เมื่อความยั่งยืน กลายเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจ ทำให้ 2 ผู้นำบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการบินและธุรกิจบริการต้อนรับ (Hospitality) อย่างบริษัท Capital A และ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด โดยหัวเรือใหญ่ CEO ของทั้ง 2 บริษัทอย่างคุณโทนี่ เฮอร์นันเดซ และ คุณปณต สิริวัฒนภักดี เชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของความยั่งยื่นคือ
บทความนี้ SPOTLIGHT ได้สรุปสาระสำคัญจากการเสวนา CEO PANEL: SUSTAINABLE HOSPITALITY AND MOBILITY โดยคุณ โทนี่ เฮอร์นันเดซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Capital A ผู้ดำเนินการสายการบินแอร์เอเชีย และ คุณปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด
ความยั่งยืน คือ เรื่องของทุกคน
คุณโทนี่ เล่าว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด และมีคนมากกว่า 19 ล้านคนที่เดินทางด้วยสายการบินแอร์เอเชีย ทำให้แอร์เอเชียได้ออกนโยบายส่งเสริมให้ผู้โดยสารทุกคนมีส่วนช่วยโลกผ่าน การเก็บเงิน 10 บาท (รวมอยู่ในค่าโดยสารอยู่แล้ว) เป็น carbon credit
คุณโทนี่ มองว่า “ ความยั่งยืน ไม่ได้หมายถึง สิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า โลกของเรามีอะไร จะดูแลรักษาอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจ คือ การศึกษา โดยเฉพาะคนในอาเซียน เพราะทุกวันนี้ คนยังไม่มีความเข้าใจ ว่า ความยั่งยืนคืออะไร ”
ทางด้านคุณปณต มองว่าการจะขับเคลื่อนความยั่งยืนให้เกิดขึ้น จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพราะทุกคนล้วนสร้างผลกระทบต่อโลกของเรา จากการใช้ชีวิตและกิจกรรมทางธุรกิจ ความยั่งยืนในเชิงธุรกิจ ต้องมาจากการดำเนินการโดยยึดมั่นในหลัก ESG หรือความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) และการไม่นำทรัพยากรในอนาคตของคนรุ่นหลังมาใช้จนหมด แต่ในปัจจุบัน ธุรกิจบริการต้อนรับมีส่วนสร้างผลกระทบต่อโลกนี้ประมาณ 40% ดังนั้น การให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนจึงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้
“การดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนภายในองค์กรของเรา หรือการดำเนินการใน Scope 1 และ Scope 2 นั้น เราควบคุมและขับเคลื่อนเองได้ แต่พอไปถึง Scope 3 หรือการขับเคลื่อนตลอดทั้งซัพพลายเชน ต้องอาศัยความร่วมมือและความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่ต้องมีเป้าหมายเดียวกัน "
กฎหมายสิ่งแวดล้อมในอาเซียน
คุณโทนี่ มองว่า นอกจากการสร้างความยั่งยืนในเชิงพาณิชย์สำหรับองค์กรธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการพัฒนาต่าง ๆ แล้ว ยังจะต้อง “ให้ความรู้” เพื่อให้คนทุกคนในสังคมตระหนักถึงผลกระทบที่เรามีต่อโลก และเข้าใจว่าแต่ละองค์กร หรือแต่ละโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน มีความสำคัญอย่างไร
“แต่ปัจจุบันหนึ่งในปัญหาที่ทำให้เราไม่สามารถก้าวข้ามผ่านสู่ความยั่งยืนได้อย่าแท้จริง คือ เรื่องมาตรการกฎหมายความยั่งยืนในอาเซียน เพราะแต่ละประเทศก็มีกฎหมายที่แตกต่างกันออกไป และนี่เป็นเหมือนฝันร้าย เพราะบางกฎหมายก็ไม่มีความ make senses แต่ที่สำคัญคือ คนยังไม่มีความเข้าใจ เราแค่รู้ว่าเป้าหมายของเราคือ Net Zero”
โดยคุณโทนี่ อธิบายว่า องค์กรต่าง ๆ แบ่งส่วนแบ่งรายได้ไปเพื่อทำโครงการที่ช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคหรือลูกค้าจำเป็นต้องเข้าใจว่า ในค่าสินค้าและบริการที่จ่ายไปนั้น ส่วนหนึ่งนำไปใช้เพื่อโครงการเหล่านี้ ความเข้าใจจะทำให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วม สนับสนุนกิจกรรมเพื่อปกป้องโลก และสนับสนุนภาคธุรกิจให้หันมาทำโครงการหรือกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนกันมากขึ้น
ทางด้านคุณปณต มองว่า “กฎหมายความยั่งยืน คือ สิ่งที่สามารถตีกรอบเราทุกคนไว้ให้อยู่ในบรรทัดฐานเดียวกัน เเต่สิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องเข้าใจเรื่องความยั่งยืน ทั้งผลกระทบที่มีต่อตัวเอง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เราก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ”