ธุรกิจการตลาด

โตโยต้า ประกาศผลิตรถ EV แบตเตอรี่โซลิดสเตต ชาร์จเต็มเร็วกว่าไอโฟน

14 มิ.ย. 66
โตโยต้า ประกาศผลิตรถ EV แบตเตอรี่โซลิดสเตต ชาร์จเต็มเร็วกว่าไอโฟน

แฟนๆค่ายรถญี่ปุ่นแอบเป็นห่วงมาโดยตลอดว่า ค่ายรถญี่ปุ่นกำลังตกขบวนยานยนต์ไฟฟ้าหรือไม่หลังจากค่ายจีนพัฒนารถไฟฟ้าหรือ BEV ออกมาอย่างรวดเร็วและสามารถทำยอดขายมากขึ้นเรื่อยๆในตลาดโลก

ล่าสุดประธานฝ่ายผลิตรถไฟฟ้า BEV ของโตโยต้า ทาเคโระ คาโตะ ออกมาประกาศว่า บริษัทมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้ไกลถึง 1,000 กม. จำนวน 1.7 ล้านคันภายในปี 2030 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่งระยะการขับขี่ยาวถึง 1,000 กม.นี้ ไกลกว่าค่ายคู่แข่งอย่าง  Tesla Model 3 วิ่งได้ 430 กม. ส่วนรุ่น  long-range ก็วิ่งได้ 570 กม. 

ที่น่าสนใจคือ โตโยต้า ประกาศพัฒนาวิธีการผลิตแบตเตอรี่แบบโซลิดสเตตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะผลิตในอนาคตอีกด้วย คาดว่าจะสามาถวางจำหน่ายได้ ราวปี 2570 ถึง 2571 และในการผลิตรถไฟฟ้าจะปรับมาใช้แบตเตอรี่แบบโซลิดสเตตให้ได้ราว 20%  ของการผลิตรถ 

แบตเตอรี่แบบโซลิดสเตต นั้นมีข้อดีกว่าแบตเตอรี่ที่ใช้อยู่ในรถไฟฟ้าปัจจุบัน ที่เป็นแบบลิเธียมไออน  เพราะมันสามารถชาร์จเต็มในเวลาที่สั้นกว่ามาก และเก็บพลังงานได้มากกว่าทำให้รถที่ใช้แบตเตอรี่แบบโซลิดสเตต วิ่งได้ไกลกว่ารถที่เป็นแบตลิเธียมไออนหลายเท่าตัว ซึ่งหากโตโยต้าพัฒนาได้สำเร็จจริงก็จะถือว่าน่าจะแย่งตลาดกลับคืนมาได้มากเลยทีเดียว 

นิเคอิ รายงานว่า แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชนิดโซลิดสเตตใช้เวลาชาร์จไม่ถึง 10 นาทีและทำให้ยานพาหนะวิ่งได้มากกว่า 1,200 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium-ion) ถึง 2.4 เท่าตัว แต่รู้หรือไม่ว่า โตโยต้ามีแผนพัฒนาให้สามารถวิ่งได้ 1,500 กม.เลยทีเดียว 

ข้อจำกัดที่ต้นทุนสูง และ การชาร์จซ้ำน้อยกว่าแบตลิเธียมไออน 


แม้จะมีข้อดีที่ชาร์จสั้น วิ่งยาวกว่า แต่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชนิดโซลิดสเตตก็มีข้อจำกัดว่า อายุการใช้งานของมันมีข้อจำกัดหรือไม่ จำนวนการขาร์จซ้ำทำได้น้อยกว่า แบตเตอรี่ลิเธียมไออน  และโตโยต้าเป็นผู้นำด้านแบตเตอรี่โซลิดสเตต โดยถือครองสิทธิบัตรมากกว่า 1,000 ฉบับ ในปี 2020 โตโยต้าได้ทดสอบขับรถ EV ต้นแบบด้วยแบตเตอรี่โซลิดสเตตแล้วด้วย 

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ท้าทายโตโยต้าอย่างมาก คือ ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชนิดโซลิดสเตตที่ยังสูงมากเมือเทียบกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน สูงกว่าถึง 4-25 เท่าตามรายงานของสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศญี่ปุ่น โดยปัจจุบันแบตเตอรี่มีราคาระหว่าง 60,000 เยนถึง 350,000 เยน (430 ถึง 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ) คิดเป็นเงินไทย 14,000 - 87,500 บาท ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงการผลิต ขณะที่ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนอยู่ที่  14,000 เยนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือราว 3,460 บาท 

หลังการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารองค์กร ดูเหมือนโตโยต้าจะมีการเปลี่ยนแปลงและชัดเจนมากขึ้นในการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยโตโยต้าตั้งเป้าว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือปี 2026 จะมียอดขายรถไฟฟ้าถึง 1.5 ล้านคัน และในปี 2030 จะขายรถไฟฟ้าได้ถึง 3.5 ล้านคันอีกด้วย 

ที่มา Bloomberg

Nikkei Asia 

advertisement

SPOTLIGHT