24 กรกฎาคม 2568 โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นายนิกรเดช พลางกูร ได้แถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา ที่ดำเนินต่อเนื่องตั้งแต่เช้าวันนี้ ซึ่งทำให้เกิดการโจมตีจากฝ่ายกัมพูชาต่อพื้นที่ฝั่งไทย เป็นเหตุให้มีประชาชนไทยบาดเจ็บสาหัสหลายราย
นายนิกรเดชกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ยื่นหนังสือ 2 ฉบับเมื่อวานนี้ (23 กรกฎาคม 2568) โดยฉบับแรกคือหนังสือประท้วงต่อรัฐบาลกัมพูชา กรณีทหารไทยเหยียบกับระเบิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 และอีกฉบับคือจดหมายยื่นต่อเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรญี่ปุ่น ในฐานะผู้นำการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา วาระปัจจุบัน เพื่อรายงานเหตุการณ์ที่กัมพูชาถูกมองว่าละเมิดพันธกรณีในฐานะภาคี
กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า มีการยิงอาวุธหนักจากฝั่งกัมพูชา รวมถึงการยิงระเบิด BM-21 จำนวน 2 นัด เข้ามายังฝั่งไทย โดยตกในพื้นที่ชุมชน และพื้นที่พัฒนาชายแดน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ทำให้มีประชาชนไทยบาดเจ็บจากการโจมตีของกัมพูชาจำนวน 3 ราย
นอกจากนี้ ยังมีการโจมตีในพื้นที่ที่ไม่ใช่เป้าหมายทางการทหาร เช่น โรงพยาบาลพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายราย ขณะเดียวกันเมื่อวานนี้ ทหารไทยเหยียบกับระเบิดระหว่างการลาดตระเวนที่ช่องอานม้า มีผู้บาดเจ็บเพิ่มอีก 5 นาย โดย 1 นายต้องสูญเสียขาขวา จากการตรวจสอบของกองทัพภาคที่ 2 ระบุว่าเป็นกับระเบิดใหม่
สืบเนื่องจากความรุนแรงดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้:
ในช่วงบ่ายวันนี้ ประเทศไทยจะมีการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อพิจารณาการดำเนินการในขั้นต่อไปของไทย พร้อมย้ำว่าทุกภาคส่วนของไทยพร้อมทำงานร่วมกัน
กระทรวงการต่างประเทศย้ำจุดยืนของไทยว่า ไทยยึดมั่นในหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตรสหประชาชาติ และกฎบัตรอาเซียน ไทยจึงอดทนอดกลั้นมาโดยตลอด และได้ดำเนินการอย่างสมเหตุสมผลเพื่อปกป้องอธิปไตยของตน
นายนิกรเดชยังชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีประเทศสมาชิกอาเซียนใดออกมาเรียกร้องหรือแสดงความประสงค์ที่จะเข้ามามีบทบาทในสถานการณ์ดังกล่าว
ด้านความสัมพันธ์ทางการทูต ขณะนี้ไทยดำเนินการ ลดระดับความสัมพันธ์ แต่ยังไม่ใช่การตัดความสัมพันธ์โดยสิ้นเชิง เนื่องจากการลดระดับยังเปิดช่องทางให้สามารถหารือกันได้อยู่ ขณะที่การตัดความสัมพันธ์จะปิดโอกาสในการเจรจา และลดโอกาสในการคลี่คลายความตึงเครียด ซึ่งจะทำให้การหาจุดร่วมและความสงบเกิดขึ้นได้ยากยิ่งขึ้น โดยการดูแลคนไทยในกัมพูชาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในขณะนี้
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมในหัวข้อการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ผ่านพหุภาคีนิยมและการระงับข้อพิพาทโดยสันติ ในการอภิปรายแบบเปิดของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
โดยไทยย้ำถึงจุดยืนในการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี อย่างไรก็ตามวิธีดังกล่าวจะถูกทบทวนอีกครั้งในการประชุมวันนี้