สกินแคร์เก็บยังไงดี เก่าแค่ไหนถึงยังใช้ได้

6 ธ.ค. 64

หลาย ๆ ท่านอาจเสียเวลาไปกับการศึกษาหาข้อมูลและลงทุนกับสกินแคร์ไปเยอะมากใช่ไหมล่ะครับ รู้หรือไม่ครับว่าประสิทธิภาพของสกินแคร์ที่ท่านต้องการนั้น ขึ้นอยู่กับการเก็บรักษาสกินแคร์ด้วยครับ หากเก็บรักษาไม่ดี สารสำคัญที่อยู่ในสกินแคร์อาจเสื่อมสภาพไป ส่งผลให้ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เป็นไปตามที่ต้องการครับ วันนี้ผมจะมาพูดถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสกินแคร์หากเก็บรักษาไม่ถูกวิธี รวมถึงวิธีการสังเกตว่าสกินแคร์ของท่านยังใช้ได้อยู่หรือไม่ พร้อมแนะนำวิธีการเก็บรักษาสกินแคร์ที่ถูกต้อง เพื่อคงประสิทธิภาพของสกินแคร์ไว้ให้ได้มากที่สุด ให้คุ้มค่ากับเวลาและทุกบาท ทุกสตางค์ที่ทุกท่านที่เสียไปครับ

การเก็บรักษาสกินแคร์ไม่ถูกวิธี อาจทำให้สกินแคร์เกิดความเสียหายได้หลายแบบครับ วันนี้ผมขอพูดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสกินแคร์ที่พบได้บ่อย 4 ประเภท เรียงจากความเสียหายที่เราไม่อยากให้เกิดมากที่สุดไปน้อยที่สุด ดังนี้ครับ

1. บูดเน่า

245977

เป็นสิ่งที่แย่ที่สุดที่เราไม่อยากให้เกิดครับ เพราะหากเกิดขึ้นแล้ว "ต้องทิ้งอย่างเดียว" ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลยครับ วิธีการสังเกตสกินแคร์ที่ท่านใช้อยู่เกิดบูดเน่าแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนจะรู้สึกได้แน่นอนครับ ยิ่งถ้าใช้อยู่ทุกวัน ยิ่งรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายครับ นั่นคือ จะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ อาจเป็นกลิ่นเหม็นเน่าหรือ เหม็นเปรี้ยว หรือเหม็นอับ ๆ เหมือนผ้าชื้น ๆ ก็ได้ครับ

สาเหตุของการบูดเน่าก็คือ เชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนเข้าไปในสกินแคร์มากเกินกว่าที่สารกันบูดในสกินแคร์จะกำจัดได้ครับ ทำให้เชื้อแบ่งตัวเจริญเติบโตโดยอาศัย น้ำ และสารอาหารบางอย่างในสกินแคร์เป็นแหล่งพลังงาน และพอเชื้อเหล่านั้นขับถ่ายของเสียออกมา ก็จะสังเกตได้จากกลิ่นที่เปลี่ยนไปนั่นเองครับ

วิธีการป้องกัน

- ไม่ควรเปิดฝาภาชนะบรรจุโดยไม่จำเป็นครับ เพราะทุกครั้งของการเปิดฝา จะเพิ่มโอกาสให้เชื้อที่ล่องลอยอยู่ในอากาศตกลงไปในภาชนะครับ

- บางครั้งเราอาจจะควัก หรือบีบสกินแคร์ออกมามากเกินจำเป็น สิ่งที่ไม่ควรกระทำ ก็คือ การใส่กลับเข้าไปครับ เพราะมือเรามีเชื้อจุลินทรีย์เยอะมากครับ การใส่สกินแคร์ที่สัมผัสกับมือแล้ว กลับเข้าไป ก็เหมือนกับใส่เชื้อเข้าไปนั่นเองครับ ดังนั้น หากบีบสกินแคร์ออกมาปริมาณมาก อาจเก็บใส่ถุงซิปล็อคพลาสติกไว้ครับ

- อย่าแบ่งบรรจุโดยไม่จำเป็น แต่หากจำเป็นจริง ๆ ควรเลือกภาชนะที่สะอาด ผมแนะนำให้เช็ดหรือกลั้วภาชนะด้วย 70% ethanol แล้วผึ่งให้แห้งก่อน จากนั้นใช้เข็มฉีดยาแบบที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วเป็นเครื่องมือในการแบ่งบรรจุจะดีที่สุดครับ นอกจากนี้ควรแบ่งบรรจุในปริมาณเท่าที่จำเป็น และใช้ให้หมดภายใน 1 เดือนหลังแบ่งบรรจุ เนื่องจากอาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ได้ครับ

- อย่าใส่น้ำเข้าไปเด็ดขาดครับ พบมากในพวกสบู่เหลว แชมพูครับ การใส่น้ำเข้าไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการบูดเน่า เนื่องจากน้ำจะไปเจือจางความเข้มข้นของสารกันบูดเดิม ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ในน้ำมีเชื้อจุลินทรีย์อยู่ครับ การใส่น้ำเท่ากับใส่เชื้อลงไปนั่นเองครับ

2. สารสำคัญเสื่อมสภาพ

555091

สิ่งนี้ก็ไม่อยากให้เกิดเหมือนกันครับ ยกตัวอย่างเช่น เซรั่มวิตามินซี สมมติว่ามีวิตามินซีบางส่วนเสื่อมสลายไป สังเกตได้จากสีที่เหลืองเข้มขึ้น แต่ก็อาจจะมีวิตามินซี หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ในสูตรตำรับที่ยังคงสภาพดีอยู่ เช่น สารให้ความชุ่มชื้น สารสกัดตัวอื่น ๆ แต่ถ้าถามผมว่าจะใช้ต่อได้หรือไม่ได้นั้น ตอบไม่ได้ครับ ต้องพิจารณาความเสี่ยงจากผลิตภัณฑ์ตัวนั้น ๆ ครับ

สาเหตุของการที่สารสำคัญเสื่อมสภาพก็คือ ความร้อน แสงแดด ออกซิเจน ไปทำลายโครงสร้างทางเคมีของสารนั้น ๆ ทำให้หมดฤทธิ์ไป โดยสารที่เสื่อมสภาพนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้มีพิษภัยอะไรต่อร่างกาย ยกเว้นในบางกรณีซึ่งพบได้น้อย ที่สารที่เสื่อมสภาพนั้นอาจมีผลเสียต่อร่างกายได้ครับ

วิธีการป้องกัน

ในความเป็นจริงแล้ว ความร้อน อากาศ แสงแดด เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากมากถึงมากที่สุดครับ อาจจะจริงที่การใช้ขวดทึบแสง หรือวัสดุบางชนิดสามารถช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของสารสำคัญได้ แต่ก็เป็นเพียงแค่การชะลอเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดการเสื่อมสภาพได้อย่าง 100% ดังนั้น วิธีการป้องกันการเสื่อมสภาพที่ดีที่สุดก็คือ หลังจากเปิดใช้แล้วควร "รีบใช้ให้หมด" ครับ โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ให้หมดหลังเปิดใช้แล้ว คือ ประมาณ 3 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ครับ โดยทุกท่านสามารถสังเกตได้จากสัญลักษณ์ตัวเลขบนกระปุกที่อยู่บนฉลากของผลิตภัณฑ์ ดังรูปครับ จากรูปสังเกตเห็นเลข 6M อยู่ที่กระปุก หมายความว่า ผลิตภัณฑ์นี้มีอายุ 6 เดือน นับจากวันที่เปิดใช้ครับ

233612

3. ขุ่นหรือมีของแข็งตกตะกอนออกมา

631925

ของแข็งตกตะกอนเป็นความเสียหายที่พบมากในครีมกันแดดที่ถูกเก็บในที่เย็นจัด ๆ เช่น ประเทศเมืองหนาว เวลาบีบครีมออกมาทาลงบนผิว ของแข็งเหล่านั้นจะขูดผิวรู้สึกได้ทันทีว่าผิดปกติครับ แต่ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณตะกอนที่ตกออกมาด้วยครับ ถ้าน้อย ๆ บางทีก็ไม่รู้สึกครับ ส่วนในเมืองไทยเรานั้นคงไม่เกิดปัญหานี้แน่นอนครับ ยกเว้นว่า จะเอาครีมกันแดดไปแช่ตู้เย็น ซึ่งครีมกันแดดผมแนะนำว่าอย่าเอาไปแช่ตู้เย็นเลยครับ

สำหรับสกินแคร์ที่เป็นกลุ่มน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็น Oil serum, Oil cleanser, Massage oil ก็เป็นอีกกลุ่มที่ไม่ควรเก็บในตู้เย็นครับ เพราะความเย็นจะทำให้น้ำมันบางชนิดขุ่นได้ครับ สาเหตุก็เนื่องมาจากไขมันอิ่มตัวในน้ำมันนั้น ๆ กลายเป็นของแข็งนั่นเองครับ หากเก็บใส่ตู้เย็นไปแล้ว แล้วพบว่าสกินแคร์ขุ่น วิธีแก้คือ นำมาเก็บไว้ในที่อุ่นหน่อย หากกลับมาใสเหมือนเดิม ก็สามารถใช้ต่อได้ครับ จากนั้นเก็บโดยวางไว้ในห้องได้เลย ไม่ต้องเก็บในตู้เย็นครับ

ส่วนสกินแคร์อื่น ๆ หากท่านชอบความรู้สึกเย็น ๆ เวลาทา สามารถเก็บสกินแคร์ไว้ในตู้เย็นได้ครับ แต่แนะนำให้เก็บในช่องธรรมดา หลีกเลี่ยงการเก็บใกล้หรือในช่องแช่แข็งครับ

4. น้ำกับน้ำมันแยกชั้น

976623

ความเสียหายนี้ถ้าเป็นไม่มากจะสังเกตได้ยากครับ เพราะน้ำมันที่แยกชั้นออกมามักมีปริมาณน้อย ยกเว้นสูตรตำรับถูกออกแบบมาไม่ดี หรือสกินแคร์ถูกเก็บไว้ในที่ร้อนจัด เช่น ในรถที่จอดกลางแจ้ง หรือบริเวณใกล้หน้าต่างที่แสงแดดส่องถึง เป็นต้น

หลายท่านอาจจะเคยเจอเหตุการณ์เมื่อเปิดฝากระปุกครีมออกมา น้ำมันลอยเยิ้มเลยครับ หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะทำอย่างไรดีครับ ถ้าถามผมมี 2 ทางเลือกครับ ทางเลือกแรกแน่นอนว่าทิ้งครับ แต่หากพิจารณาดูแล้วว่าไม่ได้แยกชั้นมาก และต้องการใช้ต่อ ผมแนะนำอีกหนึ่งทางเลือก คือ หาช้อนเล็ก ๆ เช็ดฆ่าเชื้อด้วย 70% Ethanol มากวนน้ำมันที่ลอยเยิ้มนั้นลงไปให้เข้ากัน แล้วรีบใช้ต่อจนหมดกระปุกครับ เพราะในความเป็นจริงแล้วน้ำกับน้ำมันตอนก่อนผลิตออกมาเป็นครีม มันก็แยกชั้นแบบนี้เหมือนกันครับ ผู้ผลิตจะกวนน้ำกับน้ำมันให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันด้วยเครื่องมือที่มีแรงกวนสูง ดังนั้น ถ้าหากเราเจอมันแยกชั้นอีก เราก็กวนใหม่ก็แค่นั้นเองครับ แต่ต้องยอมรับนะครับว่า ตัวเนื้อครีมจะไม่เข้าเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนกับเนื้อครีมก่อนที่จะเกิดการแยกชั้น ทำให้เมื่อทุกครั้งที่เราทาครีม จะได้รับปริมาณของส่วนผสมแต่ละชนิดไม่เท่ากันในแต่ละครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกับประสิทธิภาพ และความปลอดภัยครับ โดยเฉพาะครีมที่มีส่วนประกอบของสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง หากครั้งนี้ทาไปแล้วได้รับปริมาณของสารนั้นมาก ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองตามมาได้ครับ

 

102462

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับความเสียหายของสกินแคร์ที่อาจเกิดขึ้นได้หากเก็บรักษาสกินแคร์ไม่ถูกวิธี ทั้งนี้ ผมไม่อยากให้ซีเรียสกับการเก็บสกินแคร์กันเกินไปนะครับ เพราะสกินแคร์ที่ผ่านการคิดค้น วิจัยและผลิตมาอย่างมีคุณภาพ จะผ่านการทดสอบมาอย่างดีแล้วว่าจะคงสภาพดีต่อการเก็บในห้อง ที่อุณหภูมิไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส บางทีอาจจะเก็บในที่ที่ร้อนหรือชื้นไปบ้าง ไม่ซีเรียสครับ ยกเว้น บางบริเวณที่ห้ามเด็ดขาด เช่น ในรถที่จอดกลางแจ้ง หรือในห้องบริเวณริมหน้าต่างที่แสงแดดส่องถึงครับ

แต่หากท่านพบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสกินแคร์ โดยหลักการผมแนะนำว่าไม่ควรใช้ต่อครับ แต่หากประเมินระดับความเสียหายแล้ว ส่วนตัวคิดว่าไม่มาก แต่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถใช้ต่อได้หรือไม่ได้ ผมแนะนำให้สอบถามผู้ผลิตสกินแคร์นั้น ๆ โดยตรงครับ เนื่องจากผู้ผลิตจะรู้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น น่าจะเกิดจากสาเหตุใดและสามารถช่วยประเมินว่าสกินแคร์นั้นสามารถใช้ต่อได้หรือไม่ได้ครับ
ผมหวังว่าบทความนี้จะมีส่วนช่วยให้ทุกท่านเก็บรักษาสกินแคร์อย่างถูกต้อง เพื่อคงประสิทธิภาพของสกินแคร์และเกิดผลลัพธ์ของการบำรุงผิวพรรณอย่างสูงที่สุดนะครับ

----

byline

อมต ชัยเกรียงไกร

นักวิจัยสกินแคร์คนไทย ประสบการณ์ทำงานในบริษัทเครื่องสำอาง Top 3 ของญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านสูตรสกินแคร์ให้กับแบรนด์สกินแคร์ทั้งในและต่างประเทศ และเป็นผู้ก่อตั้ง แบรนด์ AMT Skincare
อ่านประวัติผู้เขียนต่อ คลิก

 

pin1จบทุกปัญหาผิว ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ฟรี!

addline1

 

 

AMT Skincare Official Line

แอดไลน์ @amtskincare หรือ คลิก

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- รู้หรือไม่? เหงื่อทำร้ายผิวมากกว่าที่คุณคิด

- ผิวจะสวยไม่ได้ ถ้าขาดกรดอะมิโน

- ทาอะไรก็ "แสบ แดง คัน" อาจจะไม่ใช่ผิวแพ้ง่ายเสมอไป!

- ใครๆ ก็มีผิวโกลว์ได้ แค่ทำสิ่งนี้!

- ล้างหน้าอย่างไรดีต่อผิว

advertisement

Powered by AMT Skincare

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด