ธุรกิจการตลาด

Volvo ย้ายการผลิตจากจีนไปเบลเยี่ยม หนีกำแพงภาษีนำเข้ารถจีน ‘อียู’ จ่อออกมาตรการสัปดาห์นี้

11 มิ.ย. 67
Volvo ย้ายการผลิตจากจีนไปเบลเยี่ยม หนีกำแพงภาษีนำเข้ารถจีน ‘อียู’ จ่อออกมาตรการสัปดาห์นี้

‘วอลโว่’ (Volvo) ย้ายการผลิตอีวีจากจีนไปเบลเยี่ยม เพื่อหลีกเลี่ยงกำแพงภาษี หลังสหรัฐฯ ออกมาเพิ่มภาษีนำเข้าอีวีจีนเป็น 100% และสหภาพยุโรปกำลังมีการพูดคุยเพื่อเพิ่มภาษีนำเข้ารถที่ผลิตในจีน เพื่อปกป้องผู้ผลิตรถยนต์ภายในสหภาพยุโรปที่มีต้นทุนในการผลิตสูง ไม่สามารถสู้ราคาได้

ในปีนี้ อนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจีนอยู่ในความไม่แน่นอนเมื่อประเทศอย่างสหรัฐฯ ออกมาเพิ่มภาษีนำเข้ารถรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเป็น 100% และในวันที่ 4 ตุลาคมปี 2023 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ซึ่งดูแลการค้าในประเทศยุโรป 27 ประเทศ ได้เริ่มการสืบสวนเพื่อหาว่ารัฐบาลจีนได้เงินสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจีน และบิดเบือนราคารถยนต์ในตลาดให้ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่

หากสืบสวนแล้ว พบว่า รัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุนจำนวนมาก เพื่อบิดเบือนราคาจริง อียูก็จะพิจารณาออกมาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าเพื่อให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าจีนที่จำหน่ายในยุโรปมีราคาตามความเป็นจริง ซึ่งกฎใหม่จะถูกบังคับใช้ได้เร็วที่สุด หลังการสืบสวนดำเนินการไปแล้วประมาณ 9 เดือน หรือภายในวันที่ 4 เดือนกรกฎาคมนี้ ทำให้หากอียูต้องการเพิ่มภาษีนำเข้าอีวีจีนจริง ก็จะประกาศออกมาในเดือนมิถุนายนนี้

ดังนั้น ผู้ผลิตรถยนต์อย่างวอลโว่ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น Geely บริษัทผลิตรถยนต์จากจีน จึงเริ่มดำเนินการย้ายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสองรุ่น ได้แก่ EX30 และ EX90 ออกมาจากจีนไปยังเบลเยี่ยมเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว และยังกำลังพิจารณาย้ายการผลิตรถยนต์รุ่นอื่นๆ จากสหราชอาณาจักรไปยังเบลเยี่ยมด้วย เพราะปัจจุบันสหราชอาณาจักรไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรปแล้ว

ทั้งนี้ หลังจากมีการรายงานข่าวดังกล่าวออกมา วอลโว่ได้ออกแถลงการณ์ว่า ในขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่า การสืบสวนของอียูจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง แต่ที่วอลโว่ตัดสินใจย้ายการผลิตรถบางส่วนไปในยุโรปนั้นเป็นเพราะวอลโว่ต้องการจะผลิตรถในพื้นที่ขายให้มากที่สุด 


มาตรการภาษีจ่อทำต้นทุนเพิ่ม Tesla อาจโดนหางเลข

หลังจากเริ่มการสืบสวนมาเป็นเวลาเกือบ 9 เดือน ในเดือนมิถุนายนนี้ คณะกรรมาธิการอียูมีกำหนดออกประกาศมาตรการภาษีชั่วคราวล่วงหน้าก่อนบังคับใช้ในวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งออกมาแล้ว ผู้เกี่ยวข้องจะมีเวลาสามวันทำการในการออกความเห็น หลังจากนั้น เมื่อมาตรการชั่วคราวได้ถูกบังคับใช้แล้ว คณะกรรมาธิการอียูจะดำเนินการสืบสวนต่อไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม เพื่อตัดสินใจว่า อียูจะบังคับใช้มาตรการภาษีนี้ในระยะยาวต่อไปหรือไม่ 

โดยในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมและตุลาคมนี้ จะเปิดโอกาสให้อียูและจีนมีการเจรจา เพื่อปรับเปลี่ยนเงื่อนไขมาตรการภาษีกันในช่วงนี้ และมาตรการภาษีฉบับปรับปรุงที่ออกมาในเดือนตุลาคมนี้จะถูกบังคับใช้ในระยะยาว และมีอายุยาวนานประมาณ 5 ปี ตามกฎของสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า อียูจะพิจารณาเพิ่มภาษีนำเข้ารถจีนหรือไม่ หรือเพิ่มเท่าไหร่ แต่นักวิเคราะห์มองว่า อียูอาจจะพิจารณาเพิ่มจาก 10% ในปัจจุบันอีกประมาณ 10-25% เป็น 20-35% ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ราคารถยนต์จีนในตลาดยุโรปมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

หากคำนวณจากข้อมูลการค้าระหว่างอียูและจีนในปี 2023 ภาษีที่เพิ่มขึ้นมาทุกๆ 10% จะทำให้ผู้ผลิตจีนต้องรับต้นทุนเพิ่มขึ้น 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ผู้ผลิตจีนอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายุโรป หรือไม่ตีตลาดยุโรป และเบนไปหาตลาดอื่นที่มีข้อจำกัดน้อยกว่าแทน เช่น อาเซียน

ทั้งนี้ การขึ้นภาษีนำเข้านี้จะไม่ได้กระทบแค่ผู้ผลิตรถยนต์จีนเท่านั้น แต่อาจจะกระทบกับผู้ผลิตจากสหรัฐฯ อย่าง ‘เทสลา’ (Tesla) ด้วย เพราะเทสลามีฐานการผลิตอยู่ในจีน ทำให้หากอียูออกมาตรการนี้ รถเทสลาก็โดนหางเลขไปด้วยแม้ไม่ใช่บริษัทจีน และอาจไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเหมือนผู้ผลิตจีน

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนในยุโรปในขณะนี้ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากน้อยกว่า 1% ในปี 2019 มาเป็น 8% ในปัจจุบัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 15% ในปี 2025 เพราะมีราคาต่ำกว่ารถที่ผลิตในยุโรปประมาณ 20% โดยแบรนด์และรุ่นที่เป็นที่รู้จัก คือ Atto 3 ของ BYD, MG ของ SAIC และ Volvo ของ Geely.

สงครามการค้าอียู-จีน เสี่ยงปะทุ

ในช่วงปี 2023 และช่วงครึ่งปีแรกของ 2024 ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอียูและจีนเลวร้ายลง หลังอียูออกมาเคลื่อนไหวหาทางลดการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีพลังงานสะอาดต่างๆ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเดียวกันภายในอียูที่มีต้นทุนสูงกว่าและไม่สามารถสู้ราคาไทย และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีน

อย่างไรก็ตาม อียูก็ไม่สามารถที่จะกีดกันการค้าจีนได้อย่างเต็มที่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า สินค้าพลังงานสะอาดจากจีนมีความสำคัญมากในการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของอียู และถ้าหากอียูออกมาตรการภาษีที่สูงขึ้นเกินไป จีนก็อาจจะตัดสินใจออกมาตรการโต้ตอบที่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอียูเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกับผู้ผลิตรถยนต์ในเยอรมนีที่ขณะนี้พึ่งพายอดขายในจีน

จากการรายงานของรอยเตอร์ ในปี 2023 ผู้ผลิตรถยนต์เยอรมัน อย่าง BMW, Mercedes Benz และ Volkswagen สามารถทำกำไรจากยอดขายในจีนเป็นสัดส่วนประมาณ 20-23% ของกำไรทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

ดังนั้น แม้รัฐบาลจะกำลังพิจารณาออกมาตรการภาษีออกมาเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตรถยนต์ภายในอียู ผู้ผลิตในอียูกลับมองว่า มาตรการนี้อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อเศรษฐกิจของอียูได้ เพราะมีสิทธิสูงที่จะลุกลามกลายไปเป็นสงครามการค้าอย่างเต็มที่ และถ้าหากจีนออกมาตรการกีดกันสินค้าจากยุโรป บริษัทยุโรปก็จะเสียหายหนักเช่นกัน โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นหรูหราต่างๆ ซึ่งชาวจีนเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลัก

 

 

อ้างอิง: Reuters, Bloomberg





advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT