ธุรกิจการตลาด

Alibaba เปิด 'เขตการค้าเสรีดิจิทัล' แห่งแรกในประเทศไทยแล้ว

16 ธ.ค. 65
Alibaba เปิด 'เขตการค้าเสรีดิจิทัล' แห่งแรกในประเทศไทยแล้ว

อาลีบาบาเปิดตัว "เขตการค้าเสรีดิจิทัล" แห่งแรกในประเทศไทยแล้ว หลังเซ็นสัญญากันมาตั้งแต่ปี 2018 พื้นที่ขนาด 40,000 ตร.ม. ใน EEC ลดเวลาส่งของจีนมาไทยจาก 10 วัน เหลือ 3 วัน 

 

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในที่สุดก็มีการเปิดตัว "เขตการค้าเสรีดิจิทัล" (Digital Free Trade Zone) แห่งแรกขึ้นในประเทศไทยแล้ว ในชื่อว่า "อีดับเบิลยูทีพี" (eWTP – Electronic World Trade Platform) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการค้าอิเล็กทรอนิกส์แบบหลายฝ่าย ริเริ่มโดย อาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) ยักษ์ใหญ่วงการอีคอมเมิร์ซของจีน ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม Lazada ในไทยและอาเซียน

เขตการค้าเสรีดิจิทัลแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของไทย และยังถือเป็นเขตการค้าเสรีแห่งแรกในไทยที่จัดตั้งด้วยวิธีการทางดิจิทัล โดยมีการเริ่มดำเนินงานระยะทดลองอย่างเป็นทางการไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา

d8d471686a214802abbf6747f9600

เขตการค้าเสรีดิจิทัลจะเกื้อหนุน SME ของจีนให้ส่งออกสินค้าสู่ไทยง่ายขึ้น เร็วขึ้น และถูกต้องตามกฎระเบียบยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจะช่วย "ลดกรอบระยะเวลาส่งสินค้าข้ามพรมแดนจากจีนมายังไทย" จาก 10 วัน เหลือ 3 วันอีกด้วย

ซ่งจวินเทา เลขาธิการทั่วไปของ อาลีบาบา อีดับเบิลยูทีพี กล่าวว่า การจัดตั้งเขตการค้าเสรีดิจิทัลแห่งแรกของไทย ได้มอบประสบการณ์เชิงปฏิบัติแก่การพัฒนาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในท้องถิ่นของไทยในอนาคต


"เขตการค้าเสรีดิจิทัล" คืออะไรกันแน่ มีที่มาอย่างไร

"เขตการค้าเสรีดิจิทัล" คือโปรเจกต์ที่ริเริ่มโดยอาลีบาบาในสมัย "แจ๊ค หม่า" เป็นประธานบริษัท ซึ่งแจ๊ค หม่า เริ่มพูดถึงโปรเจกต์นี้ครั้งแรกในการประชุมโปอ๋าว ฟอรั่ม เมื่อปี 2016 เริ่มเซ็นสัญญาจัดตั้งกับ "มาเลเซีย" เป็นประเทศแรกในปี 2017 และเซ็นสัญญาจัดตั้งกับ "ประเทศไทย" ในปี 2018

themo-alibaba03

คำว่าเขตการค้าเสรีดิจิทัล ไม่ได้หมายถึงเขตการค้าเสรี (FTA) ตามความหมายปกติทั่วไปที่เรารู้จักกันในแง่การค้าขายโดยปลอดภาษี (เฉพาะสินค้าบางรายการตามที่ตกลงกัน) แต่หมายถึงความตกลงกันเพื่อสนับสนุนการค้าทางดิจิทัล หรือ อีคอมเมิร์ซ ให้มีความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของพิธีการศุลกากร ที่จะทำให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นและสะดวกรวดเร็วขึ้น

แต่หากพูดถึงในเชิงกายภาพให้เห็นชัดเจนมากขึ้นก็คือ มันคือการเปิดโกดังสินค้าขนาดมหึมา บนพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร หรือ "25 ไร่" เพื่อให้สามารถสต็อกสินค้ามาเก็บไว้ที่นี่ได้ก่อน ทำให้สามารถส่งของที่สั่งซื้อจากจีนมาถึงมือลูกค้าในไทยได้เพียง 3 วัน จากปัจจุบันที่ใช้เวลาประมาณ 10 วัน

รอยเตอร์สเคยมีการรายงานถึงเรื่องนี้ในปี 2018 ว่า โปรเจกต์นี้ใช้งบลงทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

แม้ว่าแจ๊ค หม่า จะลาจากตำแหน่งบริหารในอาลีบาบาไปแล้ว แต่ eWTP ก็ยังเป็นโปรเจกต์ที่อาลีบาบาผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งพื้นที่ยุทธศาสตร์ความร่วมมือหลักๆ ในเมืองหังโจว (สำนักงานใหญ่อาลีบาบา), เมืองอี้อู ทางตะวันออก (Yiwu), มณฑลไห่หนาน (เกาะทางตอนใต้) และในฮ่องกง โดยมีการกระจายความร่วมมือไปยังหลายประเทศ สมัยที่แจ๊ค หม่า ยังเดินสายทั่วโลกอยู่ เช่น มาเลเซีย ไทย เบลเยี่ยม และบางประเทศในแอฟริกา ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า หลายประเทศล้วนอยู่ในหมุดหมายของยุทธศาสตร์ "แถบและเส้นทาง" (Belt and Road Initiative) ของรัฐบาลจีนด้วย   


ที่มา: Xinhua, South China Morning Post, CNBC, Reuters

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT