครให้มากที่สุด และต้องหาเพื่อนให้มากที่สุด โดยเฉพาะเพื่อนใหม่ๆ" ศ.เอนก กล่าว
ศ.เอนก กล่าวต่อว่า “นโยบายต่างประเทศของไทยจึงต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่การกระชับมิตรกับมหาอำนาจดั้งเดิมอย่างอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ แต่ต้องกล้าที่จะบุกเบิก ตลาดใหม่ และ เพื่อนใหม่ ที่เราไม่เคยสนใจ เช่นแอฟริกา โดยเฉพาะไนจีเรีย ยักษ์ใหญ่ของทวีป หรือการรื้อฟื้นและกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่งมีทรัพยากรล้นเหลือและต้องการแสวงหามิตรในเอเชียมากขึ้น หลังถูกโดดเดี่ยวจากฝั่งยุโรป”
สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ถึงขนาดที่เราควรจะทิ้งจีน จีนก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ถึงขนาดทำให้เราต้องทิ้งอเมริกา ทิ้งยุโรป ทิ้งญี่ปุ่นและไม่หาเพื่อนใหม่ๆ ขณะเดียวกันเพื่อนใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นบราซิล ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย มันก็สำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เกินกว่าที่เราจะไม่สนใจ การรักษาสมดุลและมองการณ์ไกลจึงเป็นหัวใจสำคัญ ไทยต้องมีนักการทูตและผู้นำที่มีสายตากว้างขวาง และคิดอะไรที่ Unconventional (ไม่เป็นไปตามแบบแผน) เพื่อให้การต่างประเทศเดินหน้าไปได้ในยุคที่มหาอำนาจไม่ได้มีแต่ตะวันตกอีกแล้ว การเข้าร่วมกลุ่มอย่าง OIC (Organization of Islamic Cooperation) หรือ BRICS จึงเป็นสิ่งที่ไทยต้องให้ความสนใจและเข้าไปสร้างเครือข่าย
ปัญหากับเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ศ.เอนก ชี้ทางออกว่า ต้องพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความมั่นใจให้คนไทยว่าเราปกป้องอธิปไตยและเกียรติภูมิของชาติได้
เรียนรู้จากจีน ที่มี "Institutional Memory" อันแข็งแกร่งในการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับไทย ท่านยกตัวอย่างที่น่าสนใจ
“ทหารจีนเสียชีวิตไม่ใช่น้อย ในสงครามอินโดจีนครั้งที่สาม สู้รบกันระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในต้นปี 2522 เพื่อที่จะช่วยไทยให้พ้นจากความตึงเครียดเรื่องเวียดนามขยายตัวเข้ามาในกัมพูชา แล้วก็มาประชิดชายแดนไทย จีนก็ดีใจเสมอที่ไทยเข้าไปช่วยจีนเวลาเกิดอุทกภัย เกิดแผ่นดินไหว ไทยก็ส่งเงินไปสนับสนุนจีน” ศ.เอนก กล่าว
ยกตัวอย่างเช่น แผ่นดินไหวใหญ่ที่เสฉวน 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ขนาด 8.0 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 69,000 คน บาดเจ็บอีก 374,000 คน และสูญหายอีก 18,000 คน ไทยส่งความช่วยเหลือไปเป็นประเทศแรก ๆ นี่คือพลังของประวัติศาสตร์ที่สร้างสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของไทยและจีน
เช่นเดียวกันกับเพื่อนบ้านในอาเซียน ไทยควรบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่ไทยเคยให้ที่พักพิงแก่ผู้นำการปฏิวัติและผู้นำต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศเหล่านั้น ในฐานะเป็นชาติเดียวในเอเชียที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคม ประเทศเพื่อนบ้านที่ต่อสู้เพื่อจะเป็นเอกราชจากอังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ต้องมาอาศัยดิน อาศัยน้ำ อาศัยข้าวของประเทศไทย เราก็ควรจะต้องพูดถึงเรื่องพวกนี้
“เวียดนามเขาจำได้ไม่ลืมเลยว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เคยช่วยกระบวนการเวียดกง เวียดมินห์
…ในทุกปีเขาจะมาวางหรีด แล้วก็จะพูดถึงเรื่องนี้เขาไม่เคยลืม รวมถึงการที่ไทยส่งทหารไปช่วยเกาหลีในสงครามเกาหลี เกาหลีเวลาผมไปเจอผู้นำเกาหลี เขาก็ไม่ลืมว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในโลก ที่ส่งทหารมาช่วยเหลือ นอกจากอเมริกาที่ส่งทหารไปช่วยช่วยเกาหลี แล้วเกาหลีก็จะไม่ลืมบุญคุณอันนี้"
ศ.เอนก กล่าว
ในประเด็นการสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมาหรือกัมพูชา ไทยไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงอย่างโจ่งแจ้งตามหลักอาเซียน แต่เราสามารถให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการศึกษาได้
ศ.เอนก กล่าวต่อว่า “ประสบการณ์ตรงสมัยเป็น รมว. อว. ที่ได้เดินทางไปพม่า ลาว และกัมพูชา เพื่อมอบทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสาธารณสุขจำนวนมหาศาล แต่ละประเทศผมให้ทุนไปเป็นร้อยๆ ก็ถือเป็นการช่วยงานด้านการต่างประเทศ"
ท่านเน้นย้ำว่า "งานต่างประเทศไม่ได้ทำโดยกระทรวงการต่างประเทศกระทรวงเดียว แต่กระทรวงอื่นๆ โดยเฉพาะ ฃกระทรวงด้านอุดมศึกษาและสาธารณสุข สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญได้ เพราะการศึกษาไทยเป็นที่ยอมรับของเพื่อนบ้านและระบบสาธารณสุขไทยก็ดีที่สุดในอาเซียน ผู้นำเขาเจ็บไข้ได้ป่วยก็มารักษาที่ประเทศไทย นี่คือ ปริมณฑลที่เราต้องอย่าลืมว่ามันเป็นการต่างประเทศด้วย"
ในปัจจุบันเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองต่อต่างประเทศที่ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริง โซเชียลมีเดียเปรียบเสมือนดาบสองคม แต่การต่างประเทศต้องบริหารจัดการให้ดี และหากมีข้อมูลผิดพลาดเกี่ยวกับประเทศอื่นจำเป็นต้องรีบชี้แจงแก้ไข
ศ.เอนก ให้ความเห็นต่อว่า "เราก็พลิกซะที เอาข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเรา สิ่งที่เขาไม่ชอบเกี่ยวกับจีนเทาเราก็เอาไปเล่าให้ผู้นำจีนฟัง หรือส่งเสริมให้เยาวชนไปสัมผัสจีนด้วยตัวเอง
พวกที่เป็นห่วงเรื่องอุยกูร์ ก็ลองไปดูที่ซินเจียง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริง”
ในประเด็นเรื่องมารยาทสากล และ มุมมองของคนไทยต่อต่างประเทศ ศ.เอนก
ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศอื่นมากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเราไม่ได้เข้าใจสถานการณ์อย่างลึกซึ้ง
ท่านยังตั้งข้อสังเกตว่า คนไทยจำนวนมากมักมีมุมมองที่ว่าต่างประเทศดีเลิศกว่าประเทศไทย อย่างไม่มีเหตุผล แต่ประสบการณ์จะสอนให้เราตระหนักถึงคุณค่าของประเทศเราเอง
"ถ้าเขาได้ไปเที่ยวต่างประเทศมากมาก เขากลับมีความรู้สึกว่าประเทศไทยนั้นดี ต่างประเทศถึงจะดี แต่ก็มีข้ออะไรที่ที่เราไม่อยากจะอยู่ในประเทศนั้น ให้ไปเที่ยวอย่างเดียวพอได้ แต่ไปเที่ยวอย่างเดียวเราก็ต้องรู้จักระมัดระวังตัว และเราก็จะรู้สึกว่าเอ้ยประเทศไทยนี่มันมีความปลอดภัยเยอะนะ แล้วก็ไอ้คดีอะไรต่ออะไรที่มันเกิดในหลายประเทศเราก็ไม่มีใช่ไหม" ศ.เอนก กล่าว
บทเรียนสำคัญที่ ศ.เอนก เน้นย้ำว่าเราต้องสอนคนไทยให้รู้จักสถานะที่แท้จริงของประเทศไทย และ ความเป็นไปของประเทศเราในบริบทของโลก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่เป็นกลางและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ประเทศเรามี
โลกาภิวัตน์ถึงทางตัน? "เศรษฐกิจพอเพียง" คือทางรอด
ในประเด็นประเทศไทยขอเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ท่ามกลางกระแสข่มขู่จากอเมริกา
ศ.เอนก คลายความกังวลว่า "กลุ่ม BRICS ไม่ได้แอนตีอเมริกัน แล้วก็ทรัมป์ก็เป็นความเห็นหนึ่งของคนอเมริกันเท่านั้น แล้วเราไปตกใจเกินไปมันก็อาจจะทำให้เราทำอะไรไม่ได้สักอย่าง แล้วเราก็จะกลัวคนที่เสียงดัง BRICS กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและแซงหน้า G7 ในหลายมิติ ขณะที่แม้ใน G7 เองก็เริ่มมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกับสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อยๆ การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ตนเอง กำลังทำให้ อเมริกาทำตัวจนเองเพื่อนหายไปเรื่อยๆ"
ศ.เอนก วิเคราะห์ถึงกลับมาของทรัมป์ แม้จะดูเหมือนเป็น Outlier หรือสิ่งที่ผิดแปลกไปจากระเบียบโลกเสรีนิยมที่ดำเนินมานาน แต่ย่อมส่งผลกระทบอย่างแน่นอน
“คนอเมริกันเริ่มตระหนักแล้วว่าหากไม่เปลี่ยนแปลง อเมริกาจะอ่อนแอและถดถอยลงไปเรื่อยๆ สาเหตุหนึ่งคือผลพวงจากโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่รุนแรงเกินไป ทำให้อเมริกาขาดความรอบด้านในการผลิต แม้แต่เรือรบที่ทันสมัยก็ต้องไปจ้างจีน เกาหลี หรือญี่ปุ่นต่อโครงสร้างพื้นฐาน แล้วค่อยนำกลับมาประกอบชิ้นส่วนไฮเทค (High-Tech) ในประเทศ ซึ่งต่างจากจีนที่มีซัพพลายเชน (Supply Chain) ขนาดใหญ่และครบวงจร สามารถผลิตได้ทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ”
ศ.เอนก เสนอแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นสิ่งที่ควรเร่งนำมาใช้และเผยแพร่ เพราะการแบ่งงานที่มากเกินไปจนประเทศหนึ่งพึ่งพาการผลิตจากภายนอกมากเกินไปนั้น ทำให้เกิดความไม่มั่นคงสูง อเมริกาเองก็ควรกลับมาให้ความสำคัญกับภาคการผลิตพื้นฐาน แม้จะมีต้นทุนสูง ก็อาจต้องมีการ "ซับซิไดซ์" (Subsidize) เพื่อรักษาความสามารถในการผลิตสิ่งจำเป็น เช่น เหล็กกล้า หรือแร่หายากที่ปัจจุบันพึ่งพาจีนเกือบทั้งหมด
ในโลกที่มีความขัดแย้ง ประเทศจะอยู่รอดได้ด้วย อาหารและที่อยู่อาศัย ประเทศไทยมีความได้เปรียบในเรื่องอาหาร ซึ่งแตกต่างจากบางประเทศอย่างรัสเซียที่อาหารมีจำกัด ยกตัวอย่างเช่นซาอุดีอาระเบียที่ต้องการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร โดยอยากให้ประเทศไทยเข้าไปมีความร่วมมือด้านอาหารเข้าไปช่วยพัฒนาแหล่งผลิตอาหารในซาอุฯ แอฟริกา เพื่อแลกกับทรัพยากรที่ไทยเรายังต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นโมเดลความร่วมมือที่น่าสนใจ
ศ.เอนก สรุปว่า “โลกยุคใหม่นี้ทำให้เราต้องคิดใหม่เรื่องโลกาภิวัตน์ และในการต่างประเทศ เราจำเป็นต้องรู้ภาษาอื่นๆ มากขึ้น นอกเหนือจากภาษาอังกฤษและจีน เพื่อขยายโอกาสและความร่วมมือในมิติที่หลากหลายยิ่งขึ้น”