ธุรกิจการตลาด

ทำไม Toyota ไม่ลุยรถ EV เต็มตัว? 3 มุมมองที่สาวกอาจยังไม่รู้

11 ก.ค. 66
ทำไม Toyota ไม่ลุยรถ EV เต็มตัว? 3 มุมมองที่สาวกอาจยังไม่รู้

แม้ Toyota จะเป็นเจ้าตลาดรถยนต์เบอร์ต้นของโลก แต่ในยุคที่รถยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) กำลังเฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ Toyota กลับดูเหมือนจะปรับตัวช้า และเสี่ยงที่จะถูกคู่แข่งจากฝั่งจีน ยุโรป สหรัฐฯ แย่งส่วนแบ่งตลาดยานยนต์ไป อย่างเช่นตัวเลขล่าสุด รถที่ขายดีที่สุดในโลกคือ ‘Tesla Model Y’ (4.28 แสนคัน) แซงหน้า ‘Toyota Corolla’ (4.11 แสนคัน) แชมป์เก่าของปีก่อนไปแล้ว (ข้อมูล ณ เดือนพ.ค. 2023)


แม้กระแส EV มาแรงขนาดนี้ แต่ทำไมค่ายรถญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota จึงยังไม่กล้าลงเล่นแบบเต็มตัว? มาทำความเข้าใจ Toyota พร้อมกัน

 

planned-toyota-electric-vehic


 

3 เหตุผลที่ Toyota ยังไม่ลุย EV เต็มสูบ

 

Akio Toyoda ประธานกรรมการและทายาทรุ่นที่ 2 ของผู้ก่อตั้ง Toyota ที่สื่อแซวว่า ‘เจ้าน้ำตา’ ยังคงกังขากับกระแสรถยนต์ EV เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศญี่ปุ่น และต่อโลก อีกทั้ง Toyota เองก็ทุ่มทุนไปกับรถไฮบริดไปอย่างมหาศาล ดังนี้

ลงทุนไปกับ Hybrid เยอะ และความนิยมยังไม่ตก

 

Toyota นับเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีรถยนต์ไฮบริดอันดับต้นๆ ของแวดวงยานยนต์ โดยมี ‘Prius’ รุ่นแรก เป็นรถยนต์ไฮบริดที่ออกวางจำหน่ายรุ่นแรกของโลก ถือกำเนิดขึ้นในปี 1997 นับจากนั้นก็มีรถเครื่องยนต์แบบไฮบริดทยอยออกมาหลายรุ่น แม้รถรุ่นดังที่เคยเป็นเครื่องยนต์สันดาป 100% ก็มีหลายรุ่นที่ออกโมเดลใหม่เป็นแบบไฮบริด ซึ่งนับว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับโลก

จนกระทั่งการมาของ Battery Electric Vehicle (BEV) ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ 100%

แม้รถยนต์ไฮบริดจะช่วยลดการใช้น้ำมันด้วยการผสมผสานการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ควบคู่ไปด้วย แต่เทรนด์ของโลกนี้กลับมุ่งไปที่การยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้สปอตไลท์กับรถ BEV มากกว่า จึงเป็นการกดดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นที่ได้เป็นผู้ริเริ่ม และใส่เงินลงทุนไปกับรถยนต์ไฮบริดเป็นจำนวนมหาศาล และต้องการจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ให้ได้อย่างยาวนานที่สุด

อย่างไรก็ดี ในตลาดรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นขณะนี้ รถยนต์ไฮบริดก็ยังเป็นรถยนต์ที่คนญี่ปุ่นนิยมใช้มากที่สุด คิดเป็น 40% ของยอดขายปี 2020 และค่ายรถยนต์ก็ยังนิยมออกรถรุ่นใหม่เป็นไฮบริด จึงอาจทำให้ EV กินส่วนแบ่งในตลาดญี่ปุ่นได้น้อย รวมถึงการที่ค่ายรถที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Toyota ยังสงวนท่าทีต่อการบุกตลาด EV จึงทำให้ค่ายอื่นๆ มีทิศทางไปในแนวทางเดียวกันด้วย

 

000_hkg4883593



ความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมเดิม เสี่ยงทำคนตกงาน 84,000 คน

 

แน่นอนว่า การที่ญี่ปุ่นจะปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ เปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ย่อมส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจและพนักงานในอุตสาหกรรมเดิม โดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ บริษัทที่ปรึกษาเก่าแก่ของสหรัฐ Arthur D. Little คาดว่า การเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้ลูกจ้าถึง 84,000 ตำแหน่งต้องตกงานภายในปี 2050

เนื่องจากในระบบเครื่องยนต์สันดาปนั้น ประกอบไปด้วยชิ้นส่วน ระบบเครื่องยนต์ที่มีจำนวนมากและซับซ้อนกว่าของรถ EV จึงมีซัพพลายเออร์ และแรงงานฝีมือ วิศวกรเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหากญี่ปุ่นตัดสินใจมุ่งสู่อุตสาหกรรม EV จริงจัง



ไฮบริด - ไฮโดรเจน ก็รักษ์โลกได้

 

นอกจากจะมุ่งไปในด้านรถยนต์ไฮบริดอย่างเข้มข้นแล้ว ประธาน Akio ยังมีมุ่งมั่นในการชู ‘รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน’ รถยนต์พลังงานสะอาดที่เหนือกว่ารถ EV (เพราะมีวัตถุดิบเป็นแก๊ส ไฮโดรเจน และ ออกซิเจน เหมือนในอากาศ และมีของเสียออกมาเป็น ‘น้ำบริสุทธิ์’) ซึ่งแม้จะเป็นคอนเซปต์ที่ดี แต่ยังมีอุปสรรคในการใช้งาน และผลิตจริงในญี่ปุ่น รวมถึงในประเทศอื่นๆ ด้วย

ประธาน Akio เป็นผู้ที่รักในความเร็ว จึงได้นำเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนไปใช้ในรถแข่งของ Toyota เพื่อเป็นการโปรโมตเทคโนโลยีนี้ด้วย ตัวเองประธาน Akio เองมองว่า ทั้งเทคโนโลยีไฮบริด และเชื้อเพลงไฮโดรเจน ก็เป็นทางเลือกที่จะช่วยโลกได้เช่นกัน แถมยังตั้งข้อสงสัยว่า พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่ทั่วโลกกำลังมุ่งไปหานั้น หากต้นทางของพลังงาน ได้แก่ โรงผลิตไฟฟ้านั้น ใช้เชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อโลก เช่น ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ก็เท่ากับเป็นการทำร้ายโลกทางอ้อมอยู่ดี

 

toyotalineup



ไม่ใช่แค่ท่าทีของประธาน Akio และ Toyota เท่านั้น หากเทียบกันระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่น กับรัฐบาลฝั่งยุโรป และสหรัฐ จะพบว่า การบังคับใช้กฎหมายเพื่อกดดันให้ประชาชนหันมาใช้รถ EV นั้นแตกต่างกัน อย่างเช่นในฝั่งยุโรป EU ได้ออกประกาศแบนการขายรถใหม่ที่เป็นรถยนต์ และรถตู้เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน (เครื่องยนต์เบนซิน ดีเซล รวมถึงไฮบริด) ตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับหลายรัฐในสหรัฐ

แต่ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นประกาศเพียงว่าจะแบนการขายรถยนต์ที่เครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันเท่านั้น (เครื่องยนต์ดีเซล เบนซิน) ในปี 2035 เปิดช่องว่างให้รถยนต์ไฮบริดซึ่งปัจจุบันเป็นรถส่วนใหญ่ของตลาดยังวิ่งได้อยู่ อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในการปรับธุรกิจให้เข้าสู่โลกอุตสาหกรรมยุคใหม่ได้มากขึ้น
 

หากมองในมุมของรัฐบาลญี่ปุ่นและ Toyota ก็อาจเข้าใจได้ว่า การผลีผลามเข้าสู่อุตสาหกรรม EV เร็วเกินไป ก็อาจทำให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์มูลค่ากว่า 4.38 ล้านล้านบาทของญี่ปุ่นสั่นคลอน แต่หาก Toyota ยังช้าอยู่แบบนี้ ก็อาจเสียเก้าอี้ผู้นำให้กับค่ายรถประเทศอื่นๆ ที่เร่งออกโมเดลใหม่ๆ มาเอาชนะใจลูกค้าได้

 

 

รุ่นรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุด ปี 2020

  1. Toyota Corolla: 1,150,000 คัน

  2. Toyota RAV4: 1,070,000 คัน

  3. Honda CR-V: 885,000 คัน
     
  4. Nissan Sentra: 705,000 คัน

  5. Toyota Camry: 635,000 คัน

  6. Ford F-150: 620,000 คัน

  7. Honda Civic: 560,000 คัน

  8. Honda HR-V: 560,000 คัน

  9. Chevrolet Silverado: 500,000 คัน

  10. Honda Accord: 500,000 คัน

 

39fb5f641c15477999a43d6667183



รุ่นรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุด ปี 2023 (ตัวเลข ณ เดือน พ.ค. 2023)

 

  1. Tesla Model Y: 427,524 คัน

  2. Toyota Corolla: 410,732 คัน
     
  3. Ford F-Series : 358,945 คัน
     
  4. Toyota RAV4 : 324,061 คัน
     
  5. Chevrolet Silverado : 252,545 คัน
     
  6. Honda CR-V : 249,184 คัน
     
  7. Hyundai Tucson : 245,863 คัน
     
  8. Toyota Camry : 245,066 คัน
     
  9. Toyota Hilux : 231,784 คัน
     
  10. Tesla Model 3 : 226,049 คัน



ที่มา : Focus2Move, Japan Times, The New York Times, Financial Times, Mint


advertisement

SPOTLIGHT