Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
Spot On : จุดเริ่มต้นสงครามไม่รู้จบ  ปมขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

Spot On : จุดเริ่มต้นสงครามไม่รู้จบ ปมขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์

16 พ.ค. 68
12:56 น.
แชร์

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นจากสงครามในยุคปัจจุบัน แต่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ ศาสนา และการเมืองโลกนานกว่าหนึ่งศตวรรษ 

ศรัทธาและดินแดน จุดปะทะแห่งความเชื่อ

ดินแดนที่ปัจจุบันคืออิสราเอลและปาเลสไตน์ เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ทั้งศาสนายูดายและศาสนาอิสลามต่างถือครองความศรัทธาไว้ โดยศาสนายูดาย เชื่อว่าเป็น "ดินแดนพันธสัญญา" ที่พระเจ้ามอบให้กับบรรพบุรุษชาวยิว 

ดินแดนพันธสัญญา (Promised Land) คือดินแดนที่ พระเจ้าตามคัมภีร์ไบเบิล ได้ทรงสัญญาไว้กับ อับราฮัม และลูกหลานของเขา (ชนชาติอิสราเอลหรือชาวยิว) ว่าจะให้เป็นแผ่นดินสำหรับตั้งถิ่นฐานถาวร โดยดินแดนที่ว่าคือ ดินแดนคานาอัน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของประเทศในปัจจุบัน ได้แก่

  • อิสราเอล
  • ปาเลสไตน์ (เวสต์แบงก์/กาซา)
  • เลบานอน
  • จอร์แดนฝั่งตะวันตก
  • บางส่วนของซีเรียและอียิปต์

ดังนั้นดินแดนแห่งนี้จึงมีความหมายเชิงศาสนาและการเมือง เพราะสำหรับ ชาวยิว: ดินแดนพันธสัญญาคือมรดกทางศาสนาและสิทธิทางประวัติศาสตร์ที่พระเจ้ามอบให้ ส่วนสำหรับ ชาวปาเลสไตน์ ดินแดนนี้คือบ้านเกิดของบรรพบุรุษที่อยู่อาศัยมาก่อนยุคอิสราเอล

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เกิดกระแส “ไซออนิสม์” (Zionism) หรือแนวคิดชาตินิยมของชาวยิว ซึ่งเรียกร้องให้มีการตั้งรัฐยิวในดินแดนบรรพบุรุษ เพื่อหลีกหนีการกดขี่ในยุโรป โดยเฉพาะจากรัสเซียและยุโรปตะวันออก ดังนั้นจึงเริ่มเกิดการอพยพเข้าสู่ปาเลสไตน์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ด้วยการซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดินอาหรับ สร้างนิคมชาวยิว ทำให้ชาวอาหรับในท้องถิ่นเริ่มรู้สึกว่ากำลังสูญเสียแผ่นดินของตน


การผิดสัญญาของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษให้สัญญาหลายทางที่ขัดแย้งกัน โดยให้คำมั่นกับชาวอาหรับว่า จะสนับสนุนการตั้งรัฐอาหรับอิสระ หากช่วยอังกฤษต่อสู้กับออตโตมัน ขณะเดียวกัน ได้ทำสัญญากับชาวยิว ผ่าน "ปฏิญญาบัลโฟร์" (Balfour Declaration) ที่สนับสนุนการตั้งบ้านเกิดของชาวยิวในปาเลสไตน์

หลังสงคราม อังกฤษกลายเป็นผู้ดูแลดินแดนปาเลสไตน์ (British Mandate) ทำให้ต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งสองฝ่าย

กระทั่งในทศวรรษ 1920–1930 เกิดเหตุการณ์จลาจล สังหารหมู่ และความไม่สงบหลายครั้งระหว่างชาวยิวและชาวอาหรับ เช่น การสังหารชาวยิวในเมืองเฮบรอน (1929) การตั้งกลุ่มติดอาวุธยิว เช่น Irgun เพื่อต่อสู้กับทั้งชาวอาหรับและอังกฤษ

อังกฤษพยายามจำกัดการอพยพของชาวยิว แต่ไม่อาจยับยั้งกระแสการตั้งรัฐยิวได้ ท้ายที่สุดในปี 1947 สหประชาชาติเสนอแผนแบ่งปาเลสไตน์เป็น 2 ส่วนคือ รัฐยิวและรัฐอาหรับ ในขณะนั้นชาวยิวเห็นชอบกับแผนการดังกล่าว แต่ชาวอาหรับปฏิเสธ เพราะมองว่าไม่ยุติธรรม และละเมิดสิทธิของผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม


Nakba: หายนะของชาวปาเลสไตน์

ปี 1948 อิสราเอลประกาศเอกราช กองทัพอาหรับจากประเทศรอบข้างบุกเข้าโจมตี แต่ผลการรบปรากฏว่า อิสราเอลรบชนะ และขยายดินแดนได้สำเร็จ 

ผลที่ตามมาคือ ชาวปาเลสไตน์กว่า 700,000 คนถูกขับไล่หรือหนีภัยสงครามกลายเป็นผู้ลี้ภัยโดยไม่มีสิทธิกลับคืนบ้านเกิด ทรัพย์สินถูกยึดโดยรัฐอิสราเอลผ่านกฎหมาย “Absentees’ Property Law”

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์จึงไม่ได้เป็นเพียงข้อพิพาทเรื่องพรมแดน แต่เป็นการปะทะกันของสองฝ่ายที่ไม่มีวันจบ

สงครามรอบใหม่ 7 ตุลาคม 2023

เมื่อเวลา 6.29 น. ของเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ตามเวลาท้องถิ่น กลุ่มติดอาวุธฮามาส ซึ่งครอบครองดูแลพื้นที่ฉนวนกาซามาตั้งแต่ปี 2007 เปิดปฏิบัติการรุกเข้าไปในดินแดนของอิสราเอล พร้อมทั้งยิงจรวดเข้าโจมตี เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,189 ราย และประชาชนอีก 251 คนถูกลักพาตัวจากฝั่งอิสราเอลเข้าไปยังกาซา หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลประกาศทำสงครามทันที

ตั้งแต่ 2023 - ปี 2024 อิสราเอลโจมตีกาซาหนักอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตัวประกันก็ยังคงถูกกลุ่มฮามาสจับเอาไว้จำนวนหนึ่ง ส่วนกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนก็เปิดฉากโจมตีอิสราเอลจากชายแดนทางตอนใต้ของเลบานอน ซึ่งติดกับทางตอนเหนือของอิสราเอล ขณะที่กลุ่มกบฏฮูธีในเยเมน ก็ก่อปฏิบัติการเช่นกันเพื่อตอบโต้อิสราเอลแทนปาเลสไตน์ โดยทั้งฮิซบอลเลาะห์และฮูธีล้วนได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน พี่ใหญ่ในภูมิภาค จนทำให้วิกฤตครั้งนี้ลุกลามไปทั่วทั้งตะวันออกกลางก็ว่าได้ 

ข้อตกลงหยุดยิง สงบสุขได้ไม่นาน

เมื่อเดือนมกราคม 2025 ในที่สุด อิสราเอลและฮามาสก็บรรลุข้อตกลงที่เจะทำให้สงครามในกาซายุติลง และเกิดการแลกเปลี่ยนตัวประกันและนักโทษ โดยกลุ่มฮามาสจับตัวประกัน 251 คนเอาไว้ เมื่อเข้าโจมตีอิสราเอลในเดือนตุลาคม 2023 และขณะนั้น ยังเหลือตัวประกันที่ยังมีชีวิตอยู่ 60 คน

ขณะที่อิสราเอลก็พร้อมจะปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์  ซึ่งบางคนถูกคุมขังมานานหลายปี เพื่อแลกเปลี่ยนกับตัวประกัน

การหยุดยิงครั้งนี้ดำเนินการในสามขั้นตอน เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม โดยขั้นตอนแรกจะใช้เวลาหกสัปดาห์ จะมีการหยุดยิงเต็มรูปแบบและสมบูรณ์ ส่วนตัวประกันจำนวนหนึ่งที่ฮามาสจับไว้ ทั้งผู้หญิง ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย จะได้รับการปล่อยตัว แลกเปลี่ยนกับนักโทษชาวปาเลสไตน์หลายร้อยคน

ในช่วงแรก ตัวประกันได้รับการแลกเปลี่ยน ส่วนชาวปาเลสไตน์ทยอยเดินทางกลับบ้านในกาซา อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่นาน สงครามก็ปะทุขึ้นอีกรอบ 

18 มีนาคม 2568 กองทัพอิสราเอล (Israel Cefense Forces: IDF) และหน่วยสืบราชการลับแห่งชาติของอิสราเอล (Israeli Security Agency: ISA) ออกแถลงการณ์ว่า กองทัพกำลังดำเนินการโจมตีฮามาส พุ่งเป้าไปที่ฉนวนกาซาเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายที่รุนแรงมากขึ้น หลังจากการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระยะที่สองล่มไม่เป็นท่า 

แชร์
Spot On : จุดเริ่มต้นสงครามไม่รู้จบ  ปมขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์