ธุรกิจการตลาด

อำลา 'Boeing 747 ราชินีแห่งท้องฟ้า' พาหนะคู่กายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ

2 ก.พ. 66
อำลา 'Boeing 747 ราชินีแห่งท้องฟ้า' พาหนะคู่กายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ

หลังอยู่คู่ท้องฟ้ามาเป็นเวลาถึง 54 ปี ในวันนี้ บทบาทของ “Boeing 747” เครื่องบินพาณิชย์สมญานาม “ราชินีแห่งท้องฟ้า” ใกล้ถึงจุดจบแล้ว เมื่อ Boeing ส่งมอบเครื่องบิน 747 ลำสุดท้ายให้ Atlas Air เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ปิดฉากชีวิตเครื่องบินสุดคลาสสิคที่ทำให้เกิดไฟลท์ยาวบินตรงระหว่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก และเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ Air Force One เครื่องบินคู่ใจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ถึงแม้สำหรับหลายๆ คน Boeing 747 จะเป็นเครื่องบินธรรมดา หรือเป็นสิ่งที่ไม่แม้แต่จะเคยได้ยินชื่อ เครื่องบินรุ่นนี้ก็มีความสำคัญมากต่อผู้คนที่ทำงานในแวดวงการบิน ดูได้จากพิธีส่งมอบที่ได้รับการถ่ายทอดสด และมีทั้งนักบินอาวุโส รวมไปถึง John Travolta นักแสดง และนักบิน วิศวกร และผู้ที่ทั้งเคยทำงาน และยังทำงานสร้างเครื่องบินให้กับ Boeing อยู่เข้าร่วมอย่างคับคั่ง

338a29t-highres

ในบทความนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนมาย้อนรอยชีวิตของ Boeing 747 กันว่ามีจุดกำเนิดอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อแวดวงการบินบ้าง ทำไมจึงเป็นที่รักของนักเดินทางทั่วโลก

 

Boeing 747 เครื่องบินที่สร้างมาเพื่อย่อโลกให้เล็กลงสำหรับนักเดินทาง

ก่อน Boeing 747 จะถือกำเนิด การเดินทางข้ามประเทศในไฟลท์ยาวๆ เป็นสิ่งที่ทำได้อย่างยากลำบากเพราะในขณะนั้นเครื่องบินโดยสารส่วนมากมีขนาดเล็ก จุคนและเชื้อเพลิงได้น้อย ทำให้ไม่สามารถเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลแบบไม่พักได้ ทำให้ผู้โดยสารต้องมีการต่อเปลี่ยนเครื่องบินหลายต่อ ในหลายสนามบิน และต้องเสียเงินจำนวนมากสำหรับเที่ยวบินแต่ละเที่ยว ผู้ที่มีกำลังทรัพย์พอจะเดินทางด้วยเครื่องบินได้ในสมัยนั้นจึงมีเพียงคนรวยหรือคนดังเท่านั้น 

แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในช่วงปี 1960s เมื่อทีมวิศวกรของ Boeing นำโดย Joe Sutter ออกแบบและพัฒนา Boeing 747 ขึ้นมาจาก Boeing 707 เครื่องบิน 4 เครื่องยนต์รุ่นแรกของ Boeing โดยทีมของ Joe Sutter ออกแบบให้ 747 มี 2 ชั้น และจุคนได้ถึงประมาณ 300 คน ซึ่งมากเป็น 2 เท่าของ 707 และใหญ่ขนาดต้องใช้คนถึง 50,000 คนในการสร้างและประกอบ ทำให้ 747 กลายเป็นยักษ์ใหญ่ของเครื่องบินพาณิชย์ที่ไม่มีใครในโลกสู้ได้ในขณะนั้น

boeing_747-100_(pan_am)_(8664

โดยการออกแบบให้เครื่องบินมี 2 ชั้นนี้ถือเป็นสิ่งที่ใหม่ และมีอิทธิพลมากสำหรับแวดวงการบินในขณะนั้น เพราะโครงสร้างแบบนี้ทำให้สายการบินทั่วโลกสามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร และลดต้นทุนต่อหัวสำหรับผู้โดยสารได้ โดยการปรับชั้นล่างให้เป็นที่นั่งชั้นประหยัดสำหรับคนจำนวนมาก และเปลี่ยนชั้น 2 ให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนสุดหรูของผู้โดยสารชั้นเฟิร์สคลาส ทำให้สายการบินได้เงินจากทั้งผู้โดยสารทั่วไป และกลุ่มคนรวยที่เป็นลูกค้าพื้นฐานแต่แรก

นอกจากนี้ Boeing 747 ยังได้กลายมาเป็นเครื่องแสดงสถานะของคนรวย(และสายการบินที่มีเงินซื้อ) เพราะเฟิร์สคลาสบนนั้นนอกจากจะราคาแพงแสนแพงแล้ว ยังมีการตกแต่งที่หรูหรา ครบครันไปด้วยพื้นที่พักผ่อน สังสรรค์ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในเครื่องบินรุ่นอื่นๆ บางสายการบินถึงขนาดยกเปียโนบาร์กับร้านอาหารขึ้นไปไว้บนนั้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากทีมวิศวกรไม่ได้ออกแบบ 747 มาให้มีพื้นที่กว้างขวางแบบที่มันเป็น

ด้วยความที่ออกแบบมาอย่างดีต่อการทำธุรกิจการบินนี้เอง สายการบินต่างๆ จึงเร่งหาซื้อ Boeing 747 มาใช้ จนเครื่องบินรุ่นนี้กลายเป็นเครื่องบินพาณิชย์รุ่นเรือธงสำหรับสายการบินใหญ่ และสายการบินประจำชาติของหลายๆ ประเทศไป ไม่ว่าจะเป็น British Airways, Air France, Lufthansa (เยอรมนี), Qantas (ออสเตรเลีย), Air China, Singapore Airlines รวมไปถึง ‘การบินไทย’ ที่ปัจจุบันใช้ Boeing 747-400 อยู่

 

จากเครื่องบินพาณิชย์สู่เครื่องบินของประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

ตลอดเวลา 54 ปีที่ผ่านมา Boeing ได้พัฒนา 747 ออกมาหลายต่อหลายรุ่นให้มีความจุและฟังก์ชั่นหลากหลายขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น 747-200/300/400 และ 7478i 

แต่นอกจากจะเป็นเครื่องบินขวัญใจของนักเดินทางทั่วไปแล้ว Boeing 747-200 ยังเป็นเครื่องบินคู่กายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า Air Force One มาตั้งแต่ปี 1990 มาถึงปัจจุบันหลัง 707 ถูกปลดประจำการ 

1os6vk-highres

โดย 747-200 ได้รับการดัดแปลงภายในมีให้มีเครื่องอำนวยความสะดวก อุปกรณ์สั่งการและทำงาน และมีระบบรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานของรัฐบาลสหรัฐฯ และได้ทำงานรับใช้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาแล้ว 6 คน ได้แก่ George H W Bush, William J Clinton, George W Bush, Barack H Obama, Donald J Trump และ Joseph R Biden

จากการรายงานของ CNN รัฐบาลสหรัฐฯ วางแผนที่จะปลดประจำการ 747-200 ที่กำลังใช้อยู่ในเร็วๆ นี้ และจะใช้ 747-8i เป็นโครงสร้างสำหรับ Air Force One รุ่นต่อไป

 

แนวคิดประหยัดพลังงาน และการระบาดของโควิด-19 กระตุ้นขาลงของ 747 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นเครื่องบินที่เรียกว่าอยู่กับสายการบินพาณิชย์ และเป็นที่ชื่นชอบของผู้โดยสารทั่วโลกมายาวนานถึง 5 ทศวรรษ ราชีนีแห่งท้องฟ้าก็ต้องมีวันลงมาจากบัลลังก์ เปิดทางให้เครื่องบินรุ่นใหม่กว่า และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่าขึ้นมาครองน่านฟ้า

ในช่วงปีหลังๆ แนวคิดความยั่งยืน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการประหยัดพลังงานได้เข้ามามีความสำคัญมากสำหรับการดำเนินธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการบินที่เป็นผู้ร้ายปล่อยมลพิษทำลายโลกอันดับต้นๆ ของโลก

เพราะฉะนั้น เพื่อตอบสนองกับแนวคิดเหล่านี้ Boeing และผู้ผลิตเครื่องบินเจ้าอื่นๆ ต่างก็เร่งพัฒนาเครื่องบินที่ประหยัดเชื้อเพลิงขึ้นมา ซึ่งส่วนมากจะเป็นเครื่องบินขนาดเล็กกว่าที่ขับเคลื่อนด้วย 2 เครื่องยนต์ เช่น Boeing 787 และ Airbus A350XWB ทำให้เครื่องบินใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วย 4 เครื่องยนต์อย่าง Boeing 747 เสื่อมความนิยมลง จนถูกนำออกจากสายการบินใหญ่ๆ ทั่วอเมริกาอย่างเช่น United Airlines และ Delta ในปี 2017 

นอกจากแนวคิดการรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกสิ่งที่มากระตุ้นให้ยุคของ 747 จบเร็วขึ้นก็คือการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินกลายเป็นอัมพาตไปเกือบ 2 ปี ทำให้บางสายการบินเช่น British Airways ต้องยอมขาย 747 ทิ้งไปเพื่อรักษาบริษัทไม่ให้ล้มละลาย และทำให้เมื่อการเดินทางทางอากาศเริ่มกลับมา หลายๆ สายการบินก็ไม่มี 747 ไว้ใช้แล้ว

ในปัจจุบัน หน้าที่หลักของ 747 คือการขนส่งสินค้าทางอากาศ เพราะมีฟังก์ชั่นโหลดสินค้าทางหัวเครื่องบินที่ยังเป็นที่นิยมของผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์อยู่ โดยในขณะนี้มีสายการบินพาณิชย์ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ยังมี 747 ไว้ใช้งานอยู่ ซึ่งส่วนมากเป็นสายการบินเอเชีย เช่น การบินไทย, Korean Air และ Air China 

afp.com-20150105-ph-par-par80

ซึ่งแน่นอนว่าในเมื่อ Boeing เลิกผลิต 747 ไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปจน 747 ทุกลำที่ยังอยู่บนรันเวย์อยู่สิ้นอายุการใช้งาน จุดสิ้นสุดของราชินีแห่งท้องฟ้ารายนี้ย่อมมาถึงในวันใดวันหนึ่ง

แต่ถึงแม้ในอนาคต Boeing 747 จะไม่มีโอกาสได้ขึ้นไปทำหน้าที่อีกแล้ว เครื่องบินรุ่นนี้จะยังคงเป็นตำนาน และเป็นที่จดจำในฐานะเครื่องบินที่ปฏิวัติประสบการณ์การเดินทาง เชื่อมโยงคนจากทุกมุมโลก และเปิดโอกาสให้คนจากทุกระดับฐานะมีโอกาสท่องเที่ยว และเติมเต็มประสบการณ์ชีวิตตัวเองได้อย่างเท่าเทียมแน่นอน

ชมภาพส่งมอบ 747 ลำสุดท้ายได้ในอัลบั้มด้านล่าง


ที่มา: CNN, Business Insider, AP







advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT