ทรามาดอล ประกาศเป็น ยาควบคุมพิเศษ รู้ทันอันตราย กลไกออกฤทธิ์ที่มักนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่ 57 ประกาศโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2568
ประกาศดังกล่าว ระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 76 (4) แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 และมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการยา ในการประชุมครั้งที่ 421-5/2567 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (99) ของข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ยาควบคุมพิเศษ
ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2521
“(99) ยาทรามาดอล (Tramadol) ตำรับยาเดี่ยว ชนิดรับประทาน”
ทรามาดอล (Tramadol) เป็นยาระงับปวด กลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) ข้อบ่งใช้รักษาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรงชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น อาการปวดจากบาดแผล กระดูกหัก การบาดเจ็บของเส้นประสาท ไม่ควรใช้ในอาการปวดเล็กน้อย
1. กระตุ้นมิวรีเซปเตอร์ (µ-receptor) จะมีฤทธิ์ลดความปวด และมีฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดภาวะเคลิ้มสุข (euphoria)
2. ยับยั้งการเก็บกลับของสารสื่อประสาทชนิดโมโนเอมีน (monoamine) คือ นอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) และ เซอโรโทนิน (serotonin) ทำให้สารสองชนิดนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้นและลดอาการปวดได้
การใช้ยาทรามาดอลเกินขนาด ในปัจจุบันพบมากในกลุ่มวัยรุ่นที่นำยามาใช้ผิดวัตถุประสงค์ในการเสพเพื่อผ่อนคลายและหากใช้ไปนานๆ จะเกิดการเสพติด และทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน มึนงง เคลิ้ม เฉื่อยชา
การเกิดพิษจากทรามาดอลแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ การตั้งใจรับประทานยาเกินขนาด เช่น การรับประทานยาเพื่อฆ่าตัวตาย และเป็นผลจากการเสพเพื่อผ่อนคลาย
อาการเมื่อใช้ยาเกินขนาด ได้แก่ อาการซึม หมดสติ คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ/สูง ชัก หมดสติแบบลึก
ดังนั้น การรับประทานยาทรามาดอลเกินขนาด และการนำยาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
Advertisement