ธุรกิจการตลาด

Microsoft ยืนยัน ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยแน่นอน จับมือ สกมช. ยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ไทย

27 พ.ค. 67
Microsoft ยืนยัน ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยแน่นอน จับมือ สกมช. ยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ไทย

หลังจากที่ Microsoft ประกาศแผนการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาด้านคลาวด์ละ AI ในไทยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ล่าสุด Microsoft ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. ในการยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ในประเทศไทยผ่านโครงการ ‘Government Security Program’ หรือ GSP ของ Microsoft

รู้จักโครงการ GSP ที่ตั้งเป้าเพิ่มความปลอดภัยจากภัยไซเบอร์

โครงการ GSP เป็นโครงข่ายความร่วมมือระดับโลกของ Microsoft ที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2003 เพื่อสนับสนุนรัฐบาลและองค์กรภาครัฐในระดับนานาชาติให้สามารถปกป้องบุคลากร ข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานจากภัยไซเบอร์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น จากความร่วมมือในกว่า 40 ประเทศและ 100 องค์กรระดับนานาชาติ ซึ่งในปี 2021 ถึง 2025 Microsoft ได้ลงทุนระดับโลกด้านความปลอดภัยไซเบอร์สูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 732,250 ล้านบาท

สำหรับประเทศไทย โครงการ GSP มุ่งเน้นการสร้างความมั่นใจในเทคโนโลยีผ่านความโปร่งใสและการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อวางรากฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นให้กับประเทศไทย พร้อมสานต่อการทำงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลไทย 

ซึ่ง Microsoft และ สกมช. ตั้งเป้าวางแผนแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดทางเทคนิคเกี่ยวกับภัยคุกคามความปลอดภัย การแจ้งเตือนช่องโหว่ล่วงหน้า 5 วัน หรือ 24 ชั่วโมงในกรณีเร่งด่วน พฤติกรรมผิดปกติ ข้อมูลมัลแวร์ที่ตรวจพบโดย Bing และประเด็นด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และบริการของ Microsoft

ไม่เพียงเท่านี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะร่วมกันส่งเสริมและผลักดันการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการกำกับดูแลการใช้งาน AI อย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการจัดกิจกรรมฝึกอบรมเกี่ยวกับ ‘Copilot for Security’ และการใช้งาน AI เพื่อสนับสนุนงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ให้กับหน่วยงานภาครัฐและบุคลากรที่มีรับผิดชอบการดูแลโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หรือ Critical Information Infrastructure (CII)

‘สัตยา’ ยืนยัน Microsoft ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยแน่นอน

สำหรับประเด็นของการไม่เปิดเผยตัวเลขการลงทุนของ Microsoft คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Microsoft ประเทศไทย เผยว่า คุณสัตยา นาเดลลา ประธานกรรมการและซีอีโอของ Microsoft ยืนยันว่ามีการลงทุนแน่นอน 100% แต่สาเหตุที่ไม่สามารถเปิดเผยมูลค่าการลงทุนได้ เนื่องจากตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการ ทั้งด้านข้อตกลงในการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ ว่า Microsoft จะเป็นสร้างเองคนเดียว หรือมีการร่วมพาร์ทเนอร์หรือไม่

ซึ่งยังไม่รวมถึงการประเมินดีมานด์-ซัพพลาย ผลกระทบของ GDP ไทย และการร่วมงานกับภาคส่วนอื่นด้วย เนื่องจาก Microsoft ใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ทำให้การเปิดเผยรายละเอียดต้องใช้เวลา รวมถึงการสนับสนุนภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษาในไทยด้วย ที่เข้ามาลดความเหลื่อมล้ำ ให้เด็กนักเรียนไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม พร้อมทั้งปูความพร้อมสำหรับคุณครูในประเทศไทยด้วย จึงต้องมีการปูแผนระยะยาวกับฝั่งรัฐบาล

ส่วนมูลค่าการลงทุนที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย สามารถเปิดเผยได้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากเป็นแผนที่มีการพูดคุยการมานานแล้ว และทุกอย่างมีความแน่นอนตามแผน จึงสามารถเปิดเผยตัวเลขได้ โดยทั้งใจว่า แผนการลงทุนในแต่ละประเทศ มีเป้าหมายเดียวกันทั้งหมด คือให้ผลประโยชน์ตกอยู่ที่ทุกฝ่าย

ความร่วมมือระหว่าง Microsoft และ สกมช.

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เผยว่า ที่ผ่านมา Microsoft รับสัญญาณด้านความปลอดภัยกว่า 72 ล้านล้านสัญญาณต่อชั่วโมง ทำให้ความร่วมมือกับ Microsoft ในครั้งนี้ จะเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทย เนื่องจากสกมช. จะได้รับข้อมูลที่รวดเร็วจาก Microsoft และสามารถนำไปแจ้งทางเอกชนก่อนล่วงหน้าได้

โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านการทำงานของผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ด้านพัฒนาการของภัยไซเบอร์ล่าสุด และด้านอื่นๆ จะช่วยให้รัฐบาลไทยมีข้อมูลสนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยี รวมถึง AI อย่าง Copilot for Security ของ Microsoft ที่ดูแลป้องกันและเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเครือข่ายสื่อสารและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของ

ทางด้านคุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ อธิบายว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทยกำลังเติบโตสูง เห็นได้จากการมีสัญญาณ 5G ที่แรงและเร็วมากถึง 85% ของพื้นที่ในประเทศไทย และการใช้โมบายแบงก์กิ้งอันดับต้นของโลก ทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายของอาชญกรไซเบอร์โลก ซึ่งในปีที่ผ่านมา ไทยตกเป็นเป้าของอาชญากรไซเบอร์อันดับ 5 ในเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย และมาเลเซีบย

การให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทุกภาคส่วน Microsoft ไม่สามารถทำได้เพียงฝ่ายเดียว หรือต่อให้เป็นแค่รัฐบาลฝ่ายเดียวก็ตาม ทำให้ Microsoft จัดตั้งโครงการ GSP ขึ้นมา และมั่นใจว่าความร่วมมือกับ สกมช. จะเสริมศักยภาพด้านความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ โครงการ GSP ยังสอดรับกับนโยบาย ‘Cloud First’ ของภาครัฐที่มุ่งเน้นการนำคลาวด์มาเสริมประสิทธิภาพการทำงาน โดยข้อมูลเชิงลึกและทรัพยากรต่างๆ มากมายจากเครือข่ายและทีมผู้เชี่ยวชาญของ Microsoft ภายใต้โครงการ GSP นี้ จะช่วยให้บุคลากรในหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยสามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัยและมั่นใจสูงสุด ตลอดจนการใช้ประโยชน์จาก AI เข้ามาเป็นผู้ช่วยป้องกันภัยไซเบอร์รูปแบบใหม่ๆ ได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ ยังสอดคล้องกับข้อมูลจาก Kearney analysis ที่คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 AI จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ของประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 37,000 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้ คิดเป็น 13% ของ GDP ประเทศไทยที่จะเพิ่มขึ้นถึง 117,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4.3 ล้านล้านบาท

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT