Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เกาหลีใต้คาด ปี 2033 ขาดแรงงาน 800,000 คน เริ่มใช้ ‘หุ่นยนต์’ แทนแล้ว
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เกาหลีใต้คาด ปี 2033 ขาดแรงงาน 800,000 คน เริ่มใช้ ‘หุ่นยนต์’ แทนแล้ว

1 พ.ค. 68
10:23 น.
แชร์

ในโอกาสของวันแรงงาน ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับหัวใจของเศรษฐกิจอย่าง “ผู้ใช้แรงงาน” Spotlight ชวนคุณผู้อ่านมาส่องตลาดแรงงานในประเทศที่น่าสนใจ นอกจาก ญี่ปุ่นและบางประเทศในยุโรปที่เผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานในขณะนี้ อีกหนึ่งประเทศที่เกิดวิกฤตแรงงานไม่พอ จนกลายเป็นวาระแห่งชาติคือ “เกาหลีใต้” 

ล่าสุด ศูนย์ข้อมูลการจ้างงานเกาหลี (Korean Employment Information Service) เปิดเผยการคาดการณ์ที่น่าตกใจ โดยระบุว่า การขาดแคลนแรงงานในเกาหลีใต้จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คาดว่าจะขาดแคลนแรงงานถึง 820,000 คนภายในปี 2033

ผลการวิเคราะห์เผยให้เห็นว่า ในระหว่างปี 2023 - 2033 เกาหลีใต้จะมีบุคคลากรที่ทำงานด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพียง  312,000 คน ซึ่งหากเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้น 10 ปี มีจำนวนแรงงานในภาคเดียวกันเพิ่มขึ้นมากถึง 3,200,000 คน  โดยคาดว่า จำนวนประชากรที่ทำงานด้านเศรษฐกิจจะถึงจุดสูงสุดในปี 2029 จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง ส่งผลให้เกิดช่องว่างในกำลังแรงงานอย่างรุนแรง 

หากตลาดแรงงานในเกาหลีใต้เลวร้ายตามที่คาดการณ์ไว้ จะเกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิต คาดว่าจะขาดแคลนพนักงาน 123,000 คน รองลงมาคือภาคสวัสดิการสังคม 110,000 คน และภาคค้าส่งและค้าปลีก 83,000 คน นอกจากนี้ รายงานยังเน้นย้ำถึงความต้องการพนักงานระดับผู้เชี่ยวชาญ 192,000 คน และพนักงานออฟฟิศ 142,000 คนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่บางภาคส่วนอาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กระบวนการผลิตใช้แรงงานน้อยกว่าการผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิม หรือจำนวนครูในภาคการศึกษา เนื่องจากอัตราการเกิดที่น้อยลง และจำนวนเด็กน้อยลง ความต้องการครูจึงลดลงด้วย

ด้านสำนักงานบริการข้อมูลการจ้างงานของเกาหลีเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเชิงรุกที่มุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน เพื่อรับมือกับความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ข้อเสนอต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และเยาวชน มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น นักวิเคราะห์แนะนำว่า การสนับสนุนผู้หญิงให้สามารถทำงานและดูแลครอบครัวได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น รวมถึงการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อให้พนักงานที่มีอายุมากกว่าอยู่ในกำลังแรงงานได้นานขึ้น อาจช่วยแก้ไขช่องว่างดังกล่าวได้ ที่สำคัญ เกาหลีใต้ยังมีอีกหนึ่งอาวุธที่จะแก้ปัญหาแรงงานได้อย่างยั่งยืน คือการใช้เทคโนโลยีมาแทนแรงงานมนุษย์นั่นเอง

เกาหลีใต้เริ่มแล้ว ใช้หุ่นยนต์ทำงานแทน

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศแผนแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานที่สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก โดยเผยแผนการติดตั้งหุ่นยนต์เพื่อทำงานแทนแรงงานมนุษย์อย่างน้อย 10% ในรายละเอียดของแผนระบุไว้ว่า เกาหลีใต้จะสร้างหุ่นยนต์ 1,002 ตัว ต่อพนักงาน 10,000 คน ทำให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศที่มีหุ่นยนต์แรงงานสูงที่สุดในโลก ตามรายงานของ World Robotics 2024

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะประกาศแผนนี้ เกาหลีใต้ก็เป็นประเทศที่มีหุ่นยนต์ทำงานในโรงงาน เติมเต็มภาคการผลิตของประเทศจำนวนมากอยู่แล้ว นับว่ามากกว่าประเทศอื่น ๆ เป็นสองเท่าโดยเฉลี่ย ที่อัตราหุ่นยนต์ 770 ตัว ต่อแรงงานมนุษย์ 10,000 คน ขณะที่จีน เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีการติดตั้งหุ่นยนต์จำนวน 276,288 ตัวในปี 2023 คิดเป็น 51% ของการติดตั้งหุ่นยนต์ในโรงงานทั่วโลก ส่วนญี่ปุ่นติดตั้งหุ่นยนต์ 46,106 ตัวในปี 2023 และในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดหุ่นยนต์แรงงานเกิดใหม่ เริ่มติดตั้งหุ่นยนต์ราว 8,510 ตัวในปีเดียวกัน

สหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) ระบุว่า ความหนาแน่นของหุ่นยนต์ในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2018 ด้วยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกและอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แข็งแกร่ง เศรษฐกิจเกาหลีจึงต้องพึ่งพาแบรนด์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังที่ส่งขายทั่วโลก เช่น Samsung (ซัมซุง), LG (แอลจี) และ Hyundai Mobis (ฮุนได โมบิส) เป็นต้น และธุรกิจเหล่านี้ต้องพึ่งพาแรงงานหุ่นยนต์เป็นอย่างยิ่ง

อุตสาหกรรมการผลิตในเกาหลีใต้ ไม่ใช่ภาคส่วนเดียวที่ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ในภาคการบริการโดยเฉพาะการแพทย์ไปจนถึงร้านอาหาร ก็ต้องการแรงงานจำนวนมากไม่แพ้กัน ซึ่งปัจจุบัน หลายคนอาจเห็นหุ่นยนต์พยาบาลที่ทำหน้าที่เดินเอกสารภายในวอร์ด จัดคิวนัดหมายระหว่างแพทย์และคนไข้ และให้คำแนะนำ-จ่ายยาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ขณะที่ร้านอาหารก็มีหุ่นยนต์เชฟ หุ่นยนต์เด็กเสิร์ฟ เป็นลูกน้องให้กับผู้จัดการร้านเช่นกัน ส่วนภาคเกษตรกรรมก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็น AI Smart Farm เพื่อลดจำนวนเกษตรกรและเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตได้ดีขึ้น

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สำนักงานบริหารการค้าระหว่างประเทศเกาหลีใต้ประกาศแผนพื้นฐานหุ่นยนต์อัจฉริยะฉบับที่ 4 ซึ่งจะลงทุนประมาณ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในภาคส่วนสาธารณะและเอกชนภายในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ โดยโครงการริเริ่มนี้จะสรุปแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมหลักต่างๆ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงบริการ เกษตรกรรม โลจิสติกส์ การดูแลสุขภาพ การป้องกันประเทศ และความปลอดภัยทางสังคม นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายเพิ่มอัตราการผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์หลักในท้องถิ่นจากปัจจุบัน 44% เป็น 80% ภายในปี 2030


แชร์
เกาหลีใต้คาด ปี 2033 ขาดแรงงาน 800,000 คน เริ่มใช้ ‘หุ่นยนต์’ แทนแล้ว