ธุรกิจการตลาด

EA เริ่มผลิตแบตฯ อีวี โรงงานใหญ่สุดอาเซียน

13 ธ.ค. 64
EA เริ่มผลิตแบตฯ อีวี โรงงานใหญ่สุดอาเซียน

การเข้ามาของรถยนต์พลังไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ถือเมกะเทรนด์ของที่สำคัญของโลกในตอนนี้ โดยเฉพาะหลังจากการเกิดของ Tesla ที่ให้กำเหนิดรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกป็นรถสปอร์ตชื่อรุ่นว่า "โรดสเตอร์" ในปี 2551 จากนั้นก็เริ่มเกิดเป็นกระแสอีวีคาร์ฟีเวอร์ที่ทำให้หลายๆ ค่ายผลิตรถยนต์เจ้าใหญ่ในยุโรปกับสหรัฐต่างตบเท้าเข้าในธุรกิจนี้ ขณะที่กลางปีนี้ยุโรปประกาศเลิกการวางขายรถยนต์ใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในตั้งแต่ปี 2578 เป็นต้นไปจะมีผลบังคับใช้ในกว่า 27 ประเทศของยุโรป ฝ่ายิจัยของธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้วิเคราะห์ว่าโลกกำลังเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งการปฏิวัติ EV” (EV Revolution ระหว่างปี 2563-2572) โดย ประเมินว่ายอดขาย EV ทั่วโลกอาจพุ่งสูงขึ้นถึง 14 ล้านคันในปี 2568 และเป็นในอนาคตจะเข้าทดแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

แต่ทว่าอีวีคาร์จะโลดแล่นบนถนนได้จะต้องมีแบตเตอรี่รถยนต์ที่ให้พลังงาน โดยบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ของไทยก็ไม่ตกเมกะเทรนด์นี้เพราะมี บจ.ไทยหลายแห่งต่างพาเหรดเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องลงทุนด้วยหลายรายหนึ่งนั้น คือ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์(EA)ที่ถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่ประกาศลงทุนในธุรกิจนี้จุดเริ่มเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2560 ที่ EA ประกาศเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 50.69% ในบริษัท Amita Technologies Inc. (Amita) ผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนพอลิเมอร์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน

ส่วนวัตถุดิบสำคัญคือที่ใช้ในการผลิตแบตตเตอรี่ลิเทียมคือ "ลิเทียม คาร์บอเนต" ที่มีเหมืองขนาดใหญ่ที่สำคัญอยู่ในทั้งเหมืองในสหรัฐ รวมประเทศอาร์เจนติถูกสกัดจากน้ำเค็มที่อยู่ใต้ทะเลเกลือ ทำให้บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น(BCP) ที่เห็นโอกาสของเมกะเทรนด์นี้ในปี 2560 ได้ลงทุนซื้อหุ้น 16.4% ในเหมืองแร่ลิเธียมที่อาร์เจนตินา ใน Lithium Americas Corp หรือ LAC เหมืองจะเริ่มผลิตแร่ได้ 6,000 ตันประมาณกลางปี 2565 ส่วนแผนการลงทุนก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อยู่ระหว่างศึกษาหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ยังมี บมจ.บ้านปู(BANPU) ก็มีโครงการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ EV ซึ่งร่วมลงทุนในบริษัทดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (Durapower Holdings) เป็นผู้ ผลิต และติดตั้งระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเธียมไอออน (LiB) สำหรับรถยนต์และระบบไฟฟ้าสำรองต่าง ๆ ในสัดส่วน 47.7% ปัจจุบันมีโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนตั้งอยู่ที่จีนที่สามารถรองรับแผนการผลิตได้ถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) และภายในปี 2568 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) โดยเน้นขยายตลาดในประเทศจีน ยุโรป อเมริกา และเอเชีย-แปซิฟิก และยังมีบริษัทในกลุ่ม ปตท.คือ บมจ.โกลบอล พาวเวอร์ซินเนอร์ยี่( GPSC) .ที่ลงทุนโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยได้รับเทคโนโลยีมาจาก 24M Technologies Incorporation จากประเทศสหรัฐ

แต่ล่าสุด บมจ.บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ เมื่อ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมาประกาศตัดริบบิ้นเริ่มเดินเครื่องผลิตของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนของบริษัทลูกคือ 'อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย)' เฟสแรกมูลค่าลงทุน 7,400 ล้านบาทมีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ตั้งในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และมีแผนขยายกำลังการผลิตสู่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีตามแผนในอนาคต ด้วยพื้นที่การผลิตภายในโรงงานรวมกว่า 80,000 ตารางเมตร

ทั้งนี้เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชนิด Pouch Cell และระบบสำรองไฟฟ้าแบบครบวงจรที่ใช้ระบบอัจฉริยะ และระบบการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุดและต้นทุนไม่สูง ฐานการผลิตที่สำคัญนี้อยู่ในเขต EEC มีขนาดพื้นที่กว่า 90 ไร่ ที่พร้อมรองรับการขยายการลงทุนของโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานได้กว่า 10 เท่า สู่กำลังการผลิตสูงสุดของภูมิภาคอาเซียนที่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ตลอดจนอยู่ในพื้นที่ที่มีความพร้อมรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของ New S Curve ได้

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ กล่าวว่า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงาน จะเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีเสถียรภาพเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต โดยมุ่งเน้นการรีไซเคิลในกระบวนการผลิตให้มากที่สุด โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท อมิตา เทคโนโลยี อิงค์ (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในศไต้หวันมากว่า 20 ปีที่กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์เข้าไปร่วมทุน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และวัสดุที่มีความปลอดภัยสูงในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ให้สามารถจุพลังงานได้สูง มีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตราย เช่น กรดหรือตะกั่ว และใช้เทคนิคพิเศษในการผลิตเซลล์ เพื่อให้สามารถคัดแยกแผ่นขั้วบวกและขั้วลบได้ง่ายในขั้นตอนของการรีไซเคิลเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงทำให้แบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้แบตเตอรี่ของอมิตายังออกแบบให้เข้ากันกับเทคโนโลยีแบบ Ultra-Fast Charge ที่รองรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ภายในเวลาเพียง 15 นาที พร้อมรองรับการชาร์จได้สูงถึง 3,000 รอบ ที่จะเป็นจุดเด่นสำหรับรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจัยเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญในการใช้งานอย่างคุ้มค่า

แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และเรือโดยสารไฟฟ้า เพื่อช่วยในการลดการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่ผลิตได้ในระยะเริ่มต้น ขนาด 1 กิกะวัตต์ หรือ 1,000,000 กิโลวัตต์ สามารถนำมาใช้ในรถโดยสารไฟฟ้า ขนาด 11 เมตร ซึ่งขับเคลื่อนได้ระยะทางสูงสุด 240 กิโลเมตร ได้ถึง 4,160 คันต่อปี และการใช้รถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 4,160 คัน สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission Reduction) ประมาณ 91,709 ตันต่อปี และลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้กว่า 97,066,667 ลิตรต่อปี เมื่อเทียบกับรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซล

อีกทั้งยังได้สร้างโรงงานผลิตสาร Electrolyte ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่สำคัญที่เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของเซลล์แบตเตอรี่ใช้เองเป็นรายแรกในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับมีทีม In House R&D ทำให้สามารถนำสาร Electrolyte ที่ผลิตเสร็จ มาทดสอบในเซลล์แบตเตอรี่เพื่อวัด Performance ได้ทันที และสามารถคิดค้นพัฒนาสูตรเองให้ดียิ่งขึ้นตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีการนำระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่บริษัทฯ ผลิตได้เองมาใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำรองให้กับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีความสำคัญและต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีโรงรีไซเคิล เพื่อลดขยะที่เป็นพิษ เป็นการคิดและออกแบบกระบวนการผลิตแบบครบวงจร ซึ่งเป็นจุดแข็งที่โดดเด่น สามารถเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็น New S-Curve ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสนับสนุนด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดมลพิษและภาวะโลกร้อนให้บรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT