ตัวเลขของรัฐบาลอินโดนีเซียชี้ว่า ราว 16 เปอร์เซ็นต์ของชาวอินโดที่มีอายุระหว่าง 15–24 ปี จำนวน 44 ล้านคนกำลังไม่มีงานทำ ซึ่งตัวเลขนี้มากเป็นสองเท่าของอัตราว่างงานในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างไทยและเวียดนาม
หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยจนได้ปริญญาด้านกฎหมายเมื่อสองปีที่แล้ว จนบัดนี้ อันเดรียส ฮูทาพี ถูกปฏิเสธจากบริษัทต่าง ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยครั้งแรก อันเดรียสสอบไม่ผ่านเพื่อเข้าเป็นข้าราชการพลเรือน และก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นอัยการฝึกหัด
ก่อนหน้าที่จะเข้าเรียนในคณะกฎหมาย ฮูทาพีฝันจะเข้าร่วมกองทัพ แต่ไม่สามารถเข้าได้เพราะส่วนสูงไม่ถึงเกณฑ์ สุดท้ายแล้ว เมื่อเงินเขาเริ่มหมด ฮูทาพีตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ ซึ่งเปิดร้านขายสินค้าทั่วไป
ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ ฮูทาพีทำงานในร้านขายของของครอบครัว ซึ่งอยู่ในเมืองเมดัน
“ผมมีหน้าที่เปิดร้านให้พ่อแม่ในตอนเช้า แล้วก็นั่งอยู่ตรงนั้นตลอดทั้งวัน ให้บริการลูกค้า แล้วก็ช่วยปิดร้านตอนกลางคืน พ่อกับแม่ไม่ได้จ่ายค่าแรงให้ผม แต่ผมก็ไม่สามารถว่าอะไรได้ พวกท่านให้อาหารและที่พักฟรี”
ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวสูงที่สุดในเอเชีย โดยข้อมูลจากรัฐบาลระบุว่า ราว 16 เปอร์เซ็นต์ของชาวอินโดที่มีอายุระหว่าง 15–24 ปี จำนวน 44 ล้านคนกำลังไม่มีงานทำ ซึ่งตัวเลขนี้มากเป็นสองเท่าของอัตราว่างงานในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างไทยและเวียดนาม
ผลการสำรวจของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา คนหนุ่มสาวชาวอินโดมีมุมมองที่ไม่ดีนักกับเศรษฐกิจและรัฐบาล มากกว่าคนวัยเดียวกันในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
มีเพียงราว 58 เปอร์เซ็นต์ของคนหนุ่มสาวชาวอินโดเท่านั้นที่บอกว่า พวกเขามองโลกในแง่ดีกับแผนเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ก็ยังห่างไกลจากค่าเฉลี่ยในอีก 6 ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่ระบุข้างต้น ซึ่งอยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความไม่พอใจของประชาชนต่อสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปะทุออกมาเป็นการประท้วงบนท้องถนน เมื่อกลุ่มนักศึกษาได้รวมตัวกันจัดตั้งขบวนการ “อินโดนีเซียมืด” เพื่อประท้วงแผนของรัฐบาลที่เตรียมลดงบประมาณบริการสาธารณะ
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยหลากหลายที่เป็นรากเหง้าของอัตราการว่างงานในหมู่เยาวชนของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่กฎหมายแรงงานที่เข้มงวดซึ่งทำให้การจ้างงานทำได้ยาก ไปจนถึงค่าจ้างต่ำที่ไม่จูงใจให้แรงงานที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาด
อดิโนวา เฟารี นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (CSIS) ที่กรุงจาการ์ตา ให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีราว่า “หลายคนเลือกที่จะอยู่นอกตลาดแรงงาน มากกว่าทำงานที่ให้เงินเดือนต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ งานที่ดีเองก็ไม่ได้มีให้เลือกมากนัก หลายคนจึงหันไปพึ่งพาภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งมักมีผลิตภาพต่ำและขาดการคุ้มครองด้านแรงงาน”
อินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรมากกว่า 280 ล้านคน เผชิญกับปัญหาคนหนุ่มสาวว่างงานมาอย่างยาวนาน แม้อัตราการว่างงานในหมู่เยาวชนยังคงสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลก็สามารถลดอัตรานี้ลงได้บ้าง โดยในช่วง 10 ปีหลังมานี้ คาดการณ์ว่ายังมีเยาวชนอินโดนีเซียถึงหนึ่งในสี่ที่ไม่มีงานทำ