ธุรกิจการตลาด

การบินไทย เปลี่ยนยูนิฟอร์มใหม่ ผ้าไหมไทยผสมพลาสติกรีไซเคิล

26 ต.ค. 66
การบินไทย เปลี่ยนยูนิฟอร์มใหม่ ผ้าไหมไทยผสมพลาสติกรีไซเคิล

การบินไทย ปรับโฉมเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงใหม่ มีการผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับ Sustainable Development หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยเครื่องแบบชุดไทยเรือนต้น นำเส้นไหมถักทอผสมผสานกับเส้นใยแปรรูปวัสดุพลาสติกรีไซเคิล โดยใน 1 ชุด มีการใช้ขวดพลาสติก pet 54 ขวด คิดเป็นสัดส่วนเส้นใยพลาสติกรีไซเคิลถึง 70% และเส้นใยไหม 30% ต้นทุนการผลิตไม่ได้สูงขึ้น แต่ดูแลง่ายและมีความยืดหยุ่นอีกด้วย 

เครื่องแบบชุดไทยเรือนต้น เวอร์ชั่นรักษ์โลกนี้จะปรากฎในทุกที่สาธารณะทั่วโลก และทุกชั้นบริการบนเครื่องบินในฐานะเครื่องแบบของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงของการบินไทยที่จะสวมใส่พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 เป็นต้นไป และจะทยอยปรับเปลี่ยนให้ครบ 100% ในกลางปี 67

ส่วนเสื้อโปโลของพนักงาน ทางบริษัทการบินไทยได้นำเสื้อโปโลสีม่วง ซึ่งเป็นเสื้อเก่าของพนักงานมาคืนให้บริษัทรวบรวมได้ราว 10 ตัน แล้วนำไปปั่นใหม่ ทอเป็นเส้นใยใหม่มาทำเป็นเสื้อโปโล ซึ่ง 1 ตัวจะใช้ผ้า 2 กก.โดยจะทยอยรีไซเคิลแล้วผลิตแจกให้พนักงานต่อไป 

นอกจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแล้ว การบินไทยยังเตรียมขยายแนวคิดเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนมาใช้กับส่วนอื่นๆของบริษัทด้วย เช่น อุปกรณ์บนเครื่องบินที่อาจนำผลิตภัณฑ์รีไซเคิลมาใช้ได้ , ชุด Travel Kit ได้ร่วมมือกับจิมทอมป์สันในการผลิตที่นำวัสดุที่นำพาสติกชีวภาพเข้ามาใช้ เป็นต้น 

การบินไทย ยูนิฟอร์มใหม่

การบินไทย ยูนิฟอร์มใหม่

การบินไทย ยูนิฟอร์มใหม่

การบินไทย เตรียมออกจากแผนฟื้นฟูในปลายปี 2567 

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 4 ปีนี้  การบินไทยไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามอิราเอลกับกลุ่มปาเลสไตน์ เพราะการท่องเที่ยวขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณลบ ยอดจองตั๋วล่วงหน้ายังมีอัตราการสูงกว่า 70% โดยเฉพาะเส้นทางยุโรป และออสเตรเลีย จึงมั่นใจว่าผลประกอบการในไตรมาส 4/66 ยังสามารถทำได้ตามแผน แม้อาจจะได้รับผลกระทบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนบ้าง

ส่วนเส้นทางบินไปจีนปัจจุบันมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (cabin factor) เฉลี่ย 60% ซึ่งการบินไทยยังคงจำนวนเที่ยวบินเท่าเดิม คาดว่า เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ไม่ค่อยดี และข่าวเหตุการณ์ยิงในพารากอนก็ทำให้รับผลกระทบระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม การบินไทยยังคงเป้าหมายที่จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในปลายปี 2567 เนื่องจากผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่วนของทุนเป็นบวก คาดว่าหลังกลางปี 2567 จะเป็นช่วงเวลานำเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนได้

การบินไทย ยูนิฟอร์มใหม่

การบินไทยตั้งเป้าหมาย Net Zero ในพ.ศ. 2593

สำหรับงานแถลงข่าว “FROM PURPLE TO PURPOSE” การปรับเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงที่ผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับแนวคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) มี ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ พร้อมด้วย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะผู้บริหารร่วมแถลงข่าว

395775886_654097163535418_454

โดยตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การบินไทยดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากอุตสาหกรรมการบินมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานด้านต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมและโครงการริเริ่มต่างๆ ทั้งในรูปแบบการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะด้วยการนำวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมาพัฒนาสร้างคุณค่าให้เกิดประโยชน์เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ภายใต้แนวคิด Zero Waste Living ซึ่งประกอบด้วยหลักการหลัก 3 ประการ ได้แก่ FROM PLANES TO PLANET-การบินเพื่อสิ่งแวดล้อม FROM WASTE TO WEALTH-การพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และ FROM PURPLE TO PURPOSE-จากใจสู่เป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานด้วยการนำเครื่องบินและเครื่องยนต์สมัยใหม่ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำมาใช้ในการให้บริการ และปรับปรุงการปฏิบัติการบิน อาทิ การนำเทคนิค Single Engine Taxi และการลดน้ำหนักการบรรทุกมาปรับใช้ในการปฏิบัติการบิน เป็นต้น 

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งรวมถึงการจัดทำแผนการนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF-Sustainable Aviation Fuel) มาใช้ทำการบิน และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้านอื่นๆ นอกเหนือจากกิจกรรมการบิน อาทิ กิจกรรมครัวการบิน กิจกรรมสายช่าง กิจกรรมการบริการภาคพื้น ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางสังคม อาทิ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากภาคการเกษตรของเกษตรชาวไทยและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่บริษัทฯกำหนดไว้

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT