ธุรกิจการตลาด

Grab ยังขาดทุนหนัก 8.6 พันล้านบาท หวังตั้งเป้าจบปีนี้ จะขาดทุนเป็น 0

23 พ.ค. 66
Grab ยังขาดทุนหนัก 8.6 พันล้านบาท หวังตั้งเป้าจบปีนี้ จะขาดทุนเป็น 0

Grab เดินทางจากสตาร์ทอัพเรียกรถแห่งอาเซียน สู่ Super App ที่จดทะเบียนบนกระดาน Nasdaq ของสหรัฐได้สำเร็จ ความท้าทายที่อยู่กับ Grab มาตั้งแต่ช่วงแรกของการทำธุรกิจ คือ ‘การขาดทุน’ ซึ่งในปีนี้บริษัท ตั้งเป้าว่าจะทำให้ผลขาดทุนที่เคยพุ่งไประดับหมื่นล้าน กลายเป็น 0

ล่าสุด ผลประกอบการของ Grab ในไตรมาสแรกของปี 2023 ออกมาแล้ว มีไฮไลต์อะไรน่าสนใจ และความท้าทายที่รออยู่ คือ อะไรบ้าง?

 

Grab ไรเดอร์

 
 
Grab ยังขาดทุนอ่วม นับถอยหลัง 9 เดือนสู่เป้าหมาย “เท่าทุน”

 

เหมือนจะกลายเป็นธรรมเนียมกลายๆ ของบริษัทในแวดวงสตาร์ทอัพ ที่ต้องการสร้างฐานผู้ใช้งานที่แข็งแรงมากกว่าผลกำไร ยอม ‘เผาเงิน’ ของนักลงทุน เพื่อหวังให้บริษัทเติบโต แต่เมื่อบริษัทก้าวสู่ขั้นตอนของการเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้ว

Anthony Tan ซีอีโอของ Grab ตั้งเป้าให้บริษัทพลิกตัวเลขขาดทุน ให้กลายเป็น ‘เท่าทุน’ ให้ได้ในปีนี้ ก่อนจะเติบโตเป็นกำไรในอนาคต

Grab ได้รายงานตัวเลขผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2023 มีผลประกอบการ ‘ขาดทุนสุทธิ’ ทั้งสิ้น 250 ล้านดอลลาร์ (ราว 8,660 ล้านบาท) ลดลง 43% นับว่าน้อยกว่าตัวเลขขาดทุนของช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ขาดทุน 435 ล้านดอลลาร์ (15,100 ล้านบาท) โดยในไตรมาสแรกนี้ Grab มีรายได้ทั้งสิ้น 525 ล้านดอลลาร์ (18,200 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 130% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

Grab เปิดเผยว่า ผลประกอบการที่เติบโตขึ้นนั้น มาจากการเติบโตของธุรกิจในทุกเซกเมนต์ การลดค่าตอบแทน และการปรับโมเดลธุรกิจในบางประเทศ จากการเป็นตัวกลางจัดหาบริการเดลิเวอรี่โดยพาร์ทเนอร์-คนขับ ให้แก่ลูกค้า เปลี่ยนเป็น ผู้ให้บริการด้านเดลิเวอรี่แก่ลูกค้า ผ่านการทำสัญญาระยะยาว

 

Grab Car



Momentum Works บริษัทที่ปรึกษาและวิเคราะห์ธุรกิจ เผยมุมมองต่อผลประกอบการที่ออกมาของ Grab โดยมีจุดที่น่าสนใจ ดังนี้

 

  • ปี 2022 Grab ตั้งเป้าที่จะเพิ่มผลกำไรให้บริษัท และยังคงเดินหน้ากลยุทธ์ดังกล่าวต่อในปีนี้ ส่งผลให้ผลประกอบการขาดทุนลดลง 43%
  • Grab ยังเดินหน้าลดค่าตอบแทนลงอีก 5% เทียบกับไตรมาสก่อน หรือคิดเป็น 30% เทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็น 390.8 ล้านดอลลาร์ (13,500 ล้านบาท) ในไตรมาสที่ 1/2023
  • บริษัทยังคงเร่งเครื่องการเพิ่มรายได้ผ่านหลายวิธี หนึ่งในนั้น คือ การขึ้นค่าค่าบริการจากผู้ใช้ ดังเช่นในสิงคโปร์ ที่ Grab เพิ่งขยับค่าบริการการเรียกรถ จาก 0.3 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 0.7 ดอลลาร์สิงคโปร์ ในเดือนพฤษภาคมนี้
  • ยอดการซื้อสินค้าและบริการผ่านเดลิเวอรี่ (Deliveries GMV) ของ Grab ลดลง 9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือลดลง 1% เทียบกับในไตรมาสก่อน ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้ใช้ คือ ปัจจัยเฉพาะตัวของกลุ่มประเทศอาเซียน อย่าง “เดือนรอมฎอน” หรือช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม ที่ส่งผลกระทบราว 1-2 สัปดาห์ ในไตรมาสที่ 1 นอกจากนี้ ช่องทางเพิ่มรายได้ของ Grab เช่น ค่าบริการ หรือ ค่าบริการเพิ่มสำหรับตัวเลือก ส่งไว (Priority Fee) ที่มาช่วยเพิ่มรายได้ แต่ส่งผลกดดันให้จำนวนออเดอร์ลดลง


    แกร็บ ไรเดอร์
  • บริการเรียกรถ จะยังทำหน้าที่เป็นแหล่งรายได้หลักของ Grab และครองเบอร์ 1 ของตลาดอาเซียนได้อย่างเหนียวแน่น รายได้จากกลุ่มธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ Grab บอกว่า บริษัทจะเพิ่มปริมาณคนขับอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่มุมมองของ Momentum Works ระบุว่า ผู้ใช้บางรายก็ยังประสบปัญหารอคนขับมารับนานอยู่ดี แม้ Grab จะลดการแจกส่วนลด และเพิ่มค่าเรียกรถ อาจส่งผลต่อผู้ใช้งานขาจร แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อดีมานด์ของผู้ใช้งานประจำ
  • Grab ได้หยุดการชี้แจงเรื่องค่าคอมมิชชันในแถลงการณ์ จุดนี้ Momentum Works มองว่าเป็นการย้ายโฟกัสไปยังตัวเลขผลประกอบการ และการขยับค่าจีพีขึ้น หรือลง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่สังคมจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งสิ้น
  • ตัวเลขผู้ใช้บริการรายเดือน (Monthly Transacting User, MTU) เพิ่มขึ้นจาก 32.7 ล้านคน เป็น 33.3 ล้านคน แต่ก็ยังคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 5% ของจำนวนประชากรอาเซียนทั้งหมด โดย Grab ได้ส่งสัญญาณตั้งแต่ปีก่อนแล้วว่า จะมุ่งโฟกัสไปยังตลาด Premium เพิ่มมากขึ้น
  • สุขภาพการเงินของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์ดี ตัวเลขจากผลประกอบการไตรมาสล่าสุด ออกมา บริษัทยังมีสภาพคล่องอยู่ได้อีกนานกว่า 8 ปี ถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่าแผนของบริษัทที่จะพลิกมาเท่าทุน และทำกำไร จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดีของบริษัท

 

 



Grab ไทยตั้งเป้าเท่าทุน แต่ยังต้องรักษาสมดุลไรเดอร์-ร้านค้า-ลูกค้า-บริษัท

 

 

หัวเรือใหญ่ของ Grab ประเทศไทย ‘วรฉัตร ลักขณาโรจน์’ เคยให้สัมภาษณ์กับ SPOTLIGHT เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า “ใน Ecosystem ของเรามีคนอยู่ 4 ส่วน พี่ๆ คนขับ, ลูกค้า, ร้านอาหาร และบริษัท ทั้งสี่คนต้องอยู่ร่วมกันได้แบบพอเหมาะพอดี”

หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับ 1 ใน 4 เสา ย่อมส่งผลกระทบต่อเสาอื่นๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ในเป้าหมายของ Grab ปีนี้ที่จะ “ลดการขาดทุนให้เหลือ 0” ย่อมส่งผลพวงมายังไรเดอร์ ร้านค้า และลูกค้าด้วยเช่นกัน

นาย วรฉัตร กล่าวว่า Grab ประเทศไทย กำลังมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกับบริษัทแม่ คือ ลดผลการขาดทุนให้เป็น 0 โดยบริษัทจะมุ่งสร้าง Loyalty กับลูกค้าผ่านแพ็คเกจ ‘Grab Unlimited’ ซึ่งเป็นโมเดล Subscription ที่จะให้ลูกค้าจ่ายรายเดือน แลกกับส่วนลดและสิทธิพิเศษ เพื่อหวังสร้างฐานลูกค้าขาประจำ, เจาะตลาดพรีเมียม ที่มีทั้งกำลังซื้อ และความสม่ำเสมอ, เร่งทำตลาด B2B โดยทำหน้าที่เป็น ‘ผู้ให้บริการด้านเดลิเวอรี่ ส่งคน ส่งอาหาร’ ของบริษัท ใช้การซื้อแบบเหมา แทนการที่บริษัทจะให้พนักงานซื้อเองเป็นรอบๆ หรือต้องมีแมสเซนเจอร์ของตัวเอง

แต่หนึ่งประเด็นสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อคนหลักหมื่น ไปจนถึงแสนคนที่เป็นพาร์ทเนอร์ของ Grab คือ ‘การลดค่ารอบ’

 

@spotlightbizth เสียงจากไรเดอร์ #Grab เรื่อง #ลดค่ารอบ กระทบแค่ไหน? #ม็อบไรเดอร์ #แกร็บ #ส่งอาหาร #ฟู้ดเดลิเวอรี่ #ไรเดอร์ #ขับแกร็บ #ปากท้อง #ค่าส่ง #ของแพง #ม็อบ #แกร็บคาร์ #แกร็บฟู้ด #grabcar #grabfood #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ข่าว #Spotlight #ข่าวธุรกิจ #ข่าวtiktok ♬ Suspense, horror, piano and music box - takaya


 

 
Grab ลดค่ารอบ กระทบไรเดอร์หนัก

 

ก่อนหน้านี้ SPOTLIGHT ได้นำเสนอประเด็น ‘การลดค่ารอบของ Grab ประเทศไทย’ จากทั้งฝั่งบริษัท และฝั่งไรเดอร์ โดยทางฝั่งไรเดอร์นั้น ระบุว่า การลดค่ารอบจาก 40 บาท เป็น 28 บาทนั้น ไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น พร้อมขอให้ Grab หาทางออกเรื่องการประกันภัยจากอุบัติเหตุ จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพราะการทำงานของพวกเขา ต้องอยู่ทำงานบนท้องถนนตลอดเวลา

อีกทั้ง ยังมีประเด็นการรับงานแบบ ‘แบตช์ (Batch)’ หรือการรับงานคู่ ในมุมแพลตฟอร์มมองว่า หากมีออเดอร์จากที่ใกล้กัน ไรเดอร์ที่รับงานบริเวณนั้นก็ควรรับไปทั้ง 2 งาน แต่ในมุมไรเดอร์ก็มองว่า การรับงานคู่นั้นมีปัญหาเกิดขึ้นตามมาหลายอย่าง เช่น ความคุ้มค่าของค่ารอบที่ต้องวิ่งหลายที่มากขึ้น การรอออเดอร์ระหว่างร้านที่นานขึ้น ทำให้ลูกค้ารอนานและได้อาหารที่คุณภาพลดลงตามไปด้วย

ความท้าทายที่ Grab ต้องเร่งหาทางออก จึงไม่ใช่แค่เรื่องการลดต้นทุน สร้างผลกำไร แต่เป็นความพึงพอใจของแต่ละฝ่าย เพราะหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มของ Grab ก็ยังคงเป็น ‘มนุษย์’ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของบริษัท ไรเดอร์ ร้านค้า และลูกค้าเองก็ตาม

 

@spotlightbizth #grab เสนอทางออกเรื่อง #ม็อบไรเดอร์ #แกร็บ #ส่งอาหาร #ฟู้ดเดลิเวอรี่ #ไรเดอร์ #ขับแกร็บ #ปากท้อง #ค่าส่ง #ของแพง #ม็อบ #แกร็บคาร์ #แกร็บฟู้ด #grabcar #grabfood #ธุรกิจ #เศรษฐกิจ #ข่าว #Spotlight #ข่าวธุรกิจ #ข่าวtiktok ♬ For movie / picture / action / suspense - G-axis sound music



นอกจากนี้ ปัญหาของ ‘อาชีพแพลตฟอร์ม’ ที่เป็นอาชีพใหม่ ยังต้องการวิธีการคิด การเข้าใจ และการดูแลแบบใหม่ ไม่เพียงแต่จากฝั่งนายจ้างอย่างแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ หรือแพลตฟอร์มเรียกรถ แต่เป็นจากฝั่งของผู้กำกับดูแลอย่าง กระทรวงแรงงานเข้ามาดูและและกำหนดทิศทางให้ชัดเจน เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง ในโลกที่มีอาชีพใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน

 

ที่มา : Grab, Momentum Works

advertisement

SPOTLIGHT