กลาก เกลื้อน ไม่ได้แปลว่าคนๆ นั้น สกปรก ซกมก เสมอไป กลากเกลื้อน คือโรคผิวหนังคนสะอาดๆ ก็เป็นได้ สาเหตุเกิดจากอะไร หายได้หากรักษาอย่างถูกวิธี
“เป็นกลากเหรอ… ไม่อาบน้ำล่ะสิ” “เกลื้อนเต็มตัวเลย สกปรกแน่ๆ” คำพูดเหล่านี้อาจฟังดูเล่นๆ หรือพูดติดตลกในวงสนทนา แต่สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญโรคกลากเกลื้อน มันคือมีดปลายแหลมที่บาดลึกถึงหัวใจ
แม้ในยุคที่คนไทยสามารถเข้าถึงแพทย์และข้อมูลสุขภาพได้ง่าย แต่ “กลาก” และ “เกลื้อน” ก็ยังถูกมองว่าเป็น “โรคของคนสกปรก” โดยอัตโนมัติ ความเชื่อนี้ไม่เพียงผิดพลาด แต่ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วย และอาจนำไปสู่พฤติกรรมรักษาที่ผิดวิธีอีกด้วย
Amarin Online ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจโรค “กลาก, เกลื้อน” อย่างถูกต้องในพฤติกรรม ปัจจัยเสี่ยง รวมถึงผลกระทบทางสังคม พร้อมแนวทางป้องกัน รักษา และเปลี่ยนทัศนคติของสังคมไทย เพื่อไม่ให้ใครต้องรู้สึกละอายกับโรคที่ใครๆ ก็เป็นได้
“กลาก” หรือ Tinea corporis เป็นการติดเชื้อราบนผิวหนังที่มีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรี ขอบแดงนูน คัน และอาจลอกเป็นขุย เชื้อที่เป็นสาเหตุหลักคือกลุ่ม Dermatophytes โดยเฉพาะ Trichophyton rubrum ซึ่งเติบโตได้ดีในสภาพอับชื้น เช่น ใต้ราวนม ขาหนีบ รักแร้ หรือบริเวณที่มีเหงื่อสะสม
“เกลื้อน” Pityriasis versicolor หรือ Tinea versicolorr เกิดจากเชื้อราในกลุ่ม Malassezia ซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่นของผิวหนังเราอยู่แล้ว แต่จะเจริญเติบโตผิดปกติในสภาวะอับชื้น ทำให้เกิดรอยสีขาว สีน้ำตาล หรือสีชมพูที่ผิวหนัง โดยเฉพาะที่หลัง หน้าอก ต้นแขน และลำคอ
เชื้อพวกนี้ไม่ใช่เชื้อโรคจากสิ่งสกปรกภายนอก แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพผิวหรือภูมิคุ้มกันในร่างกายเอง
เชื้อราที่ก่อให้เกิดกลากเกลื้อนต้องการ “สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต” ซึ่งได้แก่
• ความอับชื้นจากเหงื่อ
• ความร้อนและความชื้นของอากาศ
• เสื้อผ้าที่ไม่ระบายอากาศ
• การใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า รองเท้า
• ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะขาดสารอาหาร หรือผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิ
กล่าวคือ แม้จะอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ใส่น้ำหอม ใช้สบู่แพงๆ ก็ยังเป็นกลากเกลื้อนได้ หากสภาพผิวและพฤติกรรมเอื้อให้เชื้อราเจริญเติบโต
1. ความสะอาดไม่ใช่ปัจจัยเดียว
การติดเชื้อราไม่ได้เกิดจากความ “สกปรก” เพียงอย่างเดียว แต่มาจาก “สภาพผิวที่เหมาะสมต่อเชื้อ” เช่น ความอับชื้น การเสียดสี และอุณหภูมิสูง เช่น คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ สวมเสื้อผ้ารัดแน่น ซับเหงื่อไม่ดี หรืออาศัยอยู่ในเมืองร้อนชื้นอย่างกรุงเทพฯ
2. คนรักสะอาดก็ติดได้
คนจำนวนไม่น้อยที่รักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด ก็ยังพบกลากหรือเกลื้อนได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือใช้ยาบางชนิดที่รบกวนสมดุลของผิวหนัง
3. เป็นโรคผิวหนังทั่วไป ไม่ใช่โรคที่ต้องอับอาย
กลากเกลื้อนคือ “โรคผิวหนังติดเชื้อ” ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 2–4 สัปดาห์ และไม่มีอันตรายร้ายแรงหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
ความอับอาย
คนที่มีผื่นบนใบหน้า คอ หรือแขน มักถูกจ้องมอง หรือถูกเข้าใจผิดว่าไม่รักษาความสะอาด ทำให้เกิดความอับอายจนไม่กล้าเข้าสังคม
การตีตราทางสังคม
บางคนถูกล้อ ถูกแซว หรือลดความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน เพราะเข้าใจว่าเป็นโรคติดต่อจากความสกปรก
การปิดบังโรคและรักษาผิดวิธี
ผู้ป่วยหลายคนเลือกใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาที่โฆษณาในโซเชียล โดยไม่ไปพบแพทย์ เพราะกลัวคนอื่นรู้ว่าตัวเองเป็นกลาก เกลื้อน
• ไม่ล้อเลียนผู้ป่วย: การล้อเล่นอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผิดและหลีกเลี่ยงการรักษา
• ให้กำลังใจ แทนการตำหนิ: คำพูดเชิงบวกช่วยให้ผู้ป่วยกล้าเข้ารับการรักษาเร็วขึ้น
• เผยแพร่ความรู้ให้ถูกต้อง: โรงเรียน ที่ทำงาน และครอบครัวควรมีส่วนในการให้ความรู้
1. อาบน้ำทันทีหลังออกกำลังกายหรืออยู่ในที่ร้อนชื้น
2. ใช้ผ้าเช็ดตัวของตัวเอง และซักเป็นประจำ
3. สวมเสื้อผ้าระบายอากาศดี
4. หลีกเลี่ยงการใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
5. หากเป็นแล้วควรรีบรักษา อย่ารอให้ลุกลาม
แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการให้ทายาต่อเนื่องอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์เป็นหลัก ไม่ควรซื้อยาประเภทเสียรอยด์จากร้านขายยามาทาเอง เพราะอาจทำให้เกิดการลุกลามกว่าเดิมได้
กลากเกลื้อนไม่ใช่เรื่องน่าอาย และไม่ได้บอกว่าคุณเป็นคนสกปรก ใครๆ ก็เป็นได้ ขอแค่รู้ทัน รักษาถูกวิธี และดูแลตัวเองให้ดีขึ้น
แหล่งอ้างอิง
1. WebMD: Tinea Versicolor Overview
2. Mayo Clinic: Ringworm (Tinea corporis)
3. Siriraj Medical Journal. (2017). Clinical study of pityriasis versicolor patients in Bangkok
4. American Academy of Dermatology Association (AAD): Fungal skin infections
5. PubMed Central: Dermatophyte Infections
6. J Fungi. 2023 Jun;9(6):669. doi:10.3390/jof9060669.
7. https://bangkokhospitalchanthaburi.com/article/38
Advertisement